ข่าว

อย่าประเมินต่ำ ! พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มาร์ค"ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าสมรภูมิหลักอยู่บนโลกออนไลน์อย่าประเมินต่ำ"ปริญญา"ชี้โซเชียลใช้เช็คย้อนหลังใครทำอะไรที่ไหนได้เป็นยุคปชต.ด้านข่าวสาร

         17 มี.ค.61ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับกลาง ( บสก.) รุ่น 7 และสถาบันอิศรา จัดสัมมนาสาธารณะ "พลังโชเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย" โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพลังของโลกออนไลน์นั้น เปลี่ยนการเมืองไทยได้จริง เพราะการเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิด เมื่อรูปแบบการรับส่งข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไป การเมืองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรจะเป็นคุณและเป็นโทษบ้าง โดย 2 ช่วงที่สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง แยกเป็นระหว่างช่วงที่มีและไม่มีการเลือกตั้ง

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง จะเห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นตัวสร้างกระแส เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีการเอาข่าวจากสื่อหลักไปแบ่งปันในโลกออนไลน์ แต่ปัจจุบันสื่อหลักกลับนำเรื่องในโลกโซเชี่ยลมาเผยแพร่ทางโทรทัศน์ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม สื่อหลักในอดีตจึงอาจกลายเป็นสื่อดั้งเดิม ขณะที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นสื่อหลัก อย่าประเมินต่ำ ! พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย 

            กลายเป็นว่าคนที่เคยมีบทบาทในการบริโภคสื่อกลับกลายเป็นผู้ผลิตสื่อ ซึ่งก็มีข้อดีคือ ทำให้มีโอกาสสู้กับความไม่ถูกต้องมากขึ้น อยากจะจุดประเด็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ง่าย จากเมื่อก่อนที่ถ้าสื่อหลักไม่สนใจด้วย เรื่องก็จบ วันนี้แม้สื่อหลักไม่เล่นด้วย ถ้าโลกออนไลน์เดินหน้า ก็เอาไม่อยู่ เช่น ประเด็นเรื่องนาฬิกาหรู ป้าทุบรถ เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เป็นคุณอย่างมหาศาล หากสังคมสามารถใช้เพื่อตรวจสอบ เพื่อระดมพลัง จะเป็นการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สำคัญอย่างมาก

           ส่วนช่วงที่มีการเลือกตั้งครั้งหน้า จะห่างจากการเลือกตั้งครั้งเดิมที่ไม่เป็นโมฆะในปี 54 ไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี และจะเป็นครั้งแรกที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกกว่า 5-6 ล้านคน ดังนั้นโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นสมรภูมิหลักในการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง นักการเมืองต้องคิดแล้วว่าถ้าเปิดเวทีปราศรัยจะมีคนมาฟังไหม เมื่อเทียบกับการไลฟ์ผ่านเฟชบุ๊กที่น่าจะได้มากกว่าหลายเวทีรวมกัน  โจทย์ใหญ่คือ โซเชียลมีเดียมีพลังที่จะเป็นกระแสหลัก ทั้งในแง่การกำหนดประเด็นทางการเมือง และเป็นเครื่องมือระดมพลังทางการเมือง รวมถึงเป็นสมรภูมิต่อสู้แข่งขันทางการเมืองด้วย

          "มีการประเมินว่าโซเชียลมีเดียมีพลังมากน้อยแค่ไหน  ประเมินต่ำเกินไปก็ไม่ได้ เช่นเรื่องนาฬิกาหรู สังคมอาจยังไม่ได้คำตอบ แต่พลังนี้กระทบต่อความนิยมของรัฐบาลมาก หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่อาจเคยมีแผนว่าจะให้เรื่องนี้จบอย่างไร ก็ต้องคิดแล้วว่าถ้าออกทางนี้จะรอดไหม บางอย่างไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่มันซึมเข้าไปแล้ว พลังในการตรวจสอบถ่วงดุลเพิ่มขึ้นแล้ว" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าหากพูดอย่างสุดขั้วแล้ว ต่อไปทุกอย่างจะตัดสินใจทางออนไลน์ดีหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองต่างประเทศ เป็นที่มาของผู้นำที่มีลักษณะประชานิยมและเผด็จการ เพราะอาศัยกระแส อารมณ์ และความรู้สึก โดยโลกออนไลน์ที่เน้นความรวดเร็ว ความง่าย พรรคการเมือง  จะต้องเน้นการไตร่ตรองให้มาก

         นักการเมืองทุกวันนี้ก็ปรับตัว โจทย์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องข่าวปลอม คำถามคือ ประเทศไทยคิดหรือยังว่าจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้ การโพสต์อะไรก็ตาม ใครเป็นคนตัดสินว่าการแสดงความเห็นแบบนี้กระทบความมั่นคงหรือไม่ ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายจะมาจัดการเรื่องนี้ได้ ถ้าคิดแบบอุดมคติคือหวังว่าคนของเราจะเก่งพอที่จะแยกแยะ แต่ข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับว่ายากจริง ๆ

          นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเรากำลังเข้าสู่ 4.0 การเกิดขึ้นของการสื่อสารยุคใหม่ อย่าง Facebook ทำให้ทุกคนเป็นสื่อ เมื่อก่อนหูตาต่างๆจำกัดอยู่ที่สื่อเท่านั้น แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถนำเสนอข่าวได้ ด้วยเครื่องมือที่ Liveถ่ายทอดสด อย่างกรณีวัยรุ่นอารมณ์ร้อน ทำร้ายร่างกายชายชรา หลังจากรถล้ม เราก็เห็นว่ามีหลักฐานที่เป็นคลิป จากนี้ไปเราอยู่กับความจริงมากขึ้นมือถือเราจะกลายเป็น CCTV เคลื่อนที่ตลอดเวลา การทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เห็นแก่ตัวจะทำได้ยาก

           อย่างเรื่องนาฬิกา หรูเริ่มต้นจากเพจ CSI LA ขุดคุ้ย ถามว่าลำพังเพียงแอดมิน จะหาข้อมูลได้ครบทั้ง 25 เรือนหรือไม่ แถมยังบอกได้หมดว่าใส่ในตอน ช่วงไหนบ้าง เรื่องนี้เขาใช้วิธีเปิดหลังไมค์ให้ลูกเพจแจ้งเบาะแส (Crowdsourcing) นี่คือสิ่งที่เราควรช่วยกัน ซึ่งถ้าหากเป็นยุคก่อน ๆ อย่างมากก็เห็นภาพใน นสพ. ไม่เห็นว่า นายกฯแต่ละคนใส่นาฬิกาอะไรบ้าง แต่ในยุคนี้ไม่ว่าภาพ หรือข้อมูลพลังโซเชี่ยลที่ทุกคนเข้าถึงได้ ในเทคโนโลยีที่ราคาถูกลง

อย่าประเมินต่ำ ! พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย 

          นายปริญญา กล่าวอีกว่า อย่างเรื่องเสือดำ คนที่ติดตามข่าวนี้ หรือเล่นโซเชี่ยลมีเดีย เกิดความหวั่นเกรงว่าจะมีความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม คนรวยรอดพ้นความผิด เลยเกิดวลีที่ว่า เราทวงความเป็นธรรมให้เสือดำ จากเดิม รองผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ชอบกล ท่าทีแปลก ๆ คนก็คอยจับตา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ยิ่งใหญ่พอ ๆ กับ ทุ่งใหญ่ฯ รอบแรกก่อน 14 ต.ค. 16 ที่คนล่าสัตว์ เป็นผู้รับงานจากรัฐบาล ถ้าเรื่องนี้ไม่ถึงศาล ผู้ได้รับผลกระทบคือ คสช. อย่างแน่นอน

          "มาถึงเรื่องการมืองประชาธิปไตยของเราเป็นระบบแบบผู้แทน แต่ในยุคนี้พรรคการเมืองมีความสำคัญน้อยลง ถ้า ประชาชนใช้สื่อออนไลน์เป็น เมื่อก่อนนโยบายกว่าจะออกมาได้ มีขั้นตอนที่ช้ามาก ๆ ประชาธิปไตย ยุคใหม่ เราจะกลับมาในยุคที่โดยตรงที่เป็นของทุกคนเป็นพลเมืองโลก เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง จากที่ต่างๆของโลก จะมีการกำหนดแนวทางทางการเมืองแน่นอน เพียงแค่มีมือถือสมาร์ทโฟนเท่านั้น" อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าว

         ในโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้มีการตรวจสอบข่าวปลอมกันเอง อย่างเพจดาร์กต่างๆ เป็นต้นว่าเรื่องไหนจริงไม่จริง ตอนนี้สังคมกำลังเรียนรู้ ผมเชื่อในประชาธิปไตยในข่าวสาร ในข้อดี ส่วนเรื่องข้อเสียก็ต้องหาทางวิธีจัดการ อย่างเรื่องของ Hate Speech การใช้สิทธิเสรีภาพของเรามีขอบเขตอยู่แล้ว ตราบใดที่ไม่รบกวนผู้อื่น

           มีคนพูดว่าระบอบประชาธิปไตยแล้ว คอรัปชั่นเยอะขึ้น แต่พอไม่มีประชาธิปไตยการคอร์รัปชันยังอยู่ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนตรวจสอบได้ แต่ระบอบมาตรา 44 เราตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย จึงสรุปไม่ได้ระบอบไหนว่าจะมีการโกงน้อยกว่ากัน การที่เรามีสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงข้อมูลแล้วโพสต์ทันที คือเครื่องมือตรวจสอบโดยคนไทย พลังจะมหาศาลมากขึ้น นี่คือ Smart Democracy ที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ใครพูดอะไรไว้ หรือทำอะไรไว้ เช่น นายกฯ ที่เดี๋ยวก็พูดว่าเป็นนักการเมือง เดี๋ยวก็กลับเป็นทหาร

           "ผมมองว่า ขาลงของ คสช. มี 3 เรื่องคือ 1. นักเรียนเตรียมทหารที่ตาย 2.เรื่องนาฬิกา 25 เรือน  3.การเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ด้วยเรื่องแบบนี้โลกออนไลน์มีพลังคอยกดดันในประเด็นต่างๆ เราเห็นประโยชน์ของมันแล้ว" นายปริญญากล่าว

          นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ ชื่อดังนามปากกา "ใบตองแห้ง" กล่าวว่า ปรากฎการณ์โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มักมีวิธีคิดที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ และสะท้อนเป็นพลังมากกว่าสื่อ มากกว่านักการเมือง หรือนักวิชาการเอง โดยปรากฏการณ์นี้มีทั้งด้านดี และด้านที่น่ากลัว ในส่วนด้านที่ดี ก็ยกตัวอย่างกรณีนายเปรมชัย ถ้าเป็นเมื่อก่อน พาดหัวข่าวบนหนังสือพิมพ์ จับเปรมชัย ซึ่งก็งั้น ๆ แต่ตอนนี้ลงในโซเชียลภาพเปรมชัยนั่งล่าสัตว์กลางป่า พริบตาเดียวไปทั้งประเทศ จึงเป็นพลังที่ใหญ่  อย่าประเมินต่ำ ! พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย 

           ยังมีข้อสังเกตว่าปรากฎการณ์นี้กล่าวมาพร้อมกระแสของสื่อหลักเข้าสู่ช่วง ที่ตนคิดว่าดับแน่นอน ขึ้นอยู่ว่าใครจะดับก่อนกัน เพราะสื่อหลักมีชีวิตอยู่ได้เพราะละครเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องข่าวสาร ภาวะเช่นนี้สื่อหลักเองก็ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่มีความสามารถในการสังเคราะห์ที่เป็นระบบ เช่นข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีค่า ยกระดับขึ้นมาให้รอบด้าน ตอนนี้แปลว่าสื่อกระแสหลักกับเอาใจโซเชียล เรามีทีวียี่สิบกว่าช่อง มีข่าวไม่กี่ช่อง แค่ขายข่าวแข่งกันสัมภาษณ์ อย่างคดีหวย30 ล้าน ทุกช่องแข่งกันหมด หรือนาฬิกาหรู สื่อไม่มีความสามารถในการสืบสวนสอบสวนต่อไปแล้ว ปรากฏว่าเพจ CSI LA เผยแพร่ภาพถ่ายตอนแรกสื่อหลักไม่คิดด้วยซ้ำ แต่ในโลกออนไลน์จับได้ว่านาฬิกาแพง จึงเป็นประเด็นขึ้นมา

           "ประเด็นของผมมีคำถามว่าพลังโชเชียลเปลี่ยนการเมืองได้หรือยัง ผมคิดว่าไม่เปลี่ยนทันที ยังสะเปะปะอยู่ มองจริง ๆ มันสร้างกระแสอารมณ์คนขึ้นมา อารมณ์คนที่เกิดความรู้สึกจะตัดสินไปแล้ว บนพื้นฐานความรู้สึกแล้วคิดว่าจะถูก แต่พอตัดสินปุ๊บ จะเป็นกระแสว่าถูกแล้วต้องเอากันให้ตายให้ได้ดังใจ  ยิ่งทำยิ่งสะใจ และไม่ฟังความรอบข้าง"นายอธึกกิตกล่าว

           ขอยกตัวอย่างเช่นกรณีคุณเปรมชัย ตนไม่เถียงอะไรในเรื่องนี้ แต่ขำประเด็นบริษัท อิตาเลียนไทย ไปตัดต้นไม้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งที่เรื่องจริงตามแผนการก่อสร้างต้องตัดต้นไม้อยู่แล้ว นี่คือกระแสนี้มีความสุดโต่ง หรือกรณีป้าทุบรถ สะท้อนว่ารัฐล้มเหลว คนเชื่อถือในขวานศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าคำสั่งการของศาล ก่อให้เกิดกระแสโซเชียลเรียกร้องให้รัฐ ใช้อำนาจสุดขั้วแก้ปัญหา เพราะระบบราชการปกติจะเช้าชามเย็นชาม ถ้าไม่มีใครจี้ก็ไม่ทำ พอมีดราม่า ขึ้นมา ก็จะไปแก้ไขเลย และบางทีทำจนเกินปกติ จนไปตอบระบบอำนาจนิยมในตัว ซ้ำร้ายจะเป็นปัญหาที่จะกลับไปสู่ภาวะปกติลำบาก

         นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand กล่าวว่า ถ้าเราคิดว่าสิ่งใดก็ตามต้องเป็นกระแสก่อนถึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องคิดเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งถ้ามองถึงความเป็นสื่อเวลาเรารับสื่อจากใคร สื่อมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างนั้นแล้วคงมีคำถามว่าแล้วสื่อเกิดอะไรขึ้นที่ไม่สามารถผลิตสื่อออกมาเป็นแบบเดียวกันได้ ตนเห็นคำกล่าวที่ระบุว่า คนทุกคนเป็นสื่อได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทำสื่อคุณภาพได้ แต่ถ้าสื่อกระแสหลักทำคุณภาพข่าวได้เท่ากับคนทั่วไป ก็คงเป็นเรื่องถูกแล้วที่สื่อจะเจ๊ง ที่ผ่านมาสื่อในไทยถ้าบอกว่าต้องทำข่าวที่มีคนดูเยอะ ๆ แล้วจะได้ขายโฆษณา แต่ถ้าสื่อบอกว่าการทำข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะใครคือคนที่ควรจะจ่ายเงิน ก็คงเป็นประชาชนเพราะประชาชนจะได้ประโยชน์

         นายปราบ กล่าวว่า เราเห็นกระแสในโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด แต่เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งคนรุ่นใหม่มองแค่พลังโซเชียลมีเดียไม่พอ จึงเกิดปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง คือเขาไม่ได้มองว่าจะต้องสร้างกระแสเยอะ ๆ แต่ต้องมีคนที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ถ้าในอนาคตเรามีนักการเมืองที่มองเห็นและให้คุณค่ารายชื่อที่ล่ากันในออนไลน์ว่ามีตัวตน

         หากเป็นเช่นนี้การเคลื่อนไหวออนไลน์จะมีความหมายและสามารถส่งผลถึงการเมืองได้ ในเมื่อการใช้อินเทอร์เน็ตรับรู้ข่าวสาร และการตัดสินใจเรื่องราวหลาย ๆ เรื่อง แต่ทำไมการเลือกตั้งเรายังไม่มีระบบที่ว่าอยู่ที่ไหนก็ได้แล้ว ใช้ความเป็นพลเมืองโลก และสัญญาชาติออกสิทธิเลือกตั้งได้ในทุกที่ แล้วมีระบบกลไกที่ตรวจสอบสิทธินั้นว่าเป็นจริงได้ อย่างไรแล้วสมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าการเมืองไม่สามารถสอดรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้  อย่าประเมินต่ำ ! พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย 

          ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง เป็นประชาชนต้องพูดถึงนโยบาย แล้วถ้าประชาชนรวมตัวกันใช้โซเชียลเดียในการผลักดันเป็นนโยบาย แต่ถ้านโยบายนั้นไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเป็นอย่างไร และถ้ารัฐบาลยังใช้กลไกในการห้ามปราม จับกุม หรือโจมตีต่าง ๆ แล้วพลังโซเชียลมีเดียจะไปได้ไกลแค่ไหน สุดท้ายคนรุ่นใหม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองช่วงชิงอำนาจรัฐในการตัดสินใจอนาคตประเทศ

        "สังคมไทยต้องพูดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ผมคิดว่าถ้าการแก้ปัญหาแบบซ้ำ ๆ มันไปต่อไม่ได้ วิธีการแก้ปัญหามันไม่สามารถพาประเทศไทยไปไหนได้ก็วางมือเถอะ ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณเหนื่อยที่จะแก้ปัญหาให้ออกจากวงจรเหล่านี้ได้ก็วางมือให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เป็นคนที่จะอยู่ในประเทศนี้ต่อ ถ้าวิธีการแก้ปัญหา หรือคุณก็พยายามที่จะแก้ปัญหามา 4 ปีแล้วมันไม่เวิร์ก ก็วางมือเถอะให้คนอื่นมาแทน" ผู้ก่อตั้งโครงการ Rethink Thailand กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ