ข่าว

อัยการระบุ ถ้าสั่งฟ้อง "MBK39" จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รองโฆษกอัยการ" เผย อัยการแขวงปทุมวัน สั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ชี้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.อัยการปี 53 แต่ต้องรอ อสส.ชี้ขาด

มื่อวันที่ 10 มี.ค.61 "นายประยุทธ เพชรคุณ"  รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ อัยการศาลแขวงปทุมวัน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง 24 ผู้ต้องหา กลุ่มผู้สนับสนุนคนอยากเลือกตั้งชุด MBK 39 ซึ่งถูก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ แจ้งความข้อหาฝ่าฝืน คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ว่า นายเกริกเกียรติ รัฐนวธรรม อัยการเจ้าของสำนวน พิจารณาสำนวนคดีที่มีการตั้งข้อหาผู้ต้องหา รวม 33 คนแล้ว ตามสำนวนมีการเเยกกลุ่มแกนนำ 9 คน ไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เเล้ว 

    ส่วนคดีกลุ่มศาลเเขวงปทุมวัน มีผู้ต้องหาทั้งหมด 24 คน ซึ่งทั้งหมดถูกเเจ้งข้อหาฝ่าฝืน คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ12 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คนในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อัยการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา พิจารณาเเล้วเห็นว่า คดีมีมูลการกระทำของผู้ชุมนุม ในส่วนฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เเต่ก็ยังเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าว หากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง  ตามอำนาจ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบกับ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ.2554

    นายประยุทธกล่าวถึงขั้นตอนต่อไปอีกว่า การสั่งคดีดังกล่าว ยังมีขั้นตอนปฏิบัติที่จะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการศาลแขวงปทุมวันดังกล่าว เสนออธิบดีอัยการคดีศาลเเขวงและอัยการสูงสุดตามขั้นตอนเป็นผู้สั่งชี้ขาดสุดท้าย ซึ่งตาม พ.ร.บ.อัยการฯ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนี้ให้ส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีอีกครั้ง ซึ่งหากอัยการสูงสุดพิจารณาเเล้วมีความเห็นสั่งคดีอย่างไรก็ถือเป็นที่สิ้นสุด อย่างไรก็ดี การมีความเห็นว่าคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสองนั้น อัยการไม่ว่าสำนักงานใดทั่วประเทศ สามารถดำเนินการได้หากเห็นว่าสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ 

    ยกตัวอย่าง คดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ซึ่งเป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทที่ทำให้คนตายเเต่ถ้าได้ความว่าคนขับรถคือพ่อ เเละคนที่ตายคือครอบครัวทั้งภรรยาเเละลูกทั้งบ้าน คนขับรอดคนเดียวเเค่นี้เขาก็ช้ำใจอยู่เเล้ว เเบบนี้อัยการก็จะสั่งไม่ฟ้องเพราะฟ้องไปสังคมก็ไม่ได้อะไร

"รองโฆษกอัยการ" อธิบายถึงการสั่งคดีอีกว่า ก่อนหน้าที่จะมี พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 เเนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ก็มีอยู่ก่อนเเล้ว ในระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 เรื่องการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งเนื้อหาจะมีลักษณะคล้ายกัน เพียงเเต่มาเขียนให้ชัดเจนขึ้นในปี 2553

"คดีอาญาทั่วไปถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องส่ง ผบ.ตร.หรือผู้บัญชาการภาค ให้ทำความเห็น หากตำรวจยังเห็นเเย้งถึงส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด เเต่ถ้าเป็นความผิดประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะกฎหมายเขียนให้ อัยการสูงสุด ที่มีอำนาจสั่งคดีสูงสุด เป็นคนสั่งคดีเองจึงไม่ต้องส่งให้ใครทำความเห็นเเย้งส่งมาอีก " รองโฆษกอัยการ กล่าวย้ำ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ