ข่าว

 "มีชัย" ชี้ ร่างพ.ร.ป. 2 ฉบับ ไม่สอดคล้อง รธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มีชัย" ชี้ ร่างพ.ร.ป. 2 ฉบับไม่สอดคล้อง รธน. เตรียมตั้งทีมศึกษาก่อนส่งความเห็นแย้ง 9 ก.พ. แจงยิบเนื้อหา ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ที่ถูกแก้ หากไม่รอบคอบ กระทบไพรมารี่โหวต

 



          1 ก.พ.61 - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ. ได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยจากนี้ กรธ. จะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาแยกรายฉบับ ทั้งนี้ตนตอบไม่ได้ว่าจะทำความเห็นโต้แย้งเพื่อนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมหรือไม่ เพราะต้องรอฟังความเห็นจากที่ประชุม กรธ.และพิจารณารายละเอียดที่ถูกปรับแก้ไปเป็นจำนวนมากก่อน ซึ่ง กรธ.มีเวลาพิจารณาจนถึงวันที่ 9 ก.พ. นี้

 

          นายมีชัย ให้ความเห็นด้วยว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สนช. ปรับแก้ไขมาตร า2 ว่าด้วยระยะเวลาที่กฎหมายใช้บังคับ จากเดิมให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็น 90 วัน ตามเหตุผลของ สนช. นั้นรับฟังได้ แต่จำเป็นต้องดูรายละเอียด อาทิ การยกเว้นให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถออกระเบียบหรือคำสั่งที่ใช้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่ หากไม่ยกเว้นให้กระทำได้ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะเกิดความยุ่งยาก และปัญหากับพรรคการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) เพื่อหาตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้ง ลงสมัคร ส.ส. 

 

          "ก่อนจะทำไพรมารี่โหวต พรรคต้องจัดประชุมพรรค หาสมาชิกในเขตให้ครบจำนวนที่สามารถทำไพรมารี่โหวตได้ แล้วจัดเลือกตั้งขั้นต้น เมื่อเสร็จต้องส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกของพรรค หากมีข้อขัดแย้ง หรือ คณะกรรมการไม่เห็นด้วย ต้องส่งกลับให้ไปทำใหม่อีก แต่ตอนนี้พรรคยังประชุมไม่ได้ อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ กกต. ต้องออกระเบียบเพื่อรองรับขั้นตอนและกลไกทำไพรมารี่โหวตอีกด้วย ดังนั้นหากไม่เตรียมการให้ดี อาจมีแค่ 2-3 พรรคที่สามารถทำไพรมารี่โหวตและส่ง ส.ส. ลงเลือกตั้งได้เท่านั้น หรือ พรรคอาจทำไพรมารี่โหวตได้แต่ไม่ทัน ทำให้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ไม่ครบทุกเขต เป็นต้น" นายมีชัย กล่าว


          นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ขณะที่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามประเด็นที่สนช. แก้ไข อาทิ การกำหนดกลุ่มผู้มีสิทธิสมัคร จำนวน 10 กลุ่ม จากเดิมที่ กรธ.เสนอ 20 กลุ่ม, กำหนดประเภทสมัคร ที่มาจากการเสนอชื่อโดยองค์กรนิติบุคคล หรือ อิสระ จากเดิมที่กรธ. กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิสมัครได้ , วิธีการเลือกกันเอง ที่แก้ไขเหลือเพียงเลือกกันเองในกลุ่มเท่านั้น อาจเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาและอธิบายถึงความมุ่งหมายในเจตนาของ กรธ. ที่ต้องการให้ ส.ว. เป็นสภาของประชาชนมากกว่า ส.ว.ในความหมายผู้ทรงคุณวุฒิ และในรัฐธรรมนูญมาตราว่าด้วย ส.ว. มีเจตนารมณ์หลัก คือ บุคคลที่จะเป็น ส.ว. ต้องทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม และการแบ่งกลุ่มต้องให้ประชาชนได้รับสิทธิสมัครได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การปรับลดกลุ่ม การแก้ไขวิธีการเลือก หรือ จำกัดการสมัคร ผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนวิธีการเลือก ส.ว.นั้น กรธ. พยายามออกแบบกลไกเพื่อไม่ให้เกิดการสมยอม อีกทั้งยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองแทรกแซงผ่านผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนพรรค ซึ่งยอมรับว่าเป็นหลุมพรางที่กรธ. เขียนไว้ และหากพรรคยังดำเนินการแทรกแซงมีสิทธิถูกยื่นยุบพรรคได้

 

          "การรับฟังความเห็นของประชาชนก่อนทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น กรธ. นำฐานของการแบ่งกลุ่มที่ 20 กลุ่มไปรับฟังความเห็น และอธิบายให้ผู้คนรับทราบว่า อาชีพต่างๆ สามารถจัดกลุ่มได้ทั้งหมด 19 กลุ่ม และมีกลุ่มอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสให้บุคคลมีสิทธิสมัครเป็น ส.ว. ได้ ถ้าแบ่งต่ำไปกว่านี้โอกาสที่บุคคลจะได้เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพจะเหลือน้อย และยิ่งแบ่งประเภทการสมัคร เท่ากับว่าผู้ที่ลงสมัครในนามองค์กรที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรนั้นก็ได้ และยิ่งกำหนดให้มาจากอิสระ 100 คน มาจาก องค์กร 100 คน อาจทำให้ ส.ว. ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกกลุ่มอาชีพ ดังนั้นประเด็นเหล่านี้อาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ" นายมีชัย กล่าว

 

          เมื่อถามว่า ปัญหาในร่างกฎหมายที่ต้องทบทวนอาจเป็นปัจจัยทำให้การเลือกตั้งถูกล้มกระดานหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนที่หลายฝ่ายประเมินว่า หากร่างกฎหมายมีความขัดแย้ง ทั้ง กมธ. ร่วม และส่งไปสนช. อาจถูกโหวตคว่ำนั้น ตนตอบไม่ได้ แต่หากเกิดขึ้น สนช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ.


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ