ข่าว

ลุ้น“บิ๊กตู่”ส่งตีความ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรธ.โยน“บิ๊กตู่”ยื่นศาล รธน.ตีความ ก.ม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส. ด้าน สนช.ได้ฤกษ์ยื่นวันนี้ย้ำร่างพ.ร.ป.ที่มาส.ว.ฉบับเดียวรองผู้ว่าฯขอนแก่นขอโทษคำสั่งฉาว

 
          ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญ เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อยื่นต่อประธานสนช.เพื่อขอให้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงฉบับเดียวโดยไม่สนใจคำทักท้วงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ระบุว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนรษฎร (ส.ส.) อาจมีปัญหาในอนาคตเช่นกัน จนทำให้พรรคการเมืองมองว่าเป็นเกมเพื่อยื้ออำนาจของรัฐบาลทหาร
   
          วันที่ 18 มีนาคม นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสโจมตีกรธ.และสนช. ต่อการยื่นร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการวางยายื้อการเลือกตั้งว่า ไม่ขอต่อล้อต่อเถียง ขอยอมแพ้ไปละกัน ที่ผ่านมาถือว่ากรธ.ทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว โดยพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ก็คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 
ส่วนพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นั้น กรธ.ผู้นี้บอกว่าเมื่อสนช.ไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่เป็นอะไร กรธ.เตือนผลกระทบตามโรดแม็พที่อาจจะเกิดขึ้นไว้แล้วในเอกสารเสนอแนะต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีมือดีไปยื่นให้มีการตีความภายหลังกฎหมายบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูทางฝั่งทำเนียบรัฐบาลอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรีสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่ขณะนี้กฎหมายยังไม่ถึงมือนายกรัฐมนตรี

          วัลลภยันยื่นพ.ร.ป.ส.ว.ฉบับเดียว    
          นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวย้ำว่า สนช.เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) ซึ่งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จะไม่กระทบต่อโรดแม็พที่วางไว้ และจะทันการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน แต่หากยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ด้วยจะกระทบโรดแม็พ

          “ร่างพ.ร.ป.ที่มาส.ว.ไม่มีทางเลื่อนโรดแม็พแน่นอน และบทที่ยื่นเป็นบทเฉพาะกาล ซึ่งมีบทหลักอยู่ คือให้แบ่งเป็น 20 กลุ่ม สมัครได้แบบเดียวและเลือกไขว้กัน นี่คือบทหลัก เราตีความบทเฉพาะกาล คือให้มี 10 กลุ่ม ให้มาได้สองทาง และเลือกในกลุ่มตัวเอง ซึ่งหากศาลตีความว่าขัด ก็ตกเฉพาะมาตรานั้น มาตราหลักยังอยู่ นี่คือหลักปฏิบัติ ดังนั้นกฎหมายมันเดินได้ไม่มีอะไรกระทบโรดแม็พเลยแม้แต่น้อย เท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิก สนช.ได้ข้อสรุปจะยื่นตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เพียบฉบับเดียว ส่วนหลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วหากจะมีการยื่นเรื่องต่อศาลถือเป็นสิทธิของประชาชน” นายวัลลภ กล่าว

          ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในอนาคตสมาชิก สนช.จะดำเนินการในส่วนของภาคประชาชนยื่นตีความพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะสามารถทำได้หรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า โดยหลักไม่ควรทำ ไม่มีเหตุผลใดจะต้องทำในช่วงนั้น เพราะจะถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ไม่ดี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีได้ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการออกกฎหมายแต่ละครั้งอาจจะมีการสมคบคิดกันให้เกิดปัญหาจนสะดุด นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องแบบนั้น ตนเองอยู่สภามา 4 สมัยไม่มีการสมคบกันแต่เป็นเรื่องของความเห็นต่างเท่านั้น และคนที่ยื่นตีความในเรื่องนี้ต่างเป็นคนที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบและงดออกเสียงในที่ประชุม

          ปชป.ฉะแผนคสช.หวังยื้ออำนาจ
          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อยากถามทั้งสนช. และกรธ. ว่าทำไมไม่พิจารณาให้เรียบร้อยเสียตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย ขณะที่ สนช. ก็เพิ่งลงมติเห็นชอบให้กฎหมายผ่านออกมาไม่นานนี้เอง ก็มายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียแล้ว นอกจากนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยังทำความเห็นต่อร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่สนช.เห็นชอบตามการปรับแก้ของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายไปถึงประธานสนช. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญหลายประการ

 

ลุ้น“บิ๊กตู่”ส่งตีความ

 

          “การที่สนช. เตรียมยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการที่นายมีชัยมีความกังวลในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น สามารถมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 ทาง คือ อาจจะเป็นการพิจารณากฎหมายที่ไม่รอบคอบโดยบริสุทธิ์ใจ หรืออาจจะเป็นขบวนการของการยื้ออำนาจ เพราะทั้งสนช. และกรธ.ก็ถือกำเนิดเกิดจากคสช. เหมือนกัน ถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้นน่าจะหาข้อสรุปที่ลงตัวได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา แต่การที่ทั้ง กรธ. และสนช. ที่มาจาก คสช.เหมือนกัน ไม่ยอมหาข้อสรุปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจึงถูกมองได้ว่าเป็นขบวนการยื้ออำนาจ” นายองอาจ กล่าว

          นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ความพยายามยื้ออำนาจโดยมือไม้ของกรธ. และสนช. ที่เกิดจากคสช. ทำให้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคสช. และหัวหน้าคสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความพยายามยื้ออำนาจออกไป ย่อมทำให้กรอบเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีเคยลั่นวาจาไว้เกิดความไม่แน่นอน จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงนักธุรกิจไทย และนักธุรกิจต่างชาติ ที่จะวางแผนการลงทุนในอนาคตอันจะส่งผลต่อการที่ประเทศจะเดินหน้าไปตามครรลองที่ถูกต้องต่อไป

          “จึงขอฝากให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ควรใช้ความกล้าหาญบริหารจัดการอำนาจที่มีอยู่ในมือของท่าน จัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ มีการเลือกตั้งภายในกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อย่าปล่อยให้มีการวางระเบิดเวลา เพื่อยื้ออำนาจออกไปเรื่อยๆ จะทำให้ถอดสลักยากขึ้นทุกที และอาจมีปัญหาบานปลายตามมาได้ในอนาคต” นายองอาจ กล่าว

          อัดสมชายเลิกเหนียมยึดเก้าอี้
          นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสนช. (วิปสนช.) ระบุว่าจะส่งร่างกฎหมายลูกการได้มาซึ่งส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ยังห่วงร่างกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.หากมีคนยื่นตีความ จึงขอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันยืดการเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือนว่า ก่อนหน้านี้เมื่อพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นใด นายสมชายและ สนช.มักกล่าวเสมอว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ปรับปรุงตัวเอง ไม่ปฏิรูปตัวเอง แม้แต่ตอนรับฟังความเห็นของการยกร่างกฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายพรรคการเมือง หรือกฎหมายเลือกตั้ง สนช.ก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองไม่เคยเชิญอย่างเป็นทางการ โดยอ้างเหตุผลว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อแสดงความเห็นไปก็เย้ยหยัน 

          ดังนั้นการระบุจะส่งกฎหมายที่ตัวเองโหวตลงมติผ่านโดยเอกฉันท์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่สนช.ยืนยันความถูกต้องมาก่อนหน้านี้ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่มีน้ำหนัก แต่เป็นความพยายามในการรักษาสถานภาพของของตัวเองและสนช.เพื่อที่จะได้รับเงินเดือนหลายทางต่อไป แต่ก็ยังเหนียมอายจึงออกมาเอ่ยปากขอให้พรรคการเมืองร่วมทำสัตยาบันดังกล่าวเพราะอย่างน้อยถ้าทุกพรรคไปลงนาม สนช.ก็จะได้อยู่ต่ออีก 3 เดือน

          “เขาอาจลืมไปว่าข้อเสนอของสนช.มันย้อนแย้งกันเอง เพราะเวลานี้ทุกพรรคการเมืองยังไม่สามารถมีมติใดๆ ในนามพรรคได้ เนื่องจากไม่สามารถประชุมพรรคได้ เพราะติดคำสั่งห้ามของ คสช. ถ้าจะให้หัวหน้าพรรคการเมืองไปลงนามทำสัตยาบันเกินห้าคน หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคอาจถูกจับกุมและมีความผิดได้ ฐานละเมิดคำสั่งห้ามของคสช. หรือเขาจะขุดหลุมให้แกนนำพรรคการเมืองไปถูกรวบตัว แต่ผมคิดว่าคงไม่มีหัวหน้าพรรคการเมืองไหนจะไปร่วมลงสัตยาบันเรื่องนี้แน่ อยากบอก สนช.ว่าเมื่อรับใช้คสช. เดินมาขนาดนี้แล้ว ไม่ต้องเหนียมอายแล้ว อยากทำอะไรก็ทำไปเลย วันนี้ถ้าจะอยู่ต่อก็อยู่ไป แต่อย่ามาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองโดยใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมืออีกเลย” นายนิพิฏฐ์กล่าว

          พท.จี้คสช.-รัฐบาลรับผิดชอบ
          นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นร้อนแรงที่ถูกวิพากษ์อย่างหนัก คือ การพิจารณาพ.ร.ป.ส.ส.และพ.ร.ป.ส.ว. ซึ่งไม่ปกติ ไม่ชอบมาพากล เพราะเรื่องควรจบในชั้นกมธ.ร่วม ที่ต้องฟังกรธ.เพราะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทราบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราดี และแม้จะผ่านการพิจารณาของกมธ.ร่วมและผ่านการให้ความเห็นชอบของสนช.ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์แล้ว กลับมีสนช.จำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ว่าพ.ร.ป.ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่าเกิดสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นในระหว่างแม่น้ำ 5 สายด้วยกันเอง ก่อนหน้านี้สนช.เพิ่งมีมติคว่ำการสรรหา 7 กกต. ซึ่งในกระบวนการสรรหาภาคส่วนอื่นไม่มีโอกาสเข้าไปแทรกแซงได้ เป็นเรื่องภายในองคาพยพที่คสช.และรัฐบาลควบคุมได้

          ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ปปช.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีกรธ.อาวุโส 2 ท่านให้ความเห็นตำหนิสนช.ว่าออกกฎหมายขัดหลักนิติธรรม เปรียบเสมือนเป็นกฎหมายลูกทรพี คือ กฎหมายลูกฆ่ากฎหมายแม่ จะเห็นได้ว่าที่ยกตัวอย่างกรณีที่เป็นประเด็นสาธารณะดังกล่าวข้างต้น ล้วนดำเนินการโดยแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นประเทศทั้งสิ้น

          ทั้งนี้เมื่อรวมกับกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่รักษาสัจจะวาจา เลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง และกรณีรัฐมนตรีในรัฐบาลโจมตีรองนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรงข้ามทวีปปมการตรวจสอบนาฬิกาหรู แต่ผู้โจมตีกับผู้ถูกโจมตียังนั่งประชุมครม.ร่วมกันได้อย่างปกติ ชี้ให้เห็นว่าแม่น้ำ 5 สาย ล้วนทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ ไร้ความเชื่อมั่น ประการสำคัญเป็นการกระทำด้วยตนเองทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดไปเกี่ยวข้องเลย

          นอกจากนี้ลำพังคสช.และรัฐบาลไร้ความเชื่อถือ ไร้ความเชื่อมั่น ผู้ที่เสียหายคือหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นระดับประเทศ ความเสียหายตกแก่ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชน อยากถามว่า คสช.และรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะหากเป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่ลาออก ก็ยุบสภา ขอฝากเป็นข้อคิดว่าท่านจะรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไรต่อประเด็นความเสียหายที่พวกท่านเป็นผู้ก่อเองทั้งสิ้น โดยไม่มีภาคส่วนอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

          ถล่มสนช.ฝันหวานนั่งเก้าอี้ต่อ
          นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย ให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำสัตยาบันร่วมกันว่า ยินยอมให้เลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งออกไป 3 เดือน สนช.ก็พร้อมจะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีว่า ทุกพรรคคงไม่ยินยอมทำตามเพราะพวกคุณรู้ตั้งแต่แรกว่าจะมีปัญหาแล้วทำไมไม่รีบแก้ไขตั้งแต่แรก

          “พวกคุณไม่พยายามที่จะแก้ไขตั้งแต่แรก พอลงมติแล้วเกิดความขัดแย้งก็มาเรียกร้องพรรคการเมือง การกระทำแบบนี้เจตนาอะไร อยู่ๆ ก็มาบอกให้พรรคการเมืองลงสัตยาบัน เพราะเจตนาคือต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อใช่หรือไม่ เรื่องนี้เห็นกันมานานว่าตรงไหนที่มีปัญหา แต่สนช.ไม่มีความจริงใจที่จะคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนก็เท่านั้นเอง” นายสมคิด กล่าว

          อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า วันนี้พวกคุณอยากจะทำอะไรก็ทำไม่ต้องคำนึงถึงประชาชนก็ได้แบบนี้ เพราะ 300 วัน ยังคิดอะไรไม่ออก ใช้เวลากันจนถึงวันสุดท้ายแล้วค่อยมาบอกว่ามีปัญหา แบบนี้ไม่หัดอายตัวเองบ้าง เปลืองเงินเดือนเปล่าๆ เพราะฉะนั้นวันนี้พวกคุณไม่ต้องมาขอเวลาหรอก อยากจะอยู่ต่ออีกเท่าไหร่ก็ทำไปเลย ถ้าไม่รู้จักอายตัวเองบ้าง

          ชทพ.ซัดสมชายอย่าโยนขี้ให้พรรค
          นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีสนช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณียื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เพื่อยื้อเลือกตั้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของสนช.เอง ไม่ใช่การวางแผน ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองจากความบกพร่องแบบคิดด้านเดียว เหมือนอยู่ในสภาวะตกบันไดพลอยโจรมากว่า

          ทั้งนี้เมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่นั้น มีความกังวลกับร่างกฏหมายดังกล่าวเนื่องจากเกี่ยวพันกับสนช.ที่อยู่ในปัจจุบันในเชิงซ้อนว่าจะลงสมัครได้หรือลงไม่ได้ และในที่สุดก็มีปัญหาจริง ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือกรรมาธิการของสนช. เพราะการออกกฎหมายนี้ไม่ใช่เพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน หรือบทเฉพาะกาล แต่เป็นการออกกฎหมายต่อไปในอนาคต

          ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะส่งไปตีความพร้อมกันหรือไม่นั้น นายนิกร กล่าวว่า ให้ สนช.พิจารณาเอง ในเมื่อเป็นคนผูก เป็นคนมัด ก็ต้องเป็นคนแก้และต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งแม่น้ำทุกสาย

          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ตั้งเงื่อนไขให้พรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันว่ายินยอมให้เลื่อนโรดแม็พเลือกตั้งออกไป 3 เดือน จะยอมส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไปตีความด้วย นายนิกร กล่าวว่า โดยเหตุผลและโดยตรรกะไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง อาจจะคิดพลาดไป หรือพูดพลาดไป แต่ถ้าเป็นจริงถือว่าใช้ไม่ได้อย่างมาก เพราะไปๆ มาๆ ตอนทำก็ไม่ได้ปรึกษา ส.ส.ไม่เคยเรียกไปถาม ไม่เคยคุยกัน ทำเอาตามที่สบายใจล้วนๆ แล้วพอมีปัญหาจะมาโยนใส่พรรคการเมือง

          “บอกเลยว่าทุกพรรคการเมืองไม่ใช่ลูกแกะ ที่อยู่ปลายน้ำแล้วจะมาโทษว่าทำน้ำให้ขุ่น เพราะไปไม่ถูกแล้วจะมาโยนใส่พรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองรับผิดชอบ อย่างนี้ไม่ถูกอย่างมาก เราไม่ใช่ลูกแกะ แต่เดิมก็หาว่าเราทำน้ำให้ขุ่นทั้งที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เป็นภาพลบนักการเมืองมาตลอด เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเขาว่ากันมาเองตลอด พ.ร.บ.นี้เอาที่สบายใจกันมาตลอดไม่เคยฟังเสียงใคร แล้วจะมาโทษว่าพวกอยู่ที่ปลายน้ำ แล้วถ้าไม่ผิดตอนนี้ก็ผิดที่เป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น อย่างนี้มันไม่ได้” นายนิกร กล่าว

          “บิ๊กตู่” ถกสุดยอดอาเซียน-ออสซี่
          ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผู้สื่อข่าวรายงานพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม ว่า เมื่อเวลา 08.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน–ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 แบบเต็มคณะในหัวข้อ “การส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาค” ว่าการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย เพื่อสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาคตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความใกล้ชิดที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันได้พัฒนาเชิงบวกในทุกมิติ 2.อาเซียนและออสเตรเลียมีผลประโยชน์ร่วมกันเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยกลุ่มประเทศขนาดกลางควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อช่วยให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง อยู่บนพื้นฐานของกติกาที่จะรักษาผลประโยชน์ เคารพสิทธิของทุกฝ่าย และการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการศึกษาและความมั่นคงของมนุษย์

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การส่งเสริมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและด้านดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน นอกจากนี้ในด้านการก่อการร้ายสากลการเผยแพร่ลัทธิและแนวคิดที่ยึดหลักความรุนแรง และแนวคิดสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรง ถือเป็นภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่สำคัญ โดยไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนและภูมิภาค ขณะเดียวกันอาเซียนและออสเตรเลียร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎกติกาสากล

          โพลล์หนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯ อีกสมัย    
          ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 1) ซึ่งสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 62.32% ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ พรรคการเมืองใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า และถ้าพรรคการเมืองเก่าเข้ามาก็จะทำให้เป็นแบบเดิมอีก และ 37.68% ระบุว่าพรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ชอบการบริหารงานแบบเก่าๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้วมั่นใจในผลงาน รู้จักคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่

          เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 38.64% ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา 13.04% ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) 12.24% ระบุว่าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) 6.88% ระบุว่าเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่) 5.84% ระบุว่าเป็นนายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน 5.12% ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) 4.96% ระบุว่าเป็นนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 2.88% ระบุว่าเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) 1.52% ระบุว่าเป็นนายปิยบุตร แสงกนกกุล (พรรคอนาคตใหม่) และสุดท้าย 0.72% ระบุว่าเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ประธานมูลนิธิ กปปส.)

          9 เดือนคสช.รับแจ้งโกง 3,664 เรื่อง 
          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงตามที่ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งข้อมูลข่าวสารและความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตั้งแต่กรกฎาคม 2560 ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการประชาชนต่อเนื่องผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือสายด่วน 1299, ตู้ ปณ.444 และแจ้งด้วยตนเองผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่หน่วยทหาร โดยที่ผ่านมาการทำงานของศูนย์จะเป็นไปใน 3 ลักษณะ คือ การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรองการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ตรวจสอบตามกระบวนการรวมทั้งการส่งข้อมูลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังชายแดนและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ช่วยตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการให้มีความชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น

          “ล่าสุดเลขาธิการคสช.ได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เข้าสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐประจำพื้นที่ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเรื่องที่ได้รับการร้องเรียน รวมทั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยยังจะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง อาทิ ผู้มีอิทธิพล อาวุธสงครามยาเสพติด บ่อนการพนัน เป็นต้น ก่อนส่งผลการปฏิบัติโดยรวมให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติดำเนินการต่อไป” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

          ​รองโฆษกคสช.  กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2560-12 มีนาคม 2561 มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 3,664 เรื่อง แยกเป็นเรื่องความเดือดร้อนทั่วไป 1,758 เรื่อง, การทุจริตประพฤติมิชอบ 594 เรื่อง, ยาเสพติด 442 เรื่อง และเป็นเรื่องที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน 856 เรื่องโดยประชาชนได้ใช้บริการแจ้งผ่านสายด่วน 1,083 เรื่อง, ตู้ปณ. 1,919 เรื่อง, แจ้งด้วยตนเองในส่วนกลาง 244 เรื่อง และแจ้งผ่านศูนย์รับเรื่องในภูมิภาค/หน่วยทหารทั่วประเทศอีก 418 เรื่อง ซึ่งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โดยคณะทำงานกลั่นกรองได้นำข้อมูลทุกเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณากลั่นกรองเป็นวงรอบทุกสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

          โพลล์ชี้โกงคนจนรัฐบาลสะเทือน
          “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,157 คน ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรกับข่าวทุจริต ณ วันนี้” หลังจากที่มีข่าวออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุจริตโครงการเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ เงินเบี้ยเลี้ยงตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น โดยสำรวจระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2561 ทั้งนี้เมื่อถามว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรกับข่าวทุจริตในระบบราชการวันนี้ พบว่า ร้อยละ 44.22 เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่มีมานานทุกยุคทุกสมัย สร้างความเสียหายต่อประเทศ ร้อยละ 28.67 เห็นว่าอยากให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ รื้อระบบภาครัฐครั้งใหญ่ และร้อยละ 19.00 เห็นว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี กระทบต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของรัฐบาล

          เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าการทุจริตมีสาเหตุจากอะไร พบว่า ร้อยละ 68.57 เห็นว่าเป็นความโลภเห็นแก่ตัว ขาดจิตสำนึก ร้อยละ 26.72 เห็นว่าการใช้อำนาจหน้าที่เอารัดเอาเปรียบ และร้อยละ 19.29 เห็นว่าระบบการตรวจสอบ ติดตาม ไม่เข้มแข็ง เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าควรมีแนวทางป้องกันปัญหาการทุจริตอย่างไร พบว่าร้อยละ 35.81 ระบุว่าควรปลูกฝังจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ส่วนร้อยละ 35.42 ระบุว่าควรมีระบบการตรวจสอบที่ละเอียด เข้มงวด และรัดกุม ร้อยละ 32.10 ระบุว่าควรพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อถามต่อว่าข่าวการทุจริตวันนี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากน้อยเพียงใด พบว่าร้อยละ 40.97 เห็นว่ามีผลมาก เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าเป็นการปกป้องพวกพ้อง รู้สึกผิดหวัง ร้อยละ 22.13 เห็นว่าค่อนข้างมีผลเพราะแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 21.26 เห็นว่าไม่ค่อยมีผล เพราะการทุจริตเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก มีมานาน ทุกรัฐบาลประสบปัญหา ไม่คาดหวังในการแก้ปัญหาการทุจริตอยู่แล้ว

          ทั้งนี้เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาการทุจริตได้หรือไม่ พบว่าร้อยละ 56.61 เห็นว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดได้ เป็นปัญหาเรื้อรัง ร้อยละ 23.42 เห็นว่าไม่แน่ใจ เพราะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องติดตามต่อไป และร้อยละ 19.97 เห็นว่าแก้ไขได้ เพราะรัฐบาลคสช.มีอำนาจพิเศษสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 

          เร่งตรวจสอบ-ดำเนินคดีตามก.ม. 
          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ได้รับมาจำนวน 3,664 เรื่อง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้ถูกดำเนินการ คือ 1.ส่งเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมเข้าข่ายประพฤติมิชอบให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการตามกรรมวิธี จำนวน 594 เรื่อง ในจำนวนนี้มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้วจำนวน 157 เรื่อง พร้อมได้นำเรื่องเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายตามความผิดในกรณีต่างๆ เช่น กรณีละเลยให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะและปัญหามลพิษ, กรณีเอื้อประโยชน์การเสนอราคาสร้างถนน, กรณีรายงานข้อมูลเท็จในการเบิกเงินช่วยเกษตรกร, กรณีการจัดซื้อถุงยังชีพช่วยเหลือน้ำท่วมไม่ตรงตามความเป็นจริง, กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการไม้แปรรูป, กรณีการเบิกเงินค่าจ้างแรงงาน แต่กลับใช้เครื่องจักรทำแทน, กรณีทุจริตจัดซื้อจัดหารถยนต์และรถดับเพลิง, กรณีใช้ตำแหน่งฉ้อโกงเงิน, กรณีฮั้วประมูลการสร้างถนน, กรณีช่วยปกปิดการกระทำผิดในคดีต่างๆเป็นต้น

          ​​2.เรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนโดยไม่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1,758 เรื่อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนตามช่องทางที่รัฐบาลมีอยู่ ​3.เรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและยาเสพติด จำนวน 442 เรื่อง ได้ส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการสอบสวน และมีผลการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 79 เรื่อง และ 4.เรื่องร้องเรียนที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการได้ 856 เรื่อง อยู่ระหว่างการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องเรียน

          “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนนับเป็นช่องทางหนึ่งที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ข้อมูลที่ได้รับสามารถนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและการดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมถึงการลงโทษทางวินัยและทางปกครองได้อย่างต่อเนื่อง” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

          ปชป.หนุนป.ป.ช.ร่วมสอบโกงคนจน
          คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการทุจริตเงินผู้ด้อยโอกาสของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรัฐบาลนี้ขยายไป 44 จังหวัด ว่ารู้สึกตกใจมากและรับไม่ได้ในการที่ข้าราชการระดับต่างๆ หากินบนความทุกข์ยากของประชาชนโดยอาศัยงบประมาณแผ่นดินและโดยเฉพาะกระทำกับผู้ยากจนผู้ด้อยโอกาสและทุพพลภาพด้วยซ้ำเป็นเรื่องไม่มีใครรับได้
    
          “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือป.ป.ท.ได้ทำงานของเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีแต่องค์กรนี้ตรวจสอบได้จากการระดับ 8 ลงมาเท่านั้น จึงอยากเรียกร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ควรรับลูกดำเนินการสืบสวนสอบสวนควบคู่กันไปกับป.ป.ท.เนื่องจากมีอำนาจครอบคลุมตรวจสอบข้าราชการระดับสูงและข้าราชการการเมืองซึ่งเป็นสายบังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสายบังคับบัญชาของตนเอง” คุณหญิงกัลยา กล่าว

          รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบหรือออกแบบการแก้ไขปัญหาสอดรับกับกรณีนี้คือต้องหาวิธีช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกโกงซึ่งหมายถึงประชาชนยากจน ผู้ด้อยโอกาสผู้พิการทุพพลภาพ ซึ่งเสียสิทธิ์ไปแล้วทำให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อน ประเด็นนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาวิธีชดเชยเยียวยา ไม่ใช่นิ่งนอนใจเพราะจนกว่าจะหาคนผิดหรือคดีความในการสืบสวนสอบสวนจะสิ้นสุดก็ใช้เวลายาวนานมาก

          “เป็นปัญหาของรัฐบาลเองไม่ใช่ปัญหาของประชาชน ดังนั้นประชาชนซึ่งได้สิทธิ์ไม่ควรจะเป็นเหยื่อแล้วไม่ได้รับการ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ