ข่าว

"สมคิด"แจง ไม่โละ "ตุลาการศาลรธน."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สมคิด"แจง ไม่โละ ตุลาการศาลรธน. หวั่นต่างชาติวิจารณ์ ออกกฎหมายโละผู้พิพากษา คาด สนช. ถกนาน เหตุมี3ข้อเสนอ ทั้งชะลอการสรรหา จนกว่ามี สภาฯ ใหม่

 

          22 พ.ย.60 ที่รัฐสภา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาวาระสองและวาระสามของ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวในที่ประชุมสนช. วันที่23พ.ย. นี้ ว่า คาดว่าในประเด็นของบทเฉพาะกาล ว่าด้วยวาระดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ประเด็นว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างจะมีการพิจารณาและอภิปรายค่อนข้างนาน โดยส่วนของวาระดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นั้น ตามร่าง พ.ร.ป.เดิม กรธ. เขียนให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ แต่ทางกมธ.ฯ เสียงข้างมากแก้ไขเนื้อหา ให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ2550อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมายเดิม ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน4คนที่ต้องปฏิบัติหน้าทีต่อ ส่วนอีก5คนนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระ แต่ขณะนี้ยังปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไปตามมาตรา44กำหนดไว้ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าว กมธ.ฯ เสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นส่วนของกรธ. ขอสงวนความเห็นและคำแปรญัตติไว้

          "เหตุผลที่กมธ.เสียงข้างมากกำหนดให้4ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ โดยไม่นำคุณสมบัติใหม่มาจับนั้น เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะออกกฎหมายเพื่อโละบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการ เป็นผู้พิพากษาของศาล และหากทำจริงอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ประเทศไทยออกกฎหมายเพื่อโละผู้พิพากษาได้ ซึ่งประเด็นนี้องค์กรของศาลไม่เหมือนกับองค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งนี้ยอมรับว่าคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ2560เพิ่มคุณสมบัติมากขึ้น ไม่นับเฉพาะคนที่มาจากฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายกฎหมายเท่านั้น" นายสมคิด ชี้แจง

         นายสมคิด กล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง นั้น มีผู้สงวนความเห็นแยกเป็น3ประเด็น ได้แก่1.กมธ.เสียงข้างมาก บัญญัติเนื้อหาให้กระบวนการสรรหาดังกล่าวมีระยะเวลาตามขั้นตอน เบื้องต้นกำหนดเวลาไว้ที่100วันนับจากมีพ.ร.ป.ฉบับใหม่ ,2.กมธ.เสียงข้างน้อย ส่วนของกรธ. ที่สงวนความเห็นขอให้เริ่มกระบวนการสรรหาทันที และ3.กลุ่มสนช. ที่สงวนความเห็น เสนอให้กระบวนการสรรหา เริ่มต้นหลังจากที่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ เพื่อรอกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560ที่ให้มีตัวแทนของประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

เมื่อถามว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาดใช่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ในกฎหมายไม่มีเรื่องนี้ โดยอดีตที่ผ่านมาสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครอง แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตลอด คือ การละเมิดอำนาจศาล ที่ผ่านมาศาลฎีกาและศาลปกครองมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี ซึ่งต่อมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล “คดีละเมิดอำนาจศาลปกติไม่ได้ใช้กับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาล แต่ใช้กับกรณีอย่างการปิดล้อมศาลเพื่อไม่ให้ศาลเข้าไปนั่งพิจารณาคดี การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต” นายสมคิด กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ