ข่าว

"วรเจตน์" ให้ "ประยุทธ์" ดูบทเรียน "พฤษภาทมิฬ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วรเจตน์" เตือนนายกฯ ดูบทเรียนพฤษภาทมิฬปี 35 หากคิดไปนายกฯคนนอก ยัน คณะนิติราษฏร์ ยังไม่มีนโยบาย หนุน พรรคอนาคตใหม่

          เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มี.ค.61-นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์  กล่าวว่า  การเปิดตัวร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ของนายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ น่าเสียความรู้ความสามารถทางวิชาการ แต่ก็เข้าใจและให้กำลังใจ เพราะอยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทย  ซึ่งก็ต้องดูว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 อะไรมันก็ไม่ง่าย ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อผ่านประชามติก็จะต้องลองใช้ดู เพราะต่อไปสังคมหรือประชาชนก็จะเห็นเองว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น 

          นายวรเจตน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ไป นายปิยะบุตร จะต้องลาออกจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์  แต่ขณะนี้ยังไม่ต้องลาออกเพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ คนที่เป็นพนักงานของรัฐ หรือข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจนถึงการสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนความสัมพันธ์กับคณะนิติราษฎร์ เมื่อไปทำงานทางการเมืองแล้วก็เป็นคนละส่วนกันไม่ได้เกี่ยวข้องกันอีก 

          เขาบอกว่า ส่วนคณะนิติราษฎร์จะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบาย แต่ปกตินิติราษฎร์ไม่ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายพรรคการเมืองอยู่แล้ว เพราะชื่อก็บอกแล้วว่านิติราษฎร์ คือนักกฎหมายที่เห็นการปรับใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง  จึงให้ความรู้และวิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นกับประชาชน ส่วนสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอเอาไว้ และพรรคการเมืองไหนไปผลักเป็นนโยบายก็ยินดีด้วย ไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้น เพราะพรรคใหม่ไม่สามารถผลักดันอะไรได้ แต่ข้อเสนอที่ออกไปเป็นของสาธารณะ และเปิดโอการสให้โต้แย้งและถกเถียงกัน หากสังคมเห็นด้วยพรรคการเมืองอาจนำไปเป็นนโยบายได้ 

            นายวรเจตน์ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน เพราะบทบาททางการเมืองกับนักวิชาการแตกต่างกัน เพราะนักวิชาการไม่ต้องเอาใจใคร แม้แต่ประชาชน แต่นักการเมืองจะต้องทำให้ชนะใจประชาชนต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ก็ขอให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมภายใต้ข้อจำกัดแบบนี้ และระบบการเลือกตั้งก็แบบใหม่อาจสับสนและยุ่งยากที่พรรคการเมืองใหม่จะต้องไปฟันฝ่าในระบบนี้ ประเด็นเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทย เมื่อรัฐธรรมนูญถูกบังคับใช้เพราะจะมีปัญหาปะทุออกมาให้เห็น ซึ่งประเด็นนี้จะพักเอาไว้ชั่วคราว หากไม่แก้ประเด็นพื้นฐานแล้วก็จะเป็นปัญหาอีกและยากที่จะยุติได้

          นายวรเจตน์ กล่าวว่า พรรคการเมืองไม่พอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้  แต่จะมีผลประโยชน์ทางการเมืองอีกหลายกลุ่มในประเทศที่กุมความเป็นไปหลายส่วนในกติกา เบื้องต้นปัญหาในระยะข้างหน้าคือกติกาพื้นฐาน คือสังคมจะต้องหาอะไรบ้างอย่างสำหรับขั้นพื้นฐานรับได้และความยุติธรรม และอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน หรือแพ้ชนะก็จะต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และยอมรับผลแพ้ชนะมันจะแก้ไขได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายก็จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมามันหาหลักยึดอะไรไม่ได้ ดังนั้นพื้นฐานจะต้องใช้กฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน  รวมถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพ การไม่ใช้กำลังทำร้ายกันทางกายภาพ ถ้ามีความเห็นต่างกันคนในสังคมมีเสรีภาพที่จะให้ความเห็นได้ในเรื่องแม้แต่เรื่องที่เราไม่อยากฟัง  แต่ก็จะต้องฟัง สังคมไทยจะต้องฝึกให้มีการฟังกัน 

           "เอาง่าย ๆ พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นใหม่ ทั้ง นายธนาธร และ นายปิยะบุตร  ก็ถูกโจมตี เพราะหลายเรื่องไม่เป็นความจริง หรือ แม้แต่ที่นิด้าเสนอแก้ไขกฎหมาย ม.112 ก็เป็นเรื่องที่เราเสนอไปแล้ว และตกไปในสภา แต่ข้อเสนอยังอยู่ อาจจะมีการนำกลับมาพูดใหม่ก็ได้ แต่สังคมจะต้องเปิดใจกว้าง คนที่เสนอไม่ได้มีอำนาจอะไร เพียงแต่เป็นข้อเสนอขึ้นมา ทั้งนี้ผมอยากให้ นายปิยะบุตร ไปทำงานทางการเมืองจะได้ไม่ต้องมีภาระตรงนี้ ตรงนี้ถือเป็นช่วงชีวิตหนึ่งของเขา ซึ่งอยู่กับนิติราษฎร์ ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ นายปิยะบุตร ก็เชื่ออยู่  แต่เมื่อไปทำงานทางการเมืองก็จะต้องปรับให้เข้ากับสมาชิกอื่น ๆ ไม่ใช่พรรคเผด็จการที่คนเดียวชี้ได้ อยากให้สังคมใจกว้างและอดทนฟังคนที่เห็นไม่เหมือนกับตัวเอง และใช้เหตุใช้ผลลดป้ายสีกล่าวหากัน อาจจะทำอะไรง่ายกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากกว่า 10 ปี การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ฟังกัน  และไม่ยอมรับความเห็นต่าง ไม่เปิดเวทีให้ได้พูดะ ไปกดแบบนี้ไม่ได้หรอก" นายวรเจตน์ กล่าวและว่า

            ตน ไม่อยากให้ความเห็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะยังไม่เกิดขึ้น แต่แน่นอนเราผ่านประสบการณ์เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 เรามีบทเรียน พล.อ.สุจินดา คราประยูร อยู่ ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาทางประวัติศาสตร์ ก็ควรจะเป็นสิ่งเมื่อมีบทเรียนเราก็ควรจะใช้มัน แต่สุดท้ายแล้วจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ตอนนี้เป็นคำถามสมมติ

          นายวรเจนต์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาสมาชิกวุฒิสภา นายวรเจตน์ กล่าวว่า  ยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคสช.มีอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่คสช.ต้องดูอารมณ์ของสังคมด้วย.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ