ข่าว

สั่งคุก-ห้าม "ธาริต" นั่งเก้าอี้ จนท.รัฐ 5 ปี (ละเอียด)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฯ สั่งคุก 3 เดือน - ห้าม "ธาริต" นั่งเก้าอี้ จนท.รัฐ 5 ปี คดีปกปิดทรัพย์สิน พฤติการณ์จงใจ แจ้งเท็จ 4 บัญชีเงินฝาก- หุ้น-ที่ดินปากช่องของตัวเอง-เมีย

 
          ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 19 ม.ค.61 เวลา 09.30 น. นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ อม.177/2560 และองค์คณะรวม 9 คนนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่พ้นจากราชการตามคำสั่งไล่ออก (คำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ สลน. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.60) ผู้คัดค้าน จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หลัง ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิด
 
          โดย ป.ป.ช. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องระบุว่า นายธาริต ผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค.52 อยู่ในตำแหน่งครบ 3 ปีเมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 และพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.57 แล้วได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 ซึ่งผู้คัดค้านไม่แสดงรายการทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากธนาคาร 4 บัญชี , เงินลงทุนในหุ้นบริษัท 2 แห่ง , สิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 2 แปลงของตนเองและนางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ คู่สมรสของผู้คัดค้าน และเงินฝากธนาคารอีก 2 บัญชี ที่ผู้คัดค้านและคู่สมรสทราบอยู่แล้วว่ามอบหมายให้อยู่ในความครอบครองดูแลของนายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ หลานของนางวรรษมล โดยผู้คัดค้านกลับปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว จึงขอให้ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบการกรณีทุก 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ต่อ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 41, 119
 
          นายธาริต ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ เช่นเดียวกับที่ได้ยื่นคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา
 
          ทั้งนี้ องค์คณะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รายการเงินฝากธนาคาร 4 บัญชี ได้แก่ บัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงไทย สาขาซอฟต์แวร์ปาร์ค กว่า 200,000 บาท , บัญชีออมทรัพย์ ธ.กสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 33 กว่า 14,000 บาท , บัญชีออมทรัพย์ ธ.ธนชาติ สาขาบางซื่อ กว่า 1,300 บาท และบัญชีฝากประจำ ธ.ธนชาติ สาขาชิดลม กว่า 4 ล้านบาท
 
          และเงินฝากธนาคารอีก 2 บัญชีที่อยู่ในความครอบครองดูแลของนายปิยฤกษ์ อรรถกานต์รัตน์ หลานของนางวรรษมล ภรรยาของนายธาริต คือ บัญชีออมทรัพย์ ธ.ธนชาติ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารบี กว่า 30,000 บาท และบัญชีฝากประจำ ธ.ธนชาติ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารเอ กว่า 3 ล้านบาท กับเงินลงทุนในหุ้นบริษัท 2 แห่งของนางวรรษมล ภรรยานายธาริต อีกกว่า6 ล้านบาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นั้น ป.ป.ช.ผู้ร้องได้แจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงแล้ว แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย
 
          โดย นายธาริต ผู้คัดค้าน ก็เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ดำรงตำแหน่งระดับสูงซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสดงความโปร่งใสในการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้คนอื่นดูแลทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
          ดังนั้นการไม่แสดงบัญชีธนาคารทั้ง 4 ฉบับที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ทั้งที่มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก กับเงินลงทุนหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งของนางวรรษมล ภรรยา จำนวน 6 ล้านบาทถือว่ามีมูลค่าสูงซึ่งรับโอนมาก่อนวันที่กำหนดยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และยังมีอีกบริษัทที่นางวรรษมล มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คซื้อที่ดินที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาได้ ซึ่งที่ดินทั้ง 2 แห่งก็มีนางวรรษมลเป็นเจ้าของ มีการขอเลขที่บ้าน แสดงให้เห็นว่าบ้านเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สามารถคำนวณมูลค่าได้ แม้ถ้ายังไม่มีสำเนาทะเบียนบ้านก็ต้องแนบภาพถ่ายมาแสดง ขณะที่บัญชีธนาคาร 2 ฉบับของนายปิยฤกษ์ หลานของนางวรรษมลนั้น นายปิยฤกษ์เป็นเพียงนักศึกษาไม่มีรายได้แต่มีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมาก และปรากฏว่านางวรรษมลได้ให้โอนค่าเช่าที่ดินเข้าบัญชีนายปิยฤกษ์ จึงถือเป็นทรัพย์ที่นางวรรษมลและผู้คัดค้านมอบให้หลานดูแล ต่อ ป.ป.ช. ผู้ร้องกรณีทุก 3 ปีที่อยู่ในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ จึงเป็นการปกปิดไม่แสดงรายการแห่งทรัพย์สินของตนเองและนางวรรษมล เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ร้องตรวจสอบพบ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น
 
          องค์คณะผู้พิพากษา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำดังกล่าวของ นายธาริต ผู้คัดค้านเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบทุก 3 ปี ขณะอยู่ในตำแหน่ง อธิบดีดีเอสไอ
 
          จึงพิพากษา ห้าม  นายธาริต ผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 3 เม.ย.60 ที่ได้พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง
 
          และยังมีความผิด ตาม ม.119 อีกด้วย จึงให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือนและปรับ 5,000 บาท ซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี
 
          ขณะที่วันนี้ ทั้งก่อนและหลังฟังคำพิพากษา นายธาริต อดีต อธ.ดีเอสไอ ก็เดินทางไป-กลับโดยพยายามหลบเลี่ยงผู้สื่อข่าวสื่อ และก็ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ
 
          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรณีของ นายธาริต นั้น  ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบทรัพย์สิน กระทั่งชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.59 ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติขณะดำรงตำแหน่งดีเอสไอรวมมูลค่ากว่า 346 ล้านบาท โดยได้อายัดทรัพย์ที่มีชื่อของนายธาริต , นางวรรษมล คู่สมรส และบุคคลที่เกี่ยวข้องถือครองแทนไว้ชั่วคราวก่อนหน้านี้กว่า 90 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งแล้ว ซึ่งทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้กว่า 90 ล้านอยู่ระหว่างรอศาลแพ่ง ไต่สวนพยานฝ่ายนายธาริต ผู้คัดค้าน.

 

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ