ข่าว

ศาลปค.สูงสุด สั่งตำรวจ ชดใช้สลายม็อบพธม.ปี 51 (ละเอียด)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ตร.บกพร่องใช้แก๊สน้ำตาซื้อประสิทธิต่ำ ยิงสลายม็อบจนปั่นป่วน แต่เหตุเกิดจากชุมนุม ลดยอดจ่าย 7 พัน-4 ล้าน จากเดิม 8.9 พัน-5 ล้าน

 

          ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 31 ม.ค.61 เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีแนวร่วม พธม.ฟ้องชดใช้การสลายม็อบ 7 ต.ค.51 ในคดีหมายเลขดำ 1569/2552 ที่ "นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ" กับแนวร่วมชุมนุม พธม.รวม 250 ราย ซึ่งเป็นประชาชนที่สูญเสียอวัยวะสำคัญ และได้รับบาดเจ็บ จากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 11 คนฐานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีในฐานะผู้ร้องสอด ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหาย จากกรณีที่เจ้าหน้าตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม พธม. ที่ล้อมบริเวณรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ได้นำอาวุธชนิดต่างๆที่มีอันตรายมาในการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานสากลจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต   

 

          โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ต.ค.55 วินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องและผู้ร้องสอด จึงพิพากษาให้ ตร.และสำนักนายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ร่วมกัน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องและผู้ร้องสอด รวม 254 ราย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้รับความเสียหายตาม มติ ครม.วันที่ 10 ม.ค.55 เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมให้หารเยียวยาละฟื้นฟูเหยื่อ และผู้เสียหายตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง

 

          ซึ่งศาลปกครองกลาง เห็นควรให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนตั้งแต่ 8,900 บาท ถึง 5,190,964.80 บาทประกอบด้วยผู้ฟ้องที่ 1 เป็นเงิน 5,190,964.80 บาท , ผู้ฟ้องที่ 2 จำนวน 2,250,650 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 3 จำนวน 1 แสนบาท , ผู้ฟ้องที่ 4 จำนวน 160,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 5 เป็นเงิน 256,435 บาท , ผู้ฟ้องที่ 6 จำนวน 3,711,894 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 7 จำนวน 30,000 บาท , ผู้ฟ้องที่ 8 จำนวน 3,053,363 บาท ,ผู้ถูกฟ้องที่ 9 จำนวน 3,303,540 บาท , ผู้ฟ้องที่ 10 จำนวน 165,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 11 จำนวน 120,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 12 จำนวน 524,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 13 จำนวน75,000 บาท , ผู้ฟ้องที่ 14-19 และ 22 รวม 7 รายๆละ 50,000บาท ,ผู้ฟ้องที่ 20 จำนวน 155,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 21 จำนวน 70,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 23 จำนวน 300,000 บาท,ผู้ฟ้องที่ 24-25 รายละ120,000 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 28 จำนวน 1,942,710 บาท ,ผู้ฟ้องที่ 29 จำนวน 120,840 บาท

 

          ส่วนผู้ฟ้องที่ 26-27, 30-32 , 33-44 , 46-54 , 55-133 , 135-250, และผู้ร้องสอดที่ 2 , 4 , 5 , 7 , 10 ซึ่งเป็นผู้เสียหายด้วยอีก 5 รายๆละ 50,000 บาท และผู้ฟ้องที่ 134 จำนวน 8,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 ต.ค.52 จนกว่าจะทำการชำระเสร็จ โยให้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องและผู้ร้องสอดใดๆได้รับเงินทดแทนเยียวยาความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐตามมติ ครม.ในวันที่ 10 ม.ค.55 ไปแล้ว ยังให้มีสิทธิรับค้าทดแทนส่วนที่เหลือตามคำพิพากษาได้และหากภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ผู้ฟ้องหรือผู้ร้องสอดรายใดยังต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ศาลยังสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาส่วนนี้เพิ่มเติมได้

 

          ส่วนนายประเสริฐ แก้วกระโทก ผู้ฟ้องที่ 45 ซึ่งอ้างว่าได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมนั้น ข้อเท็จจริงจากมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินระบุว่าผู้ฟ้องถูกกลุ่มเสื้อแดงดักทำร้ายขณะรถติดไฟแดง ที่ถนนวิภาวดีซอย 3 ด้วยอาวุธไม้ท่อนทุบตี และใช้มีดฟันมือ เบื้องต้นมูลนิธิได้จ่ายค่ารักษาให้จำนวน 90,000 บาท เมื่อกรณีไม่ได้ถูกกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลจึงไม่กำหนค่าเสียหายให้ และพิพากษาให้ยกฟ้องในส่วนของนายประเสริฐ ส่วนผู้ร้องสอดอีก 6 รายศาลปกครองกลางไม่รับคำร้อง

 

          ต่อมา "คู่ความทั้ง 2 ฝ่าย" ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง "ศาลปกครองสูงสุด" วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรี นำ ครม.เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว ผู้ถูกฟ้องทั้งสองย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ แต่ทั้งนี้การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายระเบียบและขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ ดังนั้นไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องทั้งสองย่อมไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายระเบียบและขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสมได้

         

          ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำ 1605/2551 อันเป็นคดีที่ผู้ชุมนุมบางรายยื่นฟ้องขอให้ยุติการใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุมและมีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวขอให้ห้ามการกระทำดังกล่าวในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่าการชุมนุมหน้ารัฐสภามิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล เมื่อการสลายการชุมนุมมีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากไม่ได้รับการแจ้งเตือน จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองให้หากจะกระทำการใดๆ ต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสมมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล และศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าหลังเกิดเหตุคดีนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง


          ศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ปรากฏตามรายงานดังกล่าวได้ โดยพยานให้ถ้อยคำว่าหลักในการควบคุมฝูงชนมี 2 วิธี คือ 1.เจรจา 2.เจรจาไม่ได้ผลจึงใช้กำลังโดยให้เจ้าหน้าที่นำโล่และแก๊สน้ำตาติดตัวไปโดยไม่มีกระบอง

 

          โดยขั้นตอนการปฏิบัติ คือ 1.ใช้กำลังผลักดัน 2.รถฉีดน้ำ 3.แก๊สน้ำตา 4.กระสุนยาง 5.ยิงปืนแหจู่โจมจับแกนนำ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตาตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด โดยพยานให้ถ้อยคำว่าได้ประสานขอรถดับเพลิงไปยังกรุงเทพมหานครแล้วแต่ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา โดยปรากฏว่าได้มีการขอรถไฟฟ้าส่องแสงสว่างและรถดับเพลิงไปยัง กทม. ตามหนังสือวันที่ 19 ก.ย.51 แต่ไม่มีการเร่งรัดใดๆ และมีหนังสืออีกครั้งหนึ่งตามหนังสือลงวันที่ 7 ต.ค.51 อันเป็นวันเกิดเหตุทั้งๆ ที่ตำรวจได้ทราบก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะมีการชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาและเป็นการขอรถดับเพลิงหลังจากผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมวลชนมาที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 6 ต.ค.51 แล้ว

         

          และถึงแม้ "ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง" จะอ้างว่ามีการกระทำความผิดต่อกฎหมาย และตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และอ้างส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวจำนวนหลายคดี แต่ก็ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าวว่าเป็นการกระทำหลังจากตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งแรกเวลา 06.00 น.เศษทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องและผู้ร้องสอดแต่ละรายเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าว โดยข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมได้รับอันตรายแก่ชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในระยะเวลาแตกต่างกันหลายครั้ง หลายสถานที่ ตั้งแต่เริ่มมีการสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น.เศษ ไม่ใช่ได้รับบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากวัตถุระเบิดที่ตนพกพามา

 

          ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง "ศาลปกครอง" มีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรับฟังพยานหลักฐานที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และรายงานของ ป.ป.ช. ได้ แต่ ป.ป.ช. ไม่ได้ส่งสำนวนการไต่สวนต่อศาลโดยแจ้งว่าใช้ในการดำเนินคดีอาญา ศาลจึงไม่อาจรับฟังความเห็นของ ป.ป.ช. ให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองได้ แต่ กสม.ได้ส่งรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดต่อศาล

 

          โดย "กสม." เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ค้ำจุนการบริหารประเทศให้เป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานบุคคลและพยานเอกสารจึงสมควรแก่การรับฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยศาลไม่ได้รับฟังในส่วนที่เป็นความเห็นของ กสม. แต่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการให้ถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็น และเมื่อไม่มีปัญหาโต้แย้งและพยานหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นว่าพยานบุคคลและพยานหลักฐานที่ปรากฏ เป็นพยานหลักฐานเท็จหรือเกิดจากการปรุงแต่งหรือดำเนินการไปโดยกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด "ศาล" จึงสามารถรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้

 

          ส่วนการดำเนินการขององค์กรอื่นๆ และสำนวนการสอบสวนคดีอาญานั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานอื่นๆ โดยสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานใดรับฟังได้พยานหลักฐานใดรับฟังไม่ได้เพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยคดี ถึงแม้การให้ถ้อยคำของผู้ฟ้องและพยานบางรายจะเป็นผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายในคดีนี้ ที่ยืนยันการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตำรวจ ก็ต้องรับฟังการให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง แต่ก็ยังมีกลุ่มสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ซึ่งไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการชุมนุม และไม่ใช่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับตำรวจในสังกัดผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันกับผู้ฟ้องคดีและพยานที่เป็นผู้ร่วมชุมนุม

 

          อีกทั้งพยานทั้งหมดได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ของ กสม.ในช่วงเดือน ต.ค.51 ที่เป็นเวลาใกล้ชิดกับวันเกิดเหตุซึ่งยังจดจำเหตุการณ์ได้ จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริงไม่มีการเสริมแต่งข้อเท็จจริงใดๆ และยังมีการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน มายืนยันในความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วย พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตา โดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้นซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้เป็นแก๊สน้ำตาที่ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนชุลมุนเกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมมากเกินกว่าผลตามปกติที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาที่มีประสิทธิภาพดีและยิงโดยวิธีการที่ถูกต้อง และยังส่งผลเสียหายไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ

 

          ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงข้อบกพร่องของขั้นตอนในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้กับผู้ชุมนุมก่อนการใช้แก๊สน้ำตาและข้อบกพร่องในประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาที่ทำให้ต้องยิงแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อบกพร่องดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ฟ้องและผู้ร้องสอดแต่ละรายจึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิตร่างกายสิทธิและเสรีภาพจึงเป็นการกระทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

 

          " ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1" ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิด จึงต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย

 

          ส่วน "สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2" นั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติ ครม.ที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวก็เป็นไปตามปกติเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น ซึ่งปรากฏตามเอกสารมติ ครม.ว่า ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือนัดประชุมแล้วหากมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยและเป็นอุปสรรคต่อการประชุม หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น "ผู้ถูกฟ้องที่ 1"  สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดนัดหรือสถานที่ประชุมทางรัฐสภาคงต้องปรึกษาหารือกันแล้วแจ้ง ครม.ทราบ และมีมติมอบหมายให้ "รองนายกฯ" ติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยประสานสั่งการ " ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1" หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนายกฯ และ ครม.จึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด โดยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้มีการประชุมแถลงนโยบาย จึงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่มีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและมีระเบียบกฎหมายกำหนดขั้นตอนวิธีการปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

 

          อีกทั้ง เมื่อเริ่มมีการประชุมแล้วและเกิดความเสียหาย ย่อมเป็นอำนาจของ "ประธานรัฐสภา" ที่จะสั่งให้ปิดประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์หรือไม่ จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกฯ และ ครม. แต่อย่างใด ดังนั้น นายกฯ และเจ้าหน้าของผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงไม่ได้กระทำละเมิด ที่ "สำนักนายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2"  หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดแต่อย่างใด

                               

          สำหรับค่าเสียหายนั้น "ศาลปกครองสูงสุด" เห็นว่า กรณีสืบเนื่องมาจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายเสรีภาพและทรัพย์สินซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดแล้วเห็นว่า ค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดสูงเกินส่วน จึงสมควรลดค่าเสียหายลดร้อยละ 20

 

          "ศาลปกครองสูงสุด" จึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ "ตร.ผู้ถูกฟ้องที่ 1" รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องและผู้ร้องสอดแต่ละรายจำนวน ตั้งแต่ 7,120 บาท ถึง 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ยกฟ้อง "สำนักนายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2"  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

 

          ขณะที่ "นายตี๋ แซ่เตียว" หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า วันนี้พอใจมากที่ศาลให้ความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาชีวิตการครองตัวลำบากมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ เนื่องจากยังมีการอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯทำให้ภรรยาต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกกลัวและไม่กล้าที่จะไปชุมนุมทางการเมืองอีก หากอนาคตการบริหารบ้านเมืองเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ก็จะออกมาต่อสู้อีก 


          ด้าน "นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ" กล่าวว่า แม้ว่าค่าสินไหมที่ได้รับเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ทุกวันสภาพร่างกายยังไม่ปกติ ต้องไปพบแพทย์ตรวจติดตามเป็นระยะ และไม่ได้รู้สึกกลัวกับการชุมนุม หากเห็นว่ามีการบริหารบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้องก็จะไปร่วมเคลื่อนไหวอีก 

 

          ส่วน "นายบุญธานี กิตติสินโยธิน" ทนายความผู้ฟ้อง กล่าวว่า หลังจากนี้ สตช.ก็ต้องชดใช้ให้กับผู้เสียหายตามคำพิพากษาภายใน 60 วัน ส่วนที่ศาลยกฟ้อง สำนักนายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ผู้เสียหายก็คงต้องยอมรับเพราะเป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด.

 

 

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ