ข่าว

"สุริยะใส"ซัดแผนปรองดอง"คสช."เหลวจะขัดแย้งมากขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุริยะใส" ห่วง "พ.ร.ป.พรรคการเมือง" ต้นเหตุโรคแทรกซ้อนกระทบ "โรดแม็พเลือกตั้ง" ซัด แผนปรองดอง "คสช." เหลว จะขัดแย้งมากขึ้น อาจเห็นการจับมือต่อกร "คสช."

 

  

          เมื่อวันที่ 14 ม.ค.61 นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีความชัดเจนในโรดแม็พเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลาของการเลือกตั้งตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้สัญญาไว้ก็ตาม แต่จากนี้กระแสเคลื่อนไหวของพรรคและกลุ่มก้อนการเมืองจะเป็นไปเพื่อการเลือกตั้ง แม้เส้นทางสู่การเลือกตั้งยังไม่ราบรื่นนัก เพราะคสช.ยังไม่ปลดล็อก แต่พรรคการเมืองก็คงไม่มีทางเลือกนักหลังจากถูกเว้นวรรคมานาน ขณะเดียวกันปัญหาจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 เรื่องการยืนยันสมาชิกและการให้พรรคใหม่เริ่มดำเนินการจดทะเบียนได้ในวันที่ 1 มี.ค.นี้นั้น ในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหาใหม่ตามมา รวมทั้งการดำเนินการของพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีรายละเอียดมากกว่าฉบับก่อนๆ ทำให้น่าห่วงว่าอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนจนกระทบโรดแม็พเลือกตั้งได้เช่นกัน

 

          "ที่สำคัญเงื่อนตายที่เป็นมากกว่าเงื่อนไขคือความขัดแย้ง แตกแยกที่หลบฉากมานาน 3 ปีกว่า ก็อาจถึงเวลาที่จะปรากฎตัวทั้งใต้ดินบนดินมากขึ้น เข้มขึ้น เพราะสมการการเมืองนาทีนี้ยังไม่ออกจากกระดานความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของ คสช. ล้มเหลวไม่มีผลงาน ยุทธศาสตร์ผิดพลาดเน้นการใช้อำนาจบีบกด อาจจะได้ใจสังคมในช่วงสั้นๆ แต่ระยะยาวความขัดแย้งจะกลับมาอีก เราเห็นบ่อยๆ นายกฯ ออกมาห้ามกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ทะเลาะกัน แต่เราแทบไม่เห็นแผนหรือนโยบายที่ดีพอ กระทั่งบางส่วนวาดหวังสูตรปรองดองฉบับพิสดารว่าคู่ขัดแย้งเดิมจะจับมือกันเพื่อต่อกรกับ คสช. ก็ยิ่งสะท้อนภาวะตีบตันของโรดแม็พปรองดองในสังคม" นายสุริยะใส กล่าว

 

          นายสุริยใส กล่าวอีกว่า โรดแม็พการเลือกตั้งที่ยังพล่ามัวและการปรองดองที่ยังวังเวงแบบนี้ จะทำให้การเข้าสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมีเสถียรภาพและสังคมปรองดองอย่างที่นายกฯ พูดไว้เมื่อต้นปีนั้น ยังไม่มีหลักประกันใดๆ และการใช้อำนาจที่เข้มข้นขึ้นเพื่อคุมหางเสือสังคมการเมืองจากนี้ไปอาจยากขึ้น ไม่ง่ายเหมือนช่วงต้นๆ ของการยึดอำนาจ เพราะสังคมมองว่าสุดท้ายแล้วอำนาจที่ใช้ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือการปฏิรูปที่โครงสร้างอย่างจริงจังนั่นเอง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ