ข่าว

ผวาเลือกตั้งโมฆะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วิษณุ”หยั่งท่าทีสนช.ยื่นตีความก.ม.ลูกส.ส.ลั่นทันโรดแม็พด้าน“บิ๊กตู่”ไม่ตอบโพลล์หนุนนั่งนายกฯอีกรอบ บอกขอทำงานก่อน ป.ป.ท.พบโกงเงินคนจนขยายวง49จว.

 

          ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงนามส่งบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ขณะที่หลายฝ่ายยังคงแสดงความเป็นห่วง ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่เนื้อหาอาจขัดรัฐธรรมนูญและส่งผลให้เกิดความเสียหายในอนาคตได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
วันที่ 19 มีนาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เปิดเผยว่า ได้ลงนามหนังสือเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่มีสนช.เข้าชื่อ จำนวน 30 คน นำโดย นายกิตติ วะสีนนท์ ร้องขอให้ส่งเรื่องแล้ว ดังนั้นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องขอให้ติดตามจากศาลรัฐธรรมนูญ

          ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอจากสมาชิก สนช. ต่อกรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้เงื่อนไขที่พรรคการเมืองต้องทำสัตยาบันยินยอมเลื่อนเลือกตั้งออกไป 3 เดือน นายพรเพชร ปฏิเสธว่า “ไม่เกี่ยวกับผม ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ควรพูด ส่วนกรณีดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมไม่มีความเห็น และเชื่อว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี รายละเอียดต่อข้อกฎหมายและความคิดเห็น ผมขอชี้แจงผ่านเอกสารบันทึกความเห็นกรณีส่งร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว. ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ”

          รายงานข่าวแจ้งว่า เอกสารบันทึกความเห็นดังกล่าวเป็นรายละเอียดเดียวกับที่นายพรเพชรแถลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยระบุความเห็นจากสมาชิกสนช. พร้อมยืนยันเจตนาของ สนช. ที่พิจารณาร่างกฎหมายภายใต้ความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในวันเดียวกัน

          วิษณุชี้ช่องนายกฯยื่นตีความร่างส.ส.
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สนช.ไม่ยอมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยนั้นว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวทางแก้ไข เพราะยังไม่มีการหารือกับรัฐบาล เป็นการหารือกันในสนช.เท่านั้น ยังไม่ส่งมาที่รัฐบาลทั้งฉบับ ฉะนั้นรัฐบาลจะไปแก้ไขไม่ได้ หากต้องการปรึกษารัฐบาลก็ยินดีร่วมหารือ

          ส่วนกรณีที่กรธ.ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองนั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถตอบได้ หากมีกฎหมายลูกส่งมาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีอำนาจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาล นายกฯ จะมีเวลา 5 วัน เพื่อรอว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ โดย ส.ส.อาจเป็นผู้ยื่นก็ได้ 

          “แต่เมื่อครบ 5 วัน หากไม่มีผู้ใดยื่นศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ภายใน 20 วัน แต่หากไม่ยื่นก็ต้องทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้จนกว่าจะมีคดีเกิดขึ้น จึงจะร้องเรียนผ่านศาลซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยง” นายวิษณุกล่าว

          แนะส่งพ.ร.ป.ทั้ง2ร่างเชื่อ30วันรู้ผล
          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาล คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และสภา ทำงานอยู่กับข้อกฎหมายย่อมทราบขั้นตอน ระยะเวลาการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเรื่องใดควรใช้เวลาเท่าใด ซึ่งเรื่องที่ต้องสืบพยานจะใช้ระยะเวลานาน ส่วนเรื่องที่เป็นข้อกฎหมายใช้เวลาไม่นาน จึงคาดว่าอาจทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก แต่ก็ไม่นานนัก เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งนี้หากสนช.ต้องการให้ ครม.พิจารณาก็ควรเร่งดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่ขอตอบว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร ขอให้สอบถามกับทาง กรธ. เนื่องจากกรธ.เป็นเจ้าของเรื่อง
“ตอนนี้เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง อย่าเพิ่งเอากระดูกมาแขวนคอ แต่จำเป็นต้องแขวนก็จะแขวน ตอนนี้อย่าเพิ่งสมมุติกันไปก่อน” นายวิษณุ กล่าว

          ส่วนกรณีนายสมชาย แสวงการ เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช.(วิปสนช.) เสนอให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันยินยอมให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน หากต้องการให้สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดของสัตยาบันดังกล่าว แต่หากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ควรจะยื่นให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน ไม่ทำหลายขยัก เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาการพิจารณาไม่นาน และไม่น่าจะถึง 3 เดือนตามที่นายสมชายคาดการณ์

          กรธ.หนุนยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ส.ส.
          ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่า สนับสนุนฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนเข้ากระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งในภายหลัง แม้ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่าหากยื่นตีความในขั้นตอนช่วงนี้อาจกระทบโรดแม็พเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เป็นความกังวลของกรธ.เช่นกัน แต่ทางออกที่ดีที่สุด ควรวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการสร้างความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งหรือไม่

          “เรื่องกระทบโรดแม็พเลือกตั้ง กังวลใจเช่นกัน และสนช.คงพิจารณาในประเด็นนี้ แต่หากปล่อยให้กฎหมายใช้บังคับแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีเลือกตั้งที่เกิดจากการใช้สิทธิแทนผู้พิการ ว่าไม่เป็นการออกเสียงทางตรงและลับ ผมไม่ทราบว่าจะมีคนที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็น และเมื่อเกิดกรณีเช่นว่าจะทำให้การเลือกตั้งเสียไปหรือไม่” นายอุดม กล่าว

          กรธ.ผู้นี้กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข้อพิจารณาว่าให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2 ประเด็นหลังร่างกฎหมาย ส.ส.ประกาศใช้ หรือมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน อาจจะเป็นปัญหาว่าการเสียสิทธิ หรือการลงคะแนนแทนนั้น ใครคือผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เกิด แม้จะมีช่องทางประชาชนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้ อาจเกิดคำว่าบุคคลที่ยื่นนั้นได้รับผลกระทบแท้จริงและชัดเจนหรือไม่
กกต.ชี้ก.ม.ลูกส.ส.เป้าถูกร้องเรียน 
   
          นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า การที่สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ถือเป็นประโยชน์ต่อ กกต. เพราะจะได้มีความชัดเจนในการทำงาน หากยื่นตีความหลังกฎหมายใช้บังคับแล้วอาจจะเกิดปัญหา แต่ในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ทาง สนช.เห็นว่าไม่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญจึงไม่มีการยื่นตีความ ก็เป็นไร แต่ กกต.เป็นห่วงอย่างเดียวคือเมื่อเลือกตั้ง ส.ส. หรือสรรหาส.ว.ไปแล้ว มีการใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเสียไป ก็จะต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก 

          อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการอำนวยความสะดวกผู้พิการและผู้สูงอายุในการเลือกตั้ง ที่สามารถให้ผู้ติดตามช่วยทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งแทนได้ เมื่อไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องออกระเบียบให้รัดกุม โดยที่ประชุม กกต.เห็นว่าคงไม่ได้ดูแค่ว่าเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะต้องดูว่าบุคคลดังกล่าวไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเอง ไม่สามารถทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งได้ ซึ่งกรณีนี้เคยใช้มาแล้วตอนทำประชามติ ซึ่งมีผู้มาขอใช้สิทธิ์ในลักษณะนี้ไม่มาก แต่ก็ได้ให้นโยบายกับผู้ปฏิบัติไปแล้วว่า การลงประชามติไม่มีการแข่งขันทำให้ไม่มีการร้องเรียน แต่การเลือกตั้งการแข่งขันสูง ฝ่ายแพ้ก็จ้องที่จะหาเหตุในการร้องเรียน และอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

          “ที่ผ่านมา กรธ.พยายามเอาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนุญปี 49 กรณีหันคูหาโดยเอาก้นออก มาเทียบเคียงกับกรณีนี้ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งกรณีนั้นศาลวินิจฉัยจากการใช้สิทธิของผู้สมัครคนเดียว และทำให้การเลือกตั้งโมฆะ ในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีผู้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หลายรายมาใช้สิทธิ หากหน่วยหนึ่งใช้สิทธิ 10 คน แล้วการแข่งขันสูงหากเกิดการร้องเรียนจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ผมก็ยังหวังว่าที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยที่เป็นคุณ แต่เราก็ต้องทำให้รอบคอบ” นายบุญส่งกล่าว

          สนช.เสียงข้างน้อยห่วงเลือกตั้งโมฆะ 
          นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสนช. ในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวว่า เป็นกมธ.เสียงข้างน้อยที่เคยทักท้วงในชั้นกมธ.ว่าประเด็นการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และการให้เจ้าหน้าที่กกต.กาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งแทนคนพิการ อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเคารพ

          “ที่ผ่านมายังเคยเสนอให้ยื่นตีความทั้งกฎหมายลูกส.ส.และส.ว.ให้เกิดความชัดเจน แต่เป็นเพียงสนช.ตัวเล็กๆ คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ฟันธงได้เลยว่าหากไม่ยื่นตีความร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศบังคับใช้แล้ว จะมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญแน่ ยิ่งถ้าไปยื่นตีความหลังจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้วและศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญจะยิ่งยุ่งกันใหญ่” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

          สมาชิกสนช.ผู้นี้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังต้องคิดว่าใครจะเป็นผู้แก้เนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะตอนนั้นกรธ.ไม่อยู่แล้ว ต้องดูว่าศาลจะตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะถ้าศาลมองว่าการให้เจ้าหน้าที่กกต.กาบัตรแทนคนพิการทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับย่อมมีผลกระทบต่อคะแนนเลือกตั้ง ที่ผ่านมาแค่หันคูหาเลือกตั้งผิดฝั่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังลงมติให้เลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว เที่ยวนี้จึงต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติอย่างไร

          “มาร์ค”ชี้“บิ๊กตู่”คือคำตอบสุดท้าย
          ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวว่า การที่สนช.ไม่ยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เพราะสนช.คงกังวลว่าอาจถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ยื้อการเลือกตั้งและทำให้กระทบต่อโรดแม็พ ส่วนของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น เราต้องดูว่าหากสนช.ไม่ยื่นตีความแล้ว ใครจะเป็นผู้ยื่นได้บ้าง ซึ่งจะมีขั้นตอนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในขั้นตอนนั้นมองว่านายกฯ สามารถยื่นตีความได้ แต่ถ้าประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว มีผู้ได้รับผลกระทบ และมีการยื่นตีความอีกจะทำอย่างไร

          “ตรงนี้คือสิ่งที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ก็เป็นกังวล ถึงได้บอกให้สนช.ยื่นทั้ง 2 ฉบับ จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง ซึ่งหากมีปัญหาในภายหลังก็อาจถูกมองว่า ทำให้ทุกอย่างยืดไปอีก มาถึงขณะนี้สนช.ต้องยอมรับว่าทำกฎหมายด้วยความไม่รอบคอบ ไม่มีความเข้าใจกับกติกาต่างๆ สุดท้ายแล้วก็เป็นการโยนเผือกร้อนให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์เสียเอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

          หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอทางออกว่า คนที่จะแก้ปัญหาตรงนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องอย่าทำให้กฎหมายมีปัญหา และต้องไม่มีอะไรไปกระทบโรดแม็พ ถ้าต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วเกรงว่าจะกระทบโรดแม็พ แนะนำให้ยกเลิกในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประเด็นที่กำหนดให้มีผลบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาออกไปเสียก่อน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์บอกสนช.ทำตามได้อยู่แล้ว
“อ๋อย”ไม่สนตีความจี้ปลดล็อก

          นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. ยื่นเงื่อนไขหากพรรคการเมืองลงสัตยาบันให้เลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งไปอีก 3 เดือน และส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ยังไม่เห็นว่า พรรคการเมืองจะมีอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เลย จะยื่นหรือไม่ยื่นตีความก็เป็นเรื่องของผู้ที่มีหน้าที่จะต้องพิจารณากันไป หากไม่มีการยื่นตีความ ก็ไม่เกิดเหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่ถ้ายังไม่มีการปลดล็อกการทำกิจกรรมพรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังทำอะไรไม่ได้ และคงเตรียมการเลือกตั้งได้ไม่ดีเท่าที่ควร

          “แต่ถ้ามีการยื่นตีความแล้ว ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป พรรคการเมืองก็คงไม่ไปขัดขวางอะไร และถ้ายังไม่ปลดล็อกการทำกิจกรรมให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ การยืดเวลาออกไป ก็ไม่ทำให้พรรคการเมืองมีเวลาทำอะไรมากขึ้น คนที่จะมีเวลาเตรียมการมากขึ้นก็คือ คสช. กับพวกเท่านั้น” นายจาตุรนต์ระบุ
บิ๊กตู่ไม่ตอบโพลล์ให้นั่งนายกฯอีกสมัย

          ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ถึงกรณีผลสำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลที่ระบุว่า ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งปัจจุบัน ว่า “ก็เรื่องของโพลล์ ทำงานก่อน”

          ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า "ก็ว่าไปตามโพลล์” ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตอบรับนั่งประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐในเดือนมิถุนายนนี้ ก็ได้ตอบไปแล้ว ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ เอง แล้วนายกฯ จะมาปรึกษาเรื่องอะไร เพราะตนไม่ได้เล่นการเมือง

          “ยังไม่รู้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปเป็นหรือยัง ก็ยังไม่เป็น ให้ผมตอบก็จะบอกว่าให้ไปถามประชาชนดู ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ถามว่าจะเหมาะสมหรือไม่ที่จะไปเป็นที่ปรึกษาพรรค” พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบข้อถามที่ว่า พร้อมจะช่วยเหลือพรรคดังกล่าวหรือไม่ หากพล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็นที่ปรึกษา

          ส่วนเมื่อถามว่าประชาชนเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โอ๊ย เลิกพูดๆ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.อยู่ในเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว” ส่วนที่จะมีการยื่นตีความจะทำให้สังคมมองว่าเป็นการยื้อเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้นายวิษณุก็กล่าวไว้แล้วว่าเวลาเตรียมไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แล้ว

          อนุทินร่วมคณะบิ๊กตู่ปัดดีลการเมือง
          นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 ว่า ภาพรวมของการประชุมเป็นการสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่ 10 ประเทศอาเซียนและออสเตรเลีย ทั้งในการประชุมแบบเต็มคณะของผู้นำประเทศ ที่มีการหารือในประเด็นความมั่นคง มั่งคั่ง และผลประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน

          นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้าย ที่ออสเตรเลียและประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต้องประสบปัญหาอยู่ และได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งทุกประเทศต้องหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคและมีการลงนามยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ในการต่อต้านการก่อการร้ายที่สำคัญรวมถึงมีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีทั้งการหารือระหว่างภาครัฐกับเอกชน และระหว่างเอกชนกับภาคเอกชนด้วยกัน และครั้งนี้มีภาคธุรกิจของไทยเข้าร่วมหารือด้วย เป็นการแก้ปัญหาอุปสรรคและส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน

          ส่วนการที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน นายดอน กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดการพูดคุยเป็นการส่วนตัว ระหว่างนายกฯ กับนายอนุทิน แต่การพูดคุยที่มีตนร่วมอยู่ด้วยยืนยันว่าเป็นเรื่องของธุรกิจ เช่น การหารือถึงปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการผลิตและซ่อมบำรุงแท่นขุดเจาะ ที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย และนำไปใช้ในออสเตรเลีย

          นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี และประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างโครงการต่างๆ ในไทย เช่น การขุดเจาะอุโมงค์ ที่สามารถนำไปใช้กับประเทศอื่นๆ ได้

          มีรายงานข่าวว่านายอนุทิน  โพสต์เฟซบุ๊ก ออกตัวด้วยว่า เป็นการได้พบ พลเอกประยุทธ์ เป็นครั้งแรกตั้งแต่มาเป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 ...คาดเพราะเกรงจะมีคนเข้าใจผิดว่าเคยพบปะหรือ “Deal” อะไรกันเพราะพรรคภูมิใจไทย ในยุคหนึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคนอมินีทหาร 

          วรเจตน์เตือนบทเรียนพฤษภาทมิฬ
          นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ว่า เสียดายความรู้ความสามารถของนายปิยบุตร แต่ก็เข้าใจและได้ให้กำลังใจเพราะอยากที่จะเข้าไปทำงานทางการเมือง เนื่องจากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องรอดูว่าจะสามารถเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สามารถทำอะไรได้ง่าย และเชื่อว่าในไม่ช้าประชาชนจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาจริง

          เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่นั้น นายวรเจตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ตอนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งควรที่จะนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้ ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต และไม่ทราบว่าจะมีพรรคใดเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

          นายวรเจตน์ กล่าวถึงกรณีที่สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่ายุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคสช.มีอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ยังไม่มีความชัดเจน แต่คสช.ต้องดูอารมณ์ของสังคมด้วย

          “วิษณุ”ยันรัฐบาลตั้งใจปราบโกง
          ที่โรงแรมอนันตรา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมนานาชาติด้านการต่อต้านการทุจริตเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นหน่วยงานภาครัฐในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ว่า รัฐบาลแสดงเจตนาชัดเจนในการต่อต้านปราบปรามการทุจริต ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในการต่อต้านการทุจริต ทั้งการออกกฎหมายหลายฉบับ เสริมเขี้ยวเล็บให้แก่หน่วยงานตรวจสอบทุจริตอย่าง ป.ป.ท.มาหลายปี แต่บางหน่วยงานก็เพิ่งได้รับความเป็นอิสระในการบริหารงานหลังแก้กฎหมาย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่เคยมีนายกฯ รองนายกฯ และนักการเมือง ร่วมเป็นกรรมกา รก็แก้กฎหมายใหม่เพื่อดึงนักการเมืองออกจากปปง.ให้เขาหากรรมการกันเอง และแก้กฎหมายป.ป.ช. เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มอัตรากำลังให้ป.ป.ช.ไปหลายร้อยคน รวมถึงการออกกฎหมายจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต ซึ่งผลักดันกันมานานได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อให้คดีทุจริตได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว สามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้ และสิ้นสุดเพียงชั้นอุทธรณ์

          นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สาเหตุของการทุจริตเกิดจากการให้บริการที่ล่าช้าของข้าราชการ นักธุรกิจและนักลงทุนต้องการความรวดเร็ว ทำให้นักธุรกิจยอมติดสินบนจ่ายเงินใต้โต๊ะ รัฐบาลจึงออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการอนุญาตของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยหน่วยราชการต้องออกคู่มือระบุให้ชัดว่า เมื่อมีผู้มาติดต่อขออนุญาตจะใช้เวลาเท่าไรและใช้เอกสารอะไรบ้าง เมื่อถึงกำหนดหากออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ถือว่ามีความผิด มาตรการเหล่านี้แม้ไม่ทำให้การทุจริตหมดไป แต่ก็ทำให้การทุจริตลดลง โดยสิ่งที่กลัวที่สุดคือการขอใบอนุญาตบางอย่างต้องใช้เวลาถึง 2 ปี โดยไม่มีความหวัง และคำตอบคือไม่อนุญาต ซึ่งหมายความว่านักลงทุนเสียเวลาไป 2 ปีโดยไม่ได้อะไรเลย หากทราบตั้งแต่ต้นจะได้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น

          “ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศวาระสำคัญอีกเรื่องรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรง มาตรฐานเดียวกัน หลังจากนี้ 6 เดือน หน่วยราชการจะไม่เรียกเอกสาร ไม่เรียกดูสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะทุกอย่างเชื่อมในระบบออนไลน์ วิธีการนี้จะช่วยลดการคอร์รัปชั่นลงได้ เราเคยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 46 ประเทศที่มีความยากในการลงทุน แต่ใช้เวลาเพียง 1 ปี พัฒนาขยับขึ้นเป็นลำดับ 26 ดีขึ้น 20 ลำดับ ส่วนภาพลักษณ์การทุจริตประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 101 ก็ขยับเป็นลำดับที่ 91 แม้จะดีขึ้นแต่รัฐบาลยังไม่พอใจยังต้องออกกฎหมายทำให้ดีขึ้นไปอีก” นายวิษณุ กล่าว

          จ่อใช้พร้อมเพย์แก้โกงเงินคนจน
          นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการทุจริตเงินช่วยเหลือคนยากจนคนไร้ที่พึ่งว่า การตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบหลักฐานจ่ายเงินไม่เต็มจำนวน โดยหักไว้ส่วนหนึ่งและทำบัญชีเท็จเพื่อเบิกเงิน ซึ่ง ป.ป.ท.ตรวจสอบพบความผิดในหลายจังหวัด คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะสามารถดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำความผิดได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของป.ป.ท.และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดว่าจะตรวจสอบเสร็จเร็วกว่ากรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากเป็นการแยกกันตรวจสอบ ทางพม.ตรวจทางวินัยและได้ย้ายเจ้าหน้าที่และพักงานไปแล้วบางจังหวัด 

          ขณะที่บางส่วนก็ได้กันตัวไว้เป็นพยาน ส่วน ป.ป.ท.ตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีอาญา โดยมีการรายงานความคืบหน้ามายังตนและนายกฯ ทุกสัปดาห์ ล่าสุดตรวจสอบไปแล้วเกือบ 50 จังหวัด จาก 76 จังหวัด โดยในส่วนของคดีอาญาต้องทำให้รอบคอบเพื่อไม่ให้ไปถึงในชั้นศาลแล้วพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นในภาพรวมทั้งหมดที่จะมีการกล่าวหาพาดพิงถึงข้าราชการหลายคน ให้รอฟังผลสรุปจากป.ป.ท. สำหรับการตรวจสอบทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการพบความผิดปกติและตรวจสอบเอง จึงไม่ต้องรายงานมาที่ตน

          ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังพบการทุจริตจำนวนมากในปี 2561 จะยกเลิกโครงการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะไปหักด้ามพร้าด้วยเข่าไม่ได้ เพราะเป็นโครงการที่ดีเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ เมื่อพบการทุจริตต้องแก้ไขไม่ใช่ยกเลิก อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน จากการลงพื้นที่เพื่อพบปะและจ่ายเงินสดโดยตรง ซึ่งเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต ก็อาจจะเปลี่ยนไปจ่ายผ่านพร้อมเพย์หรือวิธีอื่นๆ เพราะคนจน คนไร้ที่พึ่งยังมีอยู่จริง การสงเคราะห์ยังเป็นเรื่องจำเป็น ยกตัวอย่าง มีการโกงเลือกตั้งจะไปยกเลิกไม่ให้มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้ วิธีการจึงต้องหาทางแก้ไขไม่ให้โกง

          โกงเงินคนไร้ที่พึ่งขยายวง49จว.
          พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวถึงการตรวจสอบศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งว่า ล่าสุดผลการตรวจสอบพบความผิด 49 ศูนย์ เพิ่มขึ้น 5 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร และจันทบุรี งบประมาณ 104,440,000 บาท มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดทางอาญาแล้ว 7 ศูนย์ โดยในสัปดาห์นี้จะทยอยเสนอให้ ป.ป.ท. ลงมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติม โดยพฤติการณ์การกระทำความผิดคล้ายคลึงกัน มีการปลอมเอกสารเพื่อทำบัญชีเป็นบุคคลยากไร้ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่ครบ ที่ผ่านมาได้สอบปากคำพยานบุคคลและตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว

          สำหรับงบประมาณช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งของนิคมสร้างตนเอง 32 นิคม ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว 4 นิคม 1.นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี งบประมาณ 7,030,000 บาท 2.นิคมสร้างตนเองห้วยห้วง จ.อุดรธานี งบประมาณ 5,030,000 บาท 3.นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น งบประมาณ 11,700,000 บาท 4.นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล งบประมาณ 10,980,00 บาท พฤติการณ์ที่ตรวจสอบพบเช่นเดียวกับศูนย์คุ้มครองฯ แต่มีลักษณะมุ่งเน้นให้เงินทุนกลุ่มวิชาชีพและเบิกสงเคราะห์จำนวนหลายครั้ง อย่างไรก็ตามกรณี ของนิคมพบว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้อำนวยการนิคมซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หลังจากนี้จะส่งสำนวนไปให้ป.ป.ช.ดำเนินการ รวมถึงนิคมอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ เนื่องจากงานของป.ป.ท.ตึงมือมากแล้ว

          “ในส่วนของการตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อเอาผิดกับผู้รับผลประโยชน์ปลายทางหรือเก็บเงินทอนจากงบคนไร้ที่พึ่ง ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ภายในสิ้นเดือนนี้จะทราบผลการตรวจสอบทั้งหมด ในชั้นนี้ขอยังไม่เปิดเผยถึงวิธีการรับเงินว่าเป็นการรับเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี ส่วนการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเรื่องมาที่ป.ป.ท.แล้วในวันที่ 20 มีนาคม จะเสนอให้บอร์ดป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิด” พ.ท.กรทิพย์กล่าว

          “บิ๊กป๊อก”สั่งเข้มหนังสือราชการ
          พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีความผิดพลาดในการใช้ถ้อยคำทางหนังสือราชการของจังหวัดขอนแก่นว่า ทางปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ก็ขอให้รอผลการดำเนินการออกมา ส่วนกรณีที่แม่ทัพภาคที่ 2 ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องดังกล่าวอาจเป็นการวางยารองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นนั้น ขอให้รอผลสอบสวนดีกว่า เพราะตนไม่ได้มองแบบนั้น แต่มองไปที่ผลสอบข้อเท็จจริง จะให้ตนไปวิพากษ์ในสิ่งที่ไม่ได้รู้ ไม่เห็น มันไม่เกิดประโยชน์ ควรให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร
   
          “ในการทำงานของกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำให้ดี ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน อย่าให้มีการทุจริตเกิดขึ้น การใช้ถ้อยคำผิดพลาดในหนังสือราชการ ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควร และเป็นเรื่องที่ต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูง การใช้คำที่ไม่สมควร ในฐานที่เป็นฝ่ายปกครองต้องขอโทษ เพราะฉะนั้นในการดำเนินการจะต้องมีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ลงนามในหนังสือ” รมว.มหาดไทย กล่าว

          เมื่อถามว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย มีการทำหนังสือราชการผิดอยู่บ่อยครั้ง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การทำงานเกี่ยวกับเอกสารของข้าราชการประจำ ไม่ใช่งานในระดับนโยบาย แต่เป็นงานด้านธุรการ เมื่อผิดบ่อยๆ คงต้องมีการหารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการกวดขันในเรื่องนี้มากขึ้น

          ปลัดมท.เชื่อรองผู้ว่าฯขอนแก่นพลาด
          ที่กระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีที่รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ลงนามในหนังสือแจ้งเชิญประชุมเพื่อเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี และมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญว่า เรื่องนี้จังหวัดขอนแก่น ได้ทำหนังสือชี้แจงส่งให้นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เรียบร้อยแล้ว และปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ส่งต่อให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

          “ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาว่าคำชี้แจงดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่ ทั้งนี้แม้ปลัดกระทรวงมหาดไทยจะไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณา แต่ก็ได้ย้ำให้ดำเนินการให้เร็วที

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ