ข่าว

"ไพบูลย์" เสนอแก้ กม.พรรคการเมือง ระบุ ไม่เป็นธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไพบูลย์" ยื่น สนช. แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.141,142 ชี้ไม่เป็นธรรมกับพรรคใหม่ เ"พรเพชร" ประเมินหากแก้ อาจกระทบโร้ดแม็พเลือกตั้ง61

 

         คณะผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน เข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  และฝากหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสถานะของสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 บังคับใช้ยังได้สิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แม้จะไม่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด เพราะประเด็นดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้ง ในกระบวนการหาสมาชิกพรรคการเมือง ที่ถูกบังคับให้การหาสมาชิกพรรคการเมืองต้องทำพร้อมกับการชำระค่าบำรุงพรรค
         "ข้อเสนอที่แก้ไขใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ ให้รีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค และให้จัดหาสมาชิกพรรคขึ้นใหม่ โดยมีกระบวนการชำระค่าบำรุงพรรคตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและผมมองว่าจะเป็นความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นกับทุกพรรคและไม่กีดกันพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งใหม่ นอกจากนั้นเชื่อว่าจะไม่เป็นประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรคหรือสิ้นสภาพพรรคการเมือง ในกรณีหาสมาชิกพรรคที่อาจเกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะเหตุหลงลืม หรือไม่ทราบสถานะของบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่" นายไพบูลย์ กล่าว
         ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ป.พรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ผ่านการเสนอของ คณะรัฐมนตรี  (ครม.) และ สนช. แต่ส่วนตัวมองว่าหากใช้การแก้ไขเพิ่มเติม อาจใช้เวลานาน ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เพราะต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ตามมาตรา 77วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจจะมีปัญหาและผลกระทบต่อระยะเวลาที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ นอกจากนั้นอาจกระทบต่อโร้ดแม็พเลือกตั้ง ปี 2561 ได้
         นายพรเพชร  กล่าวด้วยว่าขณะนี้มีสมาชิก สนช. เสนอทางออกที่ไม่เป็นปัญหาเรื่องกรอบเวลาในพ.ร.ป.พรรคการเมืองและกระทบโร้ดแม็พเลือกตั้ง 61 ผ่านการเขียนบทบัญญัติไว้ใน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของ กมธ.ฯ สนช. เพราะ กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้นมีความเชื่อมโยงกัน แต่กระบวนการดังกล่าวจะต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ