ข่าว

พรุ่งนี้ ศรีสุวรรณ ร้อง "บิ๊กตู่" ส่งศาล รธน.ตีความร่าง ปปช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ส.พิทักษ์ รธน.ไทย" ชำแหละบทเฉพาะ ม.185 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ไม่รีเซต ป.ป.ช. แถมขยายวาระตำแหน่งนั่งนาน 9 ปี ส่อขัด รธน.ใหม่ ม.232-233 ขู่ไม่ยื่น จะฟ้องนายก

          14 ม.ค.61 - "นายศรีสุวรรณ  จรรยา" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค.นี้ เวลา 10.30 น. ตนในฐานะผู้แทน สมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นคำร้อง ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล ที่ตึก กพร.เดิม ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี  ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 148(2) ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า "ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 185 ขัดหรือแย้งต่อ รธน.มาตรา 232,233" 

          นายศรีสุวรรณ ระบุอีกว่า ตามที่ สนช. ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ "ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... " ไปเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.60 โดยแก้ไขบทเฉพาะกาล ใน ม.185 โดยไม่รีเซต (Reset) กรรมการ ป.ป.ช.ให้เป็นไปตาม รธน. มาตรา 232 และยังกำหนดวาระของกรรมการ ป.ป.ช. ออกไปเป็น 9 ปี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งไม่เป็นไปตาม รธน.2560 มาตรา 233 ที่กำหนดอายุกรรมการ ป.ป.ช.ไว้เพียง 7 ปีเท่านั้น

         ดังนั้น มติผ่าน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ มาตรา 185 ดังกล่าว จึงน่าจะขัดหรือแย้งต่อ รธน.2560 มาตรา 232 และ 233 โดยชัดแจ้ง

        "เป็นที่ประจักชัดว่า กรธ.และ สนช. ไม่มีมาตรการที่จะเสนอให้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเสียก่อนแต่อย่างใด สมาคมฯ จึงจะนำคำร้องไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตาม รธน.2560 มาตรา 148(2) ขอให้จัดส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และหาก นายกฯ ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สมาคมฯ ก็จะนำความฟ้องร้องต่อศาล ฐานละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป" 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ รธน.มาตรา 232 บัญญัติเกี่ยวกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ว่า ป.ป.ช. ประกอบด้วย กรรมการจํานวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา

         ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็น ประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(3) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(4) ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรอง การประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

(6) เป็นผู้มีความรู้ความชํานาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ํากว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจํากัดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 ปี

(7) เคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี

การนับระยะเวลาตามวรรคสอง ให้นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี

          ขณะที่ ม.233 บัญญัติว่า กรรมการ ป.ป.ช.มีวาระการดํารงตําแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว

         ในระหว่างที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่จะมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึง 5 คน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ