ข่าว

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งคสช.53/2560 ม. 140-141 สร้างภาระพรรคการเมือง-ลิดรอนสิทธิ์สมาชิก ด้านสนช.ผ่านร่างแผนปฏิรูป 11 ด้าน ถลุงงบ 1.3 แสนล้าน

     ข้อกังวลใจของพรรคการเมืองเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยากต่อการปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง รวมถึงการละเมิดสิทธิของสมาชิกและพรรคการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และมีการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจแก้ไข รวมถึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความกระจ่างไม่ให้เกิิดปัญหาตามมาในภายหลังนั้น ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติที่จะสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว

     วันที่ 30 มีนาคม นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้พิจารณาคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยผลการประชุมมีมติว่า คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคสช.มีอำนาจออกกฎหมาย แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายอื่น ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงต้องพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้อง 

     เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติว่าในมาตรา 140 ที่มีการแก้ไขให้สมาชิกพรรคยืนยันความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไปและยืนยันด้วยเอกสารว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 24 เช่นไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด ไม่มีประวัติอาชญากร ซึ่งประเด็นนี้เห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้สมาชิกพรรคการเมือง ขณะเดียวกันพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน เห็นว่าเป็นภาระและลิดรอนสิทธิ์ จึงเห็นว่ามาตรา 140 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26 ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 45

ยันตรวจสอบตัวบทกฎหมาย

     นอกจากนี้ในหลักคิดเดียวกันมาตรา 141 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องประชุมพรรค เลือกหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคให้เสร็จภายใน 90 วัน หลังยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งที่ 3/2558 โดยให้มีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา มีสมาชิกอย่างน้อย 250 คนเข้าร่วมประชุมด้วย จึงเป็นภาระให้แก่พรรคการเมืองเช่นเดียวกัน เพราะแต่เดิมมาตรา 141 ก่อนมีการแก้ไขได้ให้คำรับรองไว้แล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้ว่าสาขาพรรคจะอยู่ตรงไหน สาขาพรรคที่เคยได้รับคำรับรองไว้ก็สิ้นสภาพไปโดยปริยาย ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามาตรา 140 และ 141 ตามคำสั่งคสช.ที่ออกโดยชอบตามกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 26 และ 27 ในวันนี้(30มี.ค.)จะส่งมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อเป็นผลผูกพันองค์กรต่อไป

     “มติดังกล่าวไม่ใช่การตรวจสอบคำสั่งคสช. เป็นการตรวจสอบตัวบทกฎหมายตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎหมายไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามปกติ โดยที่พิจารณาไปในประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้” นายรักษเกชายืนยัน

     นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ยังมีผลบังคับตามกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบ ซึ่งพรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติตาม ส่วนสาเหตุที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ แต่ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้เร่งรัดการทำงานเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ให้โอกาสทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อมูลและไม่ได้พิจารณาประเด็นที่อยู่นอกเหนือไปจากคำร้อง

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

ปชป.แนะส่งคสช.ปฏิบัติตามด้วย

     ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพิ่งได้ทราบมติผู้ตรวจการแผ่นดินจากสื่อมวลชน มีความเห็นว่า ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ผลของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ทำให้สมาชิกและพรรคการเมืองถูกละเมิดสิทธิ ก็น่าจะสรุปความเห็นส่ง คสช. ที่เป็นผู้ออกคำสั่งด้วย นอกเหนือไปจากการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งหาก คสช. แก้ไขเนื้อหาคำสั่งให้หมดปัญหาการขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องก็จบ โดยไม่จำเป็นต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ

     ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นว่าการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งมติที่เห็นว่าเนื้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญไปที่คสช. เพื่อให้แก้ไขคำสั่ง ทั้งที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ เป็นเพราะผู้ตรวจฯ ไม่อยากทำอะไรที่ขัดใจ คสช. เนื่องจากกลัวว่า คสช.ไม่พอใจ จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ส่งความเห็นผู้ตรวจฯ ไปที่ คสช. แต่โยนภาระไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแทน ถือว่า ทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย

     “หากส่งเรื่องให้ คสช.แก้ไขเนื้อหาที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิสมาชิก และพรรคการเมืองก็จะแก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่า แต่การส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงที่เดียว จะทำให้ใช้เวลานานกว่า ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยพ้นวันที่ 30 เมษายนไปแล้ว ก็จะไม่สามารถรักษาสิทธิให้แก่สมาชิกพรรคที่ไม่ได้มายืนยันตัวตนได้ คาดว่าภายใต้คำสั่งนี้จะทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เหลือประมาณแค่ 1 แสนคน จากที่เคยมีถึง 2.5 ล้านคน” รองหัวพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

กกต.หนุนตีความร่างก.ม.ลูกส.ส.

     ขณะที่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. กล่าวถึงการที่ สนช.เข้าชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาร้องให้ศาลตีความหลังการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในมือ กกต.ชุดนี้เป็นครั้งที่ 2 เชื่อว่าศาลจะวินิจฉัยเป็นทางออกที่ดี และคงใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นประเด็นข้อกฎหมายสั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนผู้สูงอายุผู้พิการ ที่ กกต.ได้เคยขอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะการเลือกตั้งมีการแข่งขันสูงและผู้สูงอายุในแต่ละหน่วยเลือกตั้งมีจำนวนมากอาจจะเป็นปัญหาได้ ต่างจากการทำประชามติที่รัฐเข้าไปควบคุมได้

     ส่วนกรณีที่ สนช. เสนอให้ กกต. ร่นระยะเวลาจัดเลือกตั้งใน 150 วันลง เพื่อไม่ให้กระทบโรดแม็พเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมืองได้การดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 ว่าเรียบร้อยหรือไม่ ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหาอะไร กกต.ก็จะใช้ช่วงระยะเวลา 90 วันระหว่างรอกฎหมายบังคับใช้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ไปก่อนเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะกกต.ก็ไม่อยากให้กระทบการเลือกตั้งเช่นกัน และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยเร็วคงไม่กระทบโรดแม็พที่วางไว้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่ง คสช.ที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมืองด้วย

     “มีประเด็นที่เราเป็นห่วง เรื่องสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถ้าปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายจะส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้” นายบุญส่ง กล่าว

ชี้ปิดกั้นผู้สมัครกกต.-ไม่เป็นธรรม

     นายบุญส่ง ยังกล่าวถึงการรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ที่มีปัญหาคุณสมบัติสูงมากเกินไปว่า เรื่องนี้มีทางออกแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขึ้นอยู่กับการตีความ เช่น กรณีคุณสมบัติของผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับอธิบดีติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนตัวมองว่าต้องใช้หลักนิติบุคคลเข้ามาพิจารณา จะทำให้เห็นว่า นายทหารระดับแม่ทัพ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตลอดจนปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้พิพากษา อัยการ จะไม่มีโอกาสสมัครเข้ารับการสรรหาได้เลย เพราะผู้พิพากษาก็มีระเบียบชัดว่าเป็นอธิบดีศาลได้แค่ 2 ปี ไม่มีใครเป็นอธิบดีศาลได้ถึง 5 ปี และการที่ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นอธิบดีศาลยังไม่ถึง 5 ปี แต่ได้รับการสรรหาในสายศาล ส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตีความตามรัฐธรรมนูญ

     “ในรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ดี แต่เวลาไปตีความ คนที่ใช้หรือบังคับใช้จะตีความลำบาก คือ อธิบดีมีปัญหามากสุด เพราะเป็นอธิบดีต้องใช้หลักนิติบุคคลเข้าไปจับ ฉะนั้นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้พิพากษา และอัยการ โอกาสที่จะไปสมัครหรือสรรหานั้นไม่มีเลย ซึ่งไม่มีใครเป็นมาแล้ว 5 ปี มองดูแล้วมันไม่มีความเป็นธรรม” นายบุญส่ง กล่าว

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

ถลุง1.3แสนล.แผนปฏิรูป11ด้าน

     มีรายงานแจ้งว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้รับทราบเนื้อหาของร่างแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามที่ครม.เสนอ โดยไม่มีผู้ใดอภิปรายทักท้วงหรือแก้ไขปรับปรุง โดยขั้นตอนจากนี้ไปคือเตรียมเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้บังคับ ทั้งนี้ในแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน มีความน่าสนใจไม่น้อยต่อเนื้อหาที่กำหนดแผนการปฏิรูปในแนวทางต่างๆ และงบประมาณที่ใช้ดำเนินการ ที่แผนปฏิรูประยะ 5 ปีต้องใช้งบประมาณเป็นมูลค่าสูงกว่า 131,519.6 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญอย่างสรุป ได้แก่

      1.แผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กำหนดวงเงินที่ต้องใช้ทั้งสิ้น 221.85 ล้านบาท  2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ใช้วงเงินรวม 33,408.15 ล้านบาท 3.ด้านกฎหมาย กำหนดวงเงินตั้งต้น 991 ล้านบาท และมีงบต่อปี 528 ล้านบาท ในระยะ 5 ปี รวมเป็นเงิน 2,640 ล้านบาท 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม กำหนดวงเงินที่ต้องใช้ 1,990.60 ล้านบาท 5.ด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะมีวงเงินที่ใช้ มากกว่า 22,413 ล้านบาท 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้วงเงินประมาณ 34,766 ล้านบาท 7.ด้านสาธารณสุข กำหนดวงเงินที่ใช้ประมาณ 13,574 ล้านบาท 

     8.ด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ระบุตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจน ระบุเพียงว่าใช้งบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประชาสัมพันธ์, เงินสนับสนุนจากภาคเอกชน องค์กรสื่อในรูปแบบประชารัฐ 9.ด้านสังคม กำหนดวงเงินงบประมาณ 12,545 ล้านบาท 10.ด้านพลังงาน กำหนดแนวทางปฏิรูปไว้ 17 ประเด็น แต่ไม่ระบุวงเงินงบประมาณที่ใช้จ่าย 11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดวงเงินที่ใช้ปฏิรูป 8,970 ล้านบาท มาจากงบประมาณปกติ และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของงบประมาณ  

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

ส่งยิ้มถูกถาม“แม้ว-ปู”โผล่ญี่ปุ่น

     ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบินดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พร้อมภริยาและคณะ ได้ออกเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Summit) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ส่งหนังสือแจ้งให้ทราบว่าสมาชิกสนช.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อเพื่อยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหากนายกฯ ไม่ยื่นตีความเอง 

     นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังปฏิเสธตอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปรากฏตัวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนายกฯ แสดงสีหน้ายิ้มเท่านั้น

     ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้รับรายงานจากกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม และคาดว่าน่าจะเป็นภาพจริงแต่เบื้องต้นอยู่ระหว่างให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประสานไปทางอัยการสูงสุดและกองการต่างประเทศทราบแล้วโดยยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

บิ๊กป้อมไม่เชื่อพท.ได้ส.ส.230ที่นั่ง

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ไม่รู้จะประเมินการเคลื่อนไหวของ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีอยู่ขณะนี้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องติดตามต่อไป และก็ไม่ทราบว่านายทักษิณต้องการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า การปรากฏตัวครั้งนี้เป็นการตอกย้ำหรือไม่ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวได้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่เขามองว่าเราจับเขาไม่ได้นั้น ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการ

     ต่อข้อถามจะขอตัวนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่เขาไปเป็นการดำเนินการเรื่องการเมืองของเขา เพราะเคยเป็นผู้นำประเทศ แต่เราต้องชี้แจงให้ประเทศญี่ปุ่นทราบว่าคดีของนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง 

     ส่วนที่นายทักษิณให้ความเห็นมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ว่าไป จะพูดอย่างไรก็พูดได้ เมื่อถามย้ำว่า นายทักษิณประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 230 ที่นั่ง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “หากสื่อจะเชื่อเขาก็เชื่อไป จะมาถามผมทำไม แต่ผมไม่เชื่อ” ส่วนกระแสข่าว คสช.ประเมินผลการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว เอามาจากที่ไหน ไม่เห็นได้ยิน คสช.ไม่ได้ทำ

     พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติสอบนาฬิกาหรูเพิ่มเติมเนื่องจากยังขาดรายละเอียดบางประการโดยเฉพาะหมายเลขประจำเครื่องหรือซีเรียลนัมเบอร์ ว่า ไม่มีอะไรแล้ว เรื่องของ ป.ป.ช.จบแล้ว ก็ต้องให้ ป.ป.ช.ว่ากันไป แต่ยืนยันว่านาฬิกาเป็นของเพื่อนก็จบแล้ว ขณะที่แหวนก็เป็นของคุณพ่อ ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาความรู้สึกในใจกับเรื่องนี้เป็น   อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ก็ไม่เป็นอย่างไร เป็นเรื่องของความจริง ก็มีแต่พวกคุณพากันขุดคุ้ย ไม่มีอะไร ในส่วนเรื่องเครื่องกรองน้ำของ ศอ.บต. กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน และยังมีอีกหลายโครงการของ ศอ.บต.ที่ต้องสอบสวน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนแล้ว”

คสช.แจ้งจับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

     ด้าน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ และมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผกก.สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.ท.ประจักษ์ ทรงปรีชา รอง ผกก.สอบสวน สน.ชนะสงคราม และ ร.ต.ท.โนวิทก์ สีเนหะ รองสารวัตรสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อครั้งนำผู้ชุมนุมร่วมเดินขบวนจากมหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ มายังบริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก และระหว่างทางได้ฝ่าด่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ห้ามมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายกีดขวางการจราจร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา

     ทั้งนี้ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วย นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายอานนท์ นำภา, นายปกรณ์ อารีกุล และนางศรีไพ นนทรี ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ผู้ตรวจการฯยื่นศาลรธน.ตีความคำสั่งคสช.53/60

พม.ตั้งชุดสอบ26จนท.พันเงินคนจน

     ทางด้านความคืบหน้าในการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งนั้น พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า  ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมสอบวินัยร้ายแรงกรณีทุจริตดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา  โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องประมาณ 26 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหารระดับสูง 2.กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และ 3.ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ที่ทำงานแม้จะมีรายชื่อที่ถูกสอบสวน ถ้าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการ ก็จะกันไว้เป็นพยาน โทษหนักก็จะกลายเป็นเบา แต่จะให้ไม่สอบสวนเลยก็ไม่ได้ เพราะทุกคนมีความเชื่อมโยง ต่อจากนี้อยู่ที่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือใครให้ข้อมูลเป็นประโยชน์บ้าง

     เมื่อถามว่า นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. ที่ถูกคำสั่งให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะถูกกันไว้เป็นพยานหรือถูกซัดทอดหรือไม่ พล.อ.อนันตพร ตอบว่า ผู้บริหารระดับสูงกันไว้เป็นพยานยาก เขาต้องหาหลักฐานล้างข้อกล่าวหาเองว่าไม่ได้ทำความผิดเพราะอะไร ซึ่งการทุจริตมีทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ บางคนบอกว่าจะต้องส่งเงินให้แก่ผู้บริหาร โดยฝั่งผู้บริหารก็ต้องแก้ข้อกล่าวหาว่า หากเป็นเงินสด ก็ต้องดูว่าหลักฐานเป็นอย่างไร ถ้าโอนเข้าบัญชีก็ต้องดูเส้นทางการเงิน หรือถ้ามีเงินมาส่ง ก็ต้องสอบว่าให้จริงหรือไม่ ให้วันใด เวลาใด

     “ขณะนี้เราสอบสวนของปี 60 เป็นหลักก่อน ส่วนของเก่าในปีก่อนๆ ถัดไปนั้น จะสอบสวนตามมา เพราะถ้าโลภมาก จะไม่ได้อะไรเลย ทั้งนี้การสอบสวนยังไม่มีการโยงไปถึงตัวรัฐมนตรี เพราะอำนาจจบแค่ระดับอธิบดี” พล.อ.อนันตพร กล่าว

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้พยายามโทรศัพท์ไปสอบถามนายพุฒิพัฒน์  ปรากฏว่านายพุฒิพัฒน์ปิดมือถือ ไม่สามารถติดต่อได้ 

ฉบับ นสพ.คมชัดลึก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ