ข่าว

โดมิโน่วิกฤตการเมือง เว้นลักษณะต้องห้าม ป.ป.ช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เจษฎ์" เชื่อเป็นโดมิโน่วิกฤตการเมือง หลังศาลรธน. การันตีเว้นลักษณะต้องห้ามป.ป.ช.ไม่ขัดรธน. ชี้ "ศาลรธน." ตีความโดยแยกส่วนรธน. ไม่คำนึงเจตนารมณ์-สาระรวม

 

          12 มี.ค. 61 - นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวล หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยของให้สิทธิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขียนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันแลปราบปรามการทุจริต ละเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานของการเขียนกฎหมายลูกที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากมองประเด็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้หลักการแยกส่วนของสาระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาพิจารณา , ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในอนาคตหากจะมีคนที่อาศัยช่องว่าของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กรใช้เขียนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้ ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติในอนาคตได้

          "แม้ว่าสนช. จะมีอำนาจเขียนกฎหมายลูก แต่สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณารายละเอียดที่ไม่ขัดหรือแย้ง หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายแม่บท แต่ในชั้นนี้ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญคือจุดสุดท้ายที่จะดูข้อกฎหมายเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งความเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่เลือกปฏิบัติ และรักษาสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว อาจถูกตั้งคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ปกป้องหรือพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่" นายเจษฎ์ กล่าว

          นายเจษฎ์ กล่าวต่อประเด็น สนช. ที่ตรากฎหมายที่เข้าข่ายมีปัญหาด้วยว่า อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์โดมิโน่เอฟเฟ็คได้ เพราะหากเกิดกรณีที่มีกลุ่มการเมืองพยายามแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยไม่คำนึงถึงกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะยึดบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถเขียนเนื้อหาในกฎหมายลูกโดยไม่คำนึงถึงสาระหลักของรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นไปได้ว่าอาจนำไปสู่จุดวิกฤตการเมืองในอนาคตได้ เพราะจากประสบการณ์ในอดีตที่กรรมการองค์กรอิสระไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน แม้จะไม่มีประเด็นเรื่องขัดคุณสมบัติ แต่ปัจจุบันที่องค์กรอิสระถูกเว้นลักษณะต้องห้ามเพราะกฎหมายลูกกำหนดไว้อาจจะเป็นประเด็นที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านมา

          "จุดที่แก้ไขขณะนี้ ผมมองว่าประเด็นไปไกลแล้ว หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา ซึ่งเหมือนกับการติดกระดุมผิดเม็ด หรือเลือกทางไปที่ผิดทาง ดังนั้นประเด็นนี้ผมเป็นห่วงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองในอนาคต ใช้ตัวอย่างสนช. ที่ถูกนิยามว่าเป็นคนมีจริยธรรมสูง มีมารยาททางการเมือง คิดหรือทำเพื่อประโยชน์ให้ประเทศและประชาชน มาทำบ้างในภายหลัง" นายเจษฎ์ กล่าว.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ