ข่าว

สนช.ยื้อเวลา ทำ ร่างกม.ประโยชน์ขัดกัน รอบ 4

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มติ สนช. เสียงเอกฉันท์ ขยายเวลา 90 วันให้กมธ.ฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประโยชน์ขัดกัน อีก 90 วัน หลังต่ออายุมาแล้ว 3 ครั้ง รวม 268 วัน

 

          รัฐสภา-11 พฤษภาคม 2561–มติ สนช. เสียงเอกฉันท์ ขยายเวลา 90 วันให้กมธ.ฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประโยชน์ขัดกัน อีก 90 วัน หลังต่ออายุมาแล้ว 3 ครั้ง รวม 268 วัน เผยข้อมูล นัดประชุม 21 ครั้ง ล่าสุดคืบหน้าแค่มาตรา 5 "กก.ปฏิรูปประเทศ" โวย สนช. จงใจประวิงเวลา ไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายสำคัญ แฉเตรียมจัดเวทีฟังความเห็นที่เชียงใหม่อีกรอบ
 
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง ได้ลงมติเห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์ 171 เสียง ให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ..... ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. เป็นประธานกรรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาฯ  เป็นครั้งที่ 4 โดยให้เวลาขยายออกไปอีก 90 วัน


                ทั้งที่ตามข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ระบุถึการพิจารณาร่างกฎหมายของสนช. มีกรอบเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่หากยังดำเนินการไม่เสร็จภายในเวลา สามารถขอขยายเวลาพิจารณาได้ จำนวน 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 30 วัน   ทำให้การขอขยายรอบที่ 4 ออกไปอีก 90 วัน  ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ค้างอยู่ในวาระพิจารณาของกมธ.ฯ แล้วถึง 268 วัน และหากใช้เวลาพิจารณาที่ได้ขยายรอบ4 จะทำให้ใช้เวลามากถึง  358 วัน
                ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณาของกมธ.ฯ ที่มีพล.ต.อ.ชัชวาลย์ เป็นประธาน ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งวันที่ 17 ส.ค. 2560  ได้นัดประชุมจำนวน 21 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างมาตรา 5 จากเนื้อหาที่มีทั้งหมด 29 มาตรา
                แหล่งข่าวจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ฐานะผู้ที่ผลักดันร่างพ.ร.บ.ประโยชน์ขัดกันฯ ให้ความเห็นต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ว่า สะท้อนถึงความไม่จริงใจต่อกระบวนการนิติบัญญัติ เพราะมีภาพสะท้อนถึงการประวิงเวลาและชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูป ทั้งนี้มีข้อมูลที่ไม่ยืนยันจากสนช. ว่า กมธ. ไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจะใช้การประวิงเวลาไปจนกว่า อายุของสนช. จะสิ้นไป และเมื่อเข้าสู่ช่วงสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีใครสนับสนุนเช่นกัน
                แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ตนไม่เข้าใจว่ากระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายที่รัฐบาลสนับสนุนด้วยดีตั้งแต่แรก และสนช. เร่งรัดการพิจารณาผ่านวาระแรกภายในครึ่งเดือน แต่พอถึงชั้นกรรมาธิการฯ ถึงมีกระบวนการประวิงเวลา และทราบว่าเร็วๆ นี้ กรรมาธิการฯ เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, ชั้นกฤษฎีกา และรัฐบาล ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รับภารกิจดังกล่าวได้ส่งร่างกฎหมายให้ทุกหน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ, เอกชนที่เกี่ยวข้องเสนอะแนะข้อคิดเห็น ซึ่งได้ชุดข้อเสนอแนะกว่า 85 ความเห็น ทำไม กมธ.ฯ ถึงไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาร่วมด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ