ข่าว

"ทักษิณ"อ่วม ! ป.ป.ช.ฟ้องเห็นชอบอนุมัติคลังฟื้นฟู TPI  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป.ป.ช.หอบสำนวน 21 ลังฟ้องเอง"ทักษิณ"ปฏิบัติหน้าที่มิชอบอนุมัติคลังฟื้นฟู TPI  ทั้งที่ไม่มีอำนาจขัดพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงฯศาลฎีกาฯ รอเลือกองค์คณะ 9

 

          7 พฤษภาคม 2561 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ   เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้นำสำนวนการไต่สวนพร้อมเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้ม ที่มีมติชี้มูลความผิดอาญา "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  

 

          กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน มายื่นฟ้อง "นายทักษิณ"อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157


          โดยศาลนำคดีเข้าสู่ สารบบความหมายเลขดำ อม.40/2561 เพื่อจะพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปว่าคดีอยู่ในอำนาจศาล และคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายที่จะประทับรับฟ้องไว้พิพากษาได้หรือไม่

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามขั้นตอนเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีแล้ว ต่อไปจะต้องกำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 176 คน เพื่อเลือกผู้พิพากษาระดับตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกาขึ้นไปหรือผู้พิพากษาอาวุโสระดับศาลฎีกา รวม 9 คนเพื่อมาเป็นองค์คณะพิจารณาคดีและเลือกผู้พิพากษา 1 ใน 9 ดังกล่าวเป็นเจ้าของสำนวนต่อไป

 

          สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 ด้วยคะแนน 6 ต่อ 2 ซึ่งการไต่สวนของ ป.ป.ช.พบว่า ระหว่าง "นายทักษิณ" เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง ได้มาหารือเรื่องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัททีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน และนายทักษิณให้ความเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าว โดยการที่กระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูของทีพีไอเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ


          ส่วน ร.อ.สุชาติ ที่ยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของบริษัททีพีไอ ก็มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เช่นกัน แต่ ร.อ.สุชาติ ได้ถึงแก่กรรม ป.ป.ช.จึงให้จำหน่ายคดี

         

          อย่างไรก็ดีคดีนี้ ถือเป็นสำนวนที่ 7  ที่ "นายทักษิณ" อดีตนายกฯ ถูกยื่นฟ้องนับจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 โดยสำนวนแรก คือ คดีซื้อขายที่ดิน ย่านรัชดาภิเษกซึ่งคุณหญิงพจมานอดีตภริยา ไปเป็นคู่สัญญาร่วมกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาไปแล้วให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา "นายทักษิณ" ตั้งแต่ปี 2552

 

          สำนวนที่ 2 คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีแพ่ง "นายทักษิณ" มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ทรัพย์สินหลายหมื่นล้านตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาแล้วเมื่อปี 2553 ให้ทรัพย์สินของนายทักษิณ และครอบครัว มูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาทเศษ ตกเป็นของแผ่นดิน

 

          สำนวนที่ 3 คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกรณีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ( พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้คดีรอดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 โดยศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 ก.ค.นี้. เวลา 09.30 น. 

 

          สำนวนที่ 4 คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง กรณีกล่าวหาร่วมกับอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครโดยทุจริต , สำนวนที่  5 คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ธุรกิจกลุ่มชินคอร์ปฯ , สำนวนที่ 6  คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) โดยมิชอบ ซึ่งทั้งสามสำนวน อยู่ระหว่างรอศาลฎีกาฯ มีคำสั่งกระบวนการพิจารณาใหม่ ตาม วิ อม.ภายหลังอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

        โดยสำนวนคดีเอ็กซิมแบงค์ ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ส่วนสำนวนหวยบนดิน นัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 25 ก.ค.นี้

        ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่าวันนี้ พนักงานคดี สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยื่นฟ้องนายทักษิณ  ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
        คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 กรณีนายทักษิณ  ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จึงมีอำนาจกำกับและควบคุมกำกับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหารทั้งหมด  

        โดยเมื่อปี พ.ศ. 2546 นายทักษิณ  ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบและยินยอมให้กระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (TPI) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าปรึกษา จนนำไปสู่การทำหนังสือยินยอมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง     ให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (TPI) โดยมีรายชื่อ คณะผู้บริหารแผน ตามที่นายทักษิณ  ชินวัตร เสนอ และกระทรวงการคลังได้เข้าไปเป็นผู้บริหารแผน

          การกระทำของ นายทักษิณ  ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำทั้งที่รู้อยู่ว่ากระทรวงการคลัง  ซึ่งเป็นส่วนราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนกิจการหรือจัดการทรัพย์สินให้กับบริษัทเอกชน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลังและเสียหายต่อระบบราชการ จึงเป็นความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และได้ส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดี

         ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกัน แต่คณะทำงานดังกล่าว ไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีได้ ดังนั้นในวันนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้มอบหมายให้พนักงานคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม. 40 /2561 โดยคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องพร้อมคำร้องขอให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณา กรณีไม่ปรากฎตัวจำเลยต่อหน้าศาล โดยอาศัยเหตุตามเงื่อนไขการยื่นฟ้องโดยไม่ปรากฏตัวจำเลยต่อหน้าศาล ตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 เนื่องจากจำเลยไม่มารายงานตัวและศาลได้เคยออกหมายจับในคดีอื่นไว้แล้ว
 
          สำหรับในคดีที่เคยฟ้องไว้แล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ดำเนินการยื่นคำร้องขอยกคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีขึ้นพิจารณาใหม่อีก 2 คดี คือ คดีทุจริตการอนุมัติให้กู้เงินแก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท (Exim Bank) และคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (คดีหวยบนดิน) นั้น มีความคืบหน้า ดังนี้
         1. คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์   นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย กรณีทุจริตการอนุมัติให้กู้เงินแก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท (Exim Bank) ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 4 กรกฎาคม 2561
       2. คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 คณะกรรมการตรวจสอบ   การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์      นายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 47 คน จำเลย กรณีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (คดีหวยบนดิน) ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2561

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ