ข่าว

"ชทพ." ห่วง กระแสเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ภราดร" ห่วงข่าวปูดเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้ง กระทบภาพลักษณ์-ความเชื่อถือ "บิ๊กตู่"   ประเมินกติกาเลือกตั้ง หากเป็นธรรม-เท่าเทียม นักการเมืองรับได้

           19  มกราคม 2561 –  "ภราดร" ห่วงข่าวปูดเลื่อนโรดแม็พเลือกตั้ง กระทบภาพลักษณ์-ความเชื่อถือ "บิ๊กตู่" ประเมินกติกาเลือกตั้ง หากเป็นธรรม-เท่าเทียม นักการเมืองรับได้

           นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา มองถึงกระแสข่าวที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมขยายเวลาการบังคับใช้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.  ว่าจะกระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อประเด็นการประกาศโรดแม็พเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 แม้กระแสข่าวดังกล่าวยังไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลและแหล่งที่มาได้ แต่หากเกิดขึ้นจริงเชื่อว่าจะทำให้โรดแม็พเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป อย่างไรก็ดีแม้การเขียนผลให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ในช่วงระยะเวลาใด เช่น 90 วันหลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะทำได้ แต่ประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่อความน่าเชื่อในคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าหากเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองนั้น ตนเชื่อว่าเมื่อกติกาเลือกตั้งเขียนไว้อย่างไร นักการเมืองทุกพรรคพร้อมปฏิบัติตาม

          ขณะที่นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวด้วยว่าประเด็นที่ถูกโยนหินถามทางต่อการขยับวันเลือกตั้งสิ่งที่จะกระทบคือภาพลักษณ์ของรัฐบาล ขณะที่พรรคการเมืองนั้นหากกติกาที่ออกมาเป็นไปภายใต้สิ่งเดียวกัน ทุกพรรคมีข้อจำกัดเดียวกัน คงไม่เกิดประเด็นความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และเชื่อว่านักการเมืองรับได้  อย่างไรก็ดีการเขียนร่างกฎหมายนั้นตนขอเรียกร้องไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ของสนช. ให้รับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมือง แล้วนำไปพิจารณาเพื่อเขียนกติกาที่นำไปปฏิบัติไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าบางพรรคได้ประโยชน์หรือบางพรรคเสียประโยชน์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดข้อขัดแย้งขึ้นได้

          ทางด้าน นายสิริพงษ์  อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดในปี 2561 หรือ 2562 คือการคาดการณ์เท่านั้นและไม่ถือเป็นประเด็นไปมากกว่าความชัดเจนของการกำหนดวันเลือกตั้ง  ขณะที่การเขียนกติกาที่บางฝ่ายชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นมุมมองความเห็น แต่การตัดสินในตอนท้ายคือประชาชน เพราะที่ผ่านมาแม้มีการเขียนกติกาเลือกตั้งเพื่อบุคคลใด แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน และช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าจะเป็นบทเรียนของฝ่ายการเมืองเก่าๆ มากขึ้น. 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ