ข่าว

 "มีชัย" ไม่เสนอ "นายกฯ" ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มีชัย" ไม่เสนอ "นายกฯ" ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส. เหตุเกินภารกิจ เชื่อกาคะแนนแทนคนพิการ ไม่กระทบล้มเลือกตั้ง ประเมินร่างพ.ร.ป.ส.ว. อาจไม่ตีตกทั้งฉบับ

 

          20 มี.ค. 61 - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ตนจะไม่ส่งข้อเสนอแนะหรือความเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเรื่องให้นายกฯ พิจารณาดำเนินการตามกระบวนการประกาศใช้กฎหมาย ตามที่เคยทำความเห็นไปยัง สนช. ให้พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย 2 ประเด็น คือ การตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุ และการลงคะแนนแทนผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือคนชรา เพราะเกินภารกิจของกรธ. 

 

          นายมีชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วอาจเป็นเหตุกระทบต่อการเลือกตั้งในอนาคต ที่ทำให้การเลือกตั้งต้องล้มไปทั้งหมด เหตุเพราะลงคะแนนแทนผู้พิการนั้นไม่ใช่การเลือกตั้งแบบโดยตรงและลับ ตนมองว่าจะไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะการลงคะแนนแทนคนพิการอาจเป็นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น เว้นแต่พบว่ามีหลายหน่วยที่ลงคะแนนแทน แล้วภายหลังมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าวิธีลงคะแนนแทนนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นโดยตรงและลับ

 

 

          นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่สนช. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตนไม่ทราบเนื้อหาของหนังสือว่าเขียนเช่นไร เพราะหากเขียนให้ชัดเจนเฉพาะบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล จะไม่ถือว่าไม่กระทบกับสาระสำคัญ ทำให้ร่างพ.ร.ป. ใช้ความในบทหลักได้ และดำเนินตามกระบวนการประกาศใช้กฎหมายได้ ทั้งนี้ต้องรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า หากวินิจฉัยความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ สาระที่วินิจฉัยนั้นถือว่ากระทบกับสาระสำคัญหรือไม่ ทั้งนี้หากผลวินิจฉัยทำให้ร่างพ.ร.ป.ส.ว. ต้องตกไป หน้าที่แก้ไขยังเป็นของกรธ.

 

          "ตามรัฐธรรมนูญความของกฎหมายลูกที่กระทบกับสาระสำคัญและขัดรัฐธรรมนูญจะทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ แต่กรณีดังกล่าวหากยื่นศาลเฉพาะความในบทเฉพาะกาล จะตัดส่วนดังกล่าวออกไปและทำตามขั้นตอนประกาศใช้กฎหมายได้ แต่ผมมองว่าบทหลักที่ใช้นั้นเพื่อให้ได้ ส.ว. 200 คน แต่บทเฉพาะกาลเขียน คือวิธีให้ได้มาซึ่ง ส.ว. จำนวน 50 คนและต้องใช้บังคับคราวแรกของการได้ส.ว. ประเด็นนี้ผมมองว่ามีทางออก คือ ให้กฎหมายประกาศใช้ แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับ คณะรัฐมนตรี เสนอแก้ไขให้สอดคล้องกับการการได้มาซึ่ง ส.ว. ในคราวแรก" นายมีชัย กล่าว

 

          ผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอสนช. ให้นักการเมืองทำสัตยาบรรณเลื่อนเลือกตั้งเพื่อแลกกับการยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ส.ส. นายมีชัย กล่าวว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ และเชื่อว่านักการเมืองคงไม่ยอมทำ.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ