ข่าว

ไขความลับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ตัดตอน มิให้หยั่งราก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อนักวิชาการตั้งวงวิพากษ์กฎหมายพรรคการเมือง ฉบับใหม่ ตัดตอน บอนไซพรรคการเมือง ไม่ให้เติบโตและหลากหลาย

หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายจับตามองถึงผลงานในเชิงปฏิบัติ และความสอดคล้องต้องกัน ระหว่างกติกาใหม่ และช่องทางการปฏิบัติของเหล่าคนการเมือง ว่า จะสานฝันและตอบโจทย์ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ที่อยากได้ อยากเห็นพรรคและนักการเมืองไทยยุคใหม่ที่ธำรงประโยชน์เพื่อส่วนรวม ได้หรือไม่?

    ในงานดิเรกเสวนา ของ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เปิดห้องวิเคราะห์ถึงบทบัญญัติตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง และการปฏิบัติใช้ของ ฝ่ายการเมือง ผ่านงานวิจัยหัวข้อ “จากหิ้ง สู่ห้าง : ฉากทัศน์พรรคการเมืองไทย ภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60”  โดยมี นักวิชาการ อย่าง  “อรรถสิทธิ์ พานแก้ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”  และ  “ณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า” ร่วมถ่ายทอดบทวิเคราะห์

    โดย “ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์” เปิดประเด็นแรก ต่อมุมมองของ อุดมคติ และความคาดหวังต่อพรรคการเมือง ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ว่า เชื่อว่าเป็นความตั้งใจดีของผู้ยกร่างกฎหมาย แต่ผลผลิตที่ได้จากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตามคำปรารภพบเจตนารมณ์สำคัญ คือ พรรคการเมืองต้องตรวจสอบได้, มีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค ทั้งกำหนดนโนบายและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ ทำงานเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค  สะท้อนเป็นกติกาสำคัญ​คือ การจัดตั้งพรรคที่เน้นการหาสมาชิกพรรคการเมืองที่แท้จริง ซึ่งในพ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดกรอบเวลาและจำนวนของสมาชิกพรรคไว้ 
 
    “ที่ผ่านมา พรรคการเมือง มีทั้งสิ้น 60 พรรค แต่ลงเลือกตั้งเพียงไม่กี่พรรค และเมื่อดูตัวเลขของสมาชิกพรรค บางพรรคแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามี 1 ล้านคน แต่เมื่อดูผลเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า คะแนนบัญชีรายชื่อมีไม่ถึงล้านคะแนน จึงเป็นคำถามว่าข้อเท็จจริงของตัวเลขสมาชิกนั้นคืออะไร จึงเป็นที่มาของผู้ร่างกฎหมายออกมาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อแก้ไข”  ผศ.ดร.อรรสิทธิ์ อธิบาย
   
    ขณะที่โจทย์ของการเขียนพ.ร.ป.พรรคการเมือง ต่อประเด็นการแก้ปัญหาของพรรคการเมืองไทยที่ผ่านมา  ผ่านการซักถามจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในเวทีดิเรกเสวนาเปิดเผยข้อมูลว่า ว่า ปัญหาใหญ่ คือ พรรคการเมืองขาดอุดมการณ์ ยอมให้บุคคลอื่นแทรกแซง และ จัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อเป็น บริษัททางการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ ส่วนการแก้ปัญหาของผู้ร่างกฎหมายนั้น พบความตั้งใจจะสร้างการเมืองให้เป็นสถาบัน และเป็นพรรคการเมืองในรูปแบบขยายประชาธิปไตยไปสู่พื้นที่ต่างๆ ผ่านการสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค จึงสะท้อนเป็นวิธีปฏิบัติ คือ การตั้งพรรคการเมืองทำได้ไม่ง่าย จึงมีเงื่อนไข คือ ต้องมีสมาชิกพรรคตามจำนวนที่กำหนด,​มีทุนประเดิม อย่างน้อย1 ล้านบาท, ​ทำกิจกรรมการเมืองสม่ำเสมอ ผ่านประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรค และเพื่อแก้ปัญหาการครอบงำจากผู้บริหารพรรค จึงสร้างกลไกของการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) เพื่อให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง  
 
    ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า​สำหรับบทบัญญัติของพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ออกมานั้น ได้สอบถามความเห็นจากนักการเมืองระดับรองหัวหน้าพรรค​ ฐานะผู้ใช้กฎหมายโดยสาระสำคัญตัวแทนของพรรคการเมืองยอมรับปัญหา ทั้งการตั้งพรรคการเมืองที่มากเกินไป พบการครอบงำจากบุคคลภายนอก
 
    “มีคำพูดหนึ่งของผู้ใช้กฎหมาย ต่อประเด็นนี้ เขายอมรับในมาตรการที่บรรจุไว้ว่าเป็นแนวคิดและหลักการที่ดี แต่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเมืองไทย เช่น การชำระคำบำรุงพรรค เพราะบางพื้นที่ไม่มีธนาคาร ทำให้ผู้ต้องการชำระค่าบำรุงพรรคต้องเดินทางไกล ซึ่งฐานะคนทำวิจัยได้สอบถามกับ ผู้ยกร่างกฎหมายอธิบายว่าก่อนเขียนบทบัญญัติได้เชิญธนาคารมาพูดคุยแล้ว อีกทั้งในอนาคตประชาชนสามารถชำระค่าบำรุงพรรคผ่านร้านสะดวกซื้อได้ ส่วนการเลือกตั้งขั้นต้นตัวแทนพรรคการเมืองเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งการสร้างความแตกแยก และที่ห่วงมากกว่านั้น คือ จะไม่มีสมาชิกพรรคลงคะแนน แต่ประเด็นนี้ผู้ยกร่าง อธิบายว่า การทำไพรมารี่โหวตนั้นอาจทำภาพรวมส่วนของจังหวัดได้ หากไม่ตีความกฎหมายว่าทำเฉพาะที่เขตเลือกตั้งเท่านั้น” ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ระบุ
 
    ในบทสรุปของ ฉากทัศน์ของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จากผลการวิเคราะห์ ผ่านมุมมองของ “นักวิชาการธรรมศาสตร์” ระบุว่า  1.พรรคการเมืองตั้งยาก ถูกยุบง่าย แต่หากพรรคการเมืองสามารถทำได้จะยั่งยืน, 2. พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือพรรคการเมืองเกิดใหม่ ต้องใช้เวลาเติบโต อย่างน้อย 4 ปี ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งแรกอย่าคาดหวังว่าจะมีที่นั่งในสภาฯ, 3. พรรคใหญ่หรือพรรคที่มีอยู่เดิมจะได้เปรียบเมื่อเลือกตั้ง เพราะมีฐานเสียง, 4. พรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภุมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา หากปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ จะสบายในการเลือกตั้งเพราะมีความเชื่อมโยงกับประชาชนในสังคม, 5. พรรคที่เกิดขึ้นใหม่จะมีเวลาไม่พอสำหรับการก่อตั้ง, 6.พรรคเก่า และพรรคที่มีอยู่ จะติดปัญหาเพราะเงื่อนไขการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว
 
    “โดยตัวของพ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นกติกาที่ดี แต่เมื่อมองรวมกับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่กำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และให้เลือกตั้งผ่านบัตรใบเดียว ทำให้มีความกังวล และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง จะมีพรรคการเมืองไม่กี่พรรค อาจเป็นพรรคใหญ่ 2 พรรคและพรรคขนาดกลางถึงเล็ก เพียง 3-4 พรรค ขณะที่พรรคที่ไม่ถูกเลือกอนาคตอาจตายไปจากสังคมเพราะเขาต้องออกจากระบบแข่งขัน และมีโอกาสตายก่อนที่จะโต โดยสรุปภาพของรัฐบาลในมุมมองคือ การให้เป็นรัฐบาลแห่งชาติ”  นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
 
    ด้าน “ณัชชาภัทร” ให้มุมมองต่อฉากทัศน์ของพรรคการเมือง ว่า ผู้ร่างกฎหมายตั้งใจให้พรรคการเมืองเป็นนของมวลชน สร้างประชาธปไตยภายในพรรคการเมือง แต่ด้วยรูปแบบของสังคมไทย การทำให้พรรคการเมืองเป็นของมวลชนไม่ใช่คำตอบ เพราะตามเนื้อหาของกฎหมายพบลักษณะการตัดตอนความหลากหลายของพรรคการเมือง  
 
    “พรรคการเมืองที่ได้ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง หากเปรียบเป็นดอกไม้ จะได้ดอกไม้พลาสติก ที่ไม่สามารถหยั่งรากลึกได้ เพราะขาดการสร้างความหลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่กังวลคือ อาจไม่มีตัวแทนของจังหวัดภาคใต้ เป็นต้น และหากมีพรรคเกิดขึ้นอาจไม่เติบโตภายใต้ระบบการเมืองได้ ซึ่งผู้ใช้กฎหมายหลายคนให้ความเห็นว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองขัดวัฒนธรรมการเมืองแบบไทย แต่วัฒนธรรมนั้นไม่ใช่จะแก้ไม่ได้ เพราะมีวิวัฒนาการตลอดเวลา แต่ผลจากกติกาฉบับใหม่เอื้อให้เฉพาะพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แต่พรรคขนาดเล็กนั้นเสียเปรียบ ดังนั้นความคาดหวังให้พรรคการเมืองเป็นของมวลชนจึงเป็นสิ่งที่สิ้นหวัง”  นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า กล่าวสรุป
 
    ทั้งนี้ภายหลังการนำเสนองานวิจัยดังกล่าว มีผู้ร่วมเวทีและนักวิชาการร่วมแสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งสะท้อนมุมมองต่อระบบการเมืองไทยหลังจากมีกฎหมายที่เกี่ยวกับเลือกตั้งบังคับใช้ กับฉากทัศน์ของรัฐบาล โดยสรุปถึงความเป็นไปได้ว่า สิ่งที่นักปกครองขณะนี้ต้องการคือ การสร้างพรรคที่ 3  เพื่อถ่วงดุลระหว่างพรรคที่1  และพรรคที่ 2 เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านระบบ และสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนผ่านไปอย่างราบรื่นและราบเรียบ.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ