ข่าว

จบแล้ว!ศาลฎีกาจำคุก 3-9 เดือน คดี "พธม."บุก "เอ็นบีที"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จบแล้ว 10 ปี คดี" พธม."บุก "เอ็นบีที" ศาลฎีกาตัดสินจำคุกจำเลย 84 คน 3-9 เดือน

         ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 21 ก.พ.61 เวลา 13.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 หลังจากเลื่อนการอ่านมาแล้วถึง 3 ครั้ง

        โดยคดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย ,การ์ดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และผู้ชุมนุม พธม. เป็นจำเลยที่ 1-85 ในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535

           ตามฟ้องอัยการเมื่อวันที่ 17 พ.ย.51 ระบุพฤติการณ์จำเลยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 22 - 26 ส.ค.51 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จำเลยทั้งหมดพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต

         และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ น.ส.ตวงพร อัศววิไล และ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่สำนักงาน

         จำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี 

        อย่างไรก็ดีระหว่างพิจารณาคดีปรากฏว่า "นายมานิต อรรถรัฐ" จำเลยที่ 42 หลบหนีคดี ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวมา ปัจจุบันคงเหลือจำเลยที่ต้องมาฟังคำพิพากษา รวม 84 ราย

        โดยวันนี้ จำเลยที่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา คนละ 200,000 บาท นั้น ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาทั้งสิ้น 79 คน 

       ส่วน 5 คนที่ไม่ได้เดินทางมาศาลในวันนี้ ประกอบด้วย นายจีรวัฒน์ คงหนู จำเลยที่ 31 , นายประเสริฐ ด้วงทิพย์ จำเลยที่ 37, นายวีระศักดิ์ บรรจงช่วย จำเลยที่ 59, นายวันชัย รักษายศ จำเลยที่ 78 และนายวิธวัช สืบกระพันธ์ จำเลยที่ 84 

         โดยจำเลยที่ 31 ยื่นขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากอ้างว่าป่วยท้องเสียต้องให้น้ำเกลืออยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.พัทลุง โดยมีใบรับรองแพทย์และตารางการจองตั๋วเครื่องบินมาแสดง แต่ศาลเห็นว่าอาการป่วยของจำเลยไม่ถึงขั้นไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงเห็นว่าเป็นการประวิงเวลา ไม่อนุญาตให้เลื่อน

        ส่วนจำเลยที่ 37 ก่อนหน้านี้ได้แจ้งอาการป่วยเส้นเลือดในสมอง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้นั้น ศาลได้เคยออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษาไว้แล้ว เนื่องจากยังไม่เชื่อว่าจำเลยมีอาการป่วยถึงขั้นที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยศาลเห็นว่าจำเลยทั้งห้ามีพฤติการณ์หลบเลี่ยงที่จะไม่มาศาล ศาลจึงให้อ่านคำพิพากษาของจำเลยทั้งหมดในวันนี้ทันที

         ซึ่ง "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุนั้น กลุ่ม พธม.ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  โดยแกนนำปราศรัยว่าจะไปปิดล้อมสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าจะมีการยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีในวันที่ 26 ส.ค.51 จึงนำกำลังไปดูแลรักษาความปลอดภัย

          ต่อมาในเวลา 04.30 น. พวกจำเลยใส่ชุดดำไปรวมตัวกันและบุกรุกเข้าไปภายในอาคารสถานีเวลา 05.00 น. พร้อมพกพาอาวุธไม้แหลม กระจายกำลังไปตามชั้นต่างๆ ตำรวจจึงเข้าจับกุมได้พร้อมอาวุธ และต่อมาเวลา 08.00 น. ก็มีผู้ชุมนุม พธม.กว่า 10,000 คน บุกรุกเข้าไปบริเวณสถานี แล้วออกจากสถานีในเวลา 18.00 น.

         โดยคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาซ่องโจร เนื่องจากจำเลยมีการรวมตัวกันเปิดเผย แบ่งหน้าที่กันทำ มีการแต่งกายชุดดำและถืออาวุธ เป็นการรวมตัวกันโดยสมัครใจบุกเข้าไปในสถานี พร้อมกระจายกำลังไปค้นหาเจ้าหน้าที่ของสถานีให้ยุติการปฏิบัติงาน เป็นการวางแผนเตรียมไว้ 

         "ศาลฎีกา" พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่พยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยได้ประชุมปรึกษาหารือวางแผนร่วมกันที่ไหนอย่างไร อาจเป็นการทำตามคำสั่งแกนนำ จำเลยทั้ง 85 รายบุกรุกโดยไม่มีผู้นำ แม้จะมีการแสดงออกเปิดเผยแต่งกายลักษณะเดียวกัน อาจเกิดจากการแนะนำกันโดยไม่ได้ร่วมปรึกษาหารือ เป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง ทำโดยสถานการณ์บีบบังคับ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอว่าจำเลยกระทำผิดฐานซ่องโจร ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

           ส่วนที่จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 43-46 , 48-80 และ 82 ยื่นฎีกา ผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา การริบอาวุธ การขอให้รอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา โดยระบุว่าไม่มีเจตนาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ข่มขืนใจประทุษร้าย หลังจากเข้าไปในสถานีแล้วเจ้าหน้าที่ของสถานียังสามารถทำงานได้ตามปกติ

           ส่วนจำเลยที่ 1 ระบุว่าพกปืนติดตัวไปเฉยๆ ไม่ได้ใช้ในการก่อเหตุ

          ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 บัญญัติไว้ ศาลฎีกาจึงไม่รับคำฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน

          ให้จำคุก นายธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน, นายเมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 8 เดือน, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าการ์ดเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จำเลยที่ 14 กับจำเลยที่ 2-13, 15-23, 25-29, 31-41, 43– 46, 48 - 80, 82 รวม 76 ราย จำคุกคนละ 6 เดือน แต่ศาลยังให้รวมโทษปรับนายชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2, นายจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับนายธนพล แก้วเชิด จำเลยที่ 80 ในความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกคนละ 500 บาท

           ส่วนนายอัมรินทร์ ยี่เฮง จำเลยที่ 48 ยังให้บวกโทษคดีนี้กับคดีอื่นอีก 3 เดือน จึงจำคุกรวม 9 เดือน และนายประดิษฐ์ คงช่วย จำเลยที่ 70 ก็เช่นกัน ให้บวกโทษกับคดีอื่นอีก 2 เดือน จึงจำคุกรวม 8 เดือน

          สำหรับกลุ่มที่เป็นเยาวชนขณะกระทำความผิด ประกอบด้วยจำเลยที่ 30, 47, 81 นั้น ซึ่งระหว่างกระทำผิดอายุยังไม่เกิน 20 ปี ให้จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 ระหว่างกระทำผิดยังเป็นเยาวชน ให้จำคุกคนละ 3 เดือน

          ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกทั้งหกรายจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี

         ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง

          สำหรับจำเลยห้ารายที่ไม่มาศาลนั้น ประกอบด้วยจำเลยที่ 31, 37, 59, 78, 84 ศาลให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของตน

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็ได้ควบคุมตัวจำเลยรวม 73 คนซึ่งเป็นชาย 69 ราย ขึ้นรถเรือนจำเพื่อไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที ส่วนจำเลยที่เป็นหญิง 4 ราย เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง

          ขณะที่ถูกควบคุมตัว ทางกลุ่มญาติของจำเลยเกือบ 20 ราย ต่างมายืนรอให้กำลังใจระหว่างถูกส่งตัวขึ้นรถเรือนจำ โดยกลุ่มญาติบางรายตะโกนบอกว่าจะไปเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น ส่วนจำเลยบางรายยังยิ้มให้และโบกมือทักทายกับกลุ่มญาติ 

         สำหรับ จำเลยที่เป็นเยาวชนอีก 6 ราย ซึ่งศาลให้รอลงอาญา 2 ปีนั้น ก็ได้เดินทางกลับพร้อมญาติ

         อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ให้จำคุกนายธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 18 เดือน, นายชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29, 31-38, 40-41, 43-46, 48-79, 82 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน , นายเมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 1 ปี 12 เดือน และนายจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับนายธนพล แก้วเชิด จำเลยที่ 80 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47, 81 จำคุกคนละ 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 9 เดือน 

        แต่ระหว่างกระทำผิดจำเลยที่ 30, 47, 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษ จำเลย 30, 47, 81, 83, 84, 85 มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี

         แต่เมื่อโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.57 ให้ลดโทษจำเลย 84 ราย โดยจำคุกคนละ 3-9 เดือน และส่วนที่เป็นเยาวชนให้รอการลงโทษไว้ดังกล่าว

          สำหรับจำเลยทั้ง 85 คนประกอบด้วย 

         1.นายธเนศร์ คำชุม

         2.นายชนินทร์ อินทร์พรหม
         3.นายสุธรรม จันทร์วงษ์
         4.นายสัญญา สุขเกื้อ
         5.นายจำแลง คุ้มสังข์
         6.นายปัญญาเดช เอกภาณุพัตร์
         7.นายมนตรี แซ่ลิ้ม
         8.นายสมถวิล แซ่เอี้ย
          9.นายวุฒิชัย ช่วยบุยชู
         10.นายมนัส สีสายหูด
         11.นายยุทธนา โอชาพงค์
         12.นายธนพัฒน์ วิไลภรณ์
         13.นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
         14.นายนนัสเซอร์ ยี หมะ อดีตหัวหน้าการ์ด คปท.
         15.นายสุรชัย สุทธิวรานนท์
         16.นายชัชวาล จันชนะพล
         17.นายสัมพันธ์ อ่อนช่วย
         18.นายสหัส ทองวิจิตร
         19.นายบัญชา ดีบรรจง
         20.นายเฉลิม โลกภิบาล 
         21.นายวิชาญ หยะอัด
         22.นายทรงวุฒิ จุลษร
         23.นายกิตติกร ขุนศรี
         24.นายเมธี อู่ทอง
         25.นายธีรพร ชูเมือง
         26.นายสมเกียรติ รัตนพันธ์
         27.นายนพดล เอี่ยมอุดม
        28.นายศุภชัย สมทอง     
         29.นายบุญฤทธิ์ เชิญทอง
          30.นายคฑาวุธ ชูศรี
          31.นายจีรวัฒน์ คงหนู
         32.นายพิเชษฐ์ ด้วงช่วย
         33.นายวิเชียร เขียวเล็ก
         34.นายสุรินทร์ แก้วหัวไทร
         35.น.ส.อนัญชญา เพ็ญพลกรัง
         36.นายสุรสิทธิ์ แย้มประชา
         37.นายประเสริฐ ด้วงทิพย์
         38.นายดำรงศักดิ์ จันทพันธ์
         39.นายจรัส วีระพันธ์
         40.นายอำนวย เพชรเส้ง
         41.นายจรัญ หนูสังข์
         42.นายมานิต อรรถรัฐ
         43.นายสมโชค จันทร์แก้ว
         44.นายประสงค์ ตรัยรัตน์
         45.น.ส.แก้วกาญ แพสุวรรณ์
         46.นายกฤษฎา มณีพรหม
         47.นายศตวรรษ จอนทอง
         48.นายอัมรินทร์ ยี่เฮง
         49.นายสุรเดช วราภรณ์
         50.นายสาโรจน์ ดุลยคง
          51.นายภิชัย ทองนวล
         52.นายปราโมทย์ พุทธขาว
         53.นายประจิตร นุ่นหอม
         54.น.ส.สายใจ มณีอุปถัมภ์
         55.นายอดิลักษณ์ อนุชาติ
         56.นายคำรณย์ อู้สกุลวัฒนา
         57.นายธัชชัย ทองจิตร
         58.นายนพดล ขาวเรือง
         59.นายวีระศักดิ์ บรรจงช่วย
         60.นายรอย บุญนิล
         61.นายสุนทร รักษายศ
         62.นายประสิทธิ์ มากแก้ว
         63.นายพรชัย บรรจงช่วย
         64.นายคมชิต พุฒดำ
         65.นายสมพงศ์ สารมาศ
         66.นายณรงค์ บัวใหญ่
         67.นายเดโช มะลิลา
         68.นายกะวี ยิ้มละไม
         69 น.ส.วรรณวิมล แพสุวรรณ
         70.นายประดิษฐ์ คงช่วย
          71.นายวุฒธิไกร สังข์แก้ว
          72.นายวิเชษฐ์ คงจันทร์
         73.นายอำไพ สิริชยานนท์ 
          74.นายสุริยา สกุณา
          75.นายสุนทร สุวรรณ
          76.นายสุเทพ สุวรรณ
          77.วิชัย อินทร์พรหม
          78.นายวันชัย รักษายศ 
          79.ไพศาล สุขแก้ว
          80.นายธนพล แก้วเชิด
          81.นายสุธี จันทวงศ์
          82.นายสมเกียรติ หนูใหญ่
          83.นายวรานนท์ สุวรรณชาตรี
          84.นายวิธวัช สืบกระพันธ์ 
          85.นายสมเกียรติ ดวงมณี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ