ข่าว

"ป.ป.ช."ห่วง CPI ไม่ขยับหากประเทศมีปัญหาปชต.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ป.ป.ช." ห่วง คะแนน CPI ไม่ขยับขึ้น หากประเทศ ยังมีปัญหาเรื่องความเป็น "ปชต." โยก ขรก.ไม่เป็นธรรม รับเงินใต้โต๊ะ 

            6 พ.ย.60 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานในการเปิดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ "การบูรณาการเพื่อการพัฒนาภาควิชาการและประชาชน สู่ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมสุจริตอย่างยั่งยืน" มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิชาการ ผู้แทนUNDP หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  ผู้แทนศูนย์คุณธรรมและเครือข่ายหมู่บ้าน ชุมชนช่อสะอาด เกือบ 300 คน โดยนายณรงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อประเมินความก้าวหน้าของการนำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตระยะที่ 3 (2560-2564) สู่การปฏิบัติจริงในการจัดตั้งหมู่บ้านและชุมชนช่อสะอาด โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนา วิธีการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป 

           หลังจากนั้น นายณรงค์ กล่าวปาฐกฐาในหัวข้อ "การสร้างสังคมสุจริตสู่การยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย" โดยได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อค่า CPI ซึ่งเป็นผลมาจากการสำรวจภาพลักษณ์ของการทุจริตซึ่งสะท้อนออกมาจากภาคเอกชน ความน่าเป็นห่วงของไทยคือการใช้นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการนำเงินไปสู่ประชาชนในรูปแบบนโยบายประชานิยม ซึ่งที่ถูกต้องควรจะส่งเสริมให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเอง ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ทรงสอนคนไทยให้รู้จักพึ่งพาตัวเองอันจะเห็นได้ชัดจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้เกิดมาตรการทางสังคมอย่างเข้มแข็งในการต่อต้านคนทุจริต และจะทำอย่างไรให้เครือข่ายจำนวนมากที่ ป.ป.ช. มีอยู่ในตอนนี้เป็นเครือข่ายที่แท้จริงและบทบาทจริงในการเปิดโปงและต่อต้านการทุจริต

           นายณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาทุจริตเกิดขึ้นในประเทศไทยมายาวนาน ส่วนตัวรับราชการมา 20 ปี ซึมซับรับทราบปัญหา และเห็นว่าทุกรัฐบาลพยายามที่หาทางแก้ปัญหาทั้งออกกฎหมาย ตั้งองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีพัฒนาการทางกฎหมายมาต่อเนื่องซึ่ง ป.ป.ช.ได้ทำงานอย่างเต็มที่ขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน มุ่งมั่นและจริงจังในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นโดยได้ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ ค่า CPI ในปีที่ผ่านมาปรับลดลงจากปีก่อน หากไทยยังมีปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตยต่อเนื่องไปอีก ก็อาจทำให้ค่า CPI ยังไม่สามารถปรับขึ้นได้ และยังคงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเหมือนเดิม

           นายณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม  ปัญหาผู้มีอิทธิพล และการรับเงินใต้โต๊ะ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการจัดอันดับของค่า CPI เช่นกัน รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป และออกกฎหมายมาควบคุมแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การจัดอันดับที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะการประเมินไม่ได้มองเพียงจุดเดียว แต่มองภาพรวม จึงฝากให้ช่วยกันคิดว่าจะสร้างมาตรการทางสังคมต่อต้านการคอรัปชั่นได้อย่างไร และควรที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร โดยเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพราะเป็นช่องทางให้ประชาชนร่วมตรวจสอบอำนาจรัฐ 

           "ถ้ายังไม่สามารถกวาดบ้านตัวเองได้ คงแก้ปัญหาเรื่องนี้ลำบาก ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราต้องทำคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานภาครัฐบางหน่วยต้องเปลี่ยนตัวเอง ปรับวัฒนธรรมองค์กร ทำอย่างไรให้ไม่มีภาพของเงินใต้โต๊ะที่เป็นน้ำมันหล่อลื่น เราต้องกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของปัญหาคอร์รัปชั่น ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าโครงการของรัฐไม่มีการประเมินความคุ้มค่าของงบ ค่าความโปร่งใสเกิดไม่ได้ต้องเปิดให้ดู เราไม่สามารถคุมนิสัยนักการเมืองได้" นายณรงค์ กล่าว

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ