ข่าว

"วสิษฐ"เล่า"ในหลวง ร.9"ทรงแก้วิกฤต"14 ตุลาฯ"ไม่ได้บรรทม7คืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อดีตนายตำรวจราชสำนักฯ" ย้อนเหตุการณ์ "ในหลวง ร.9" ทรงแก้วิกฤต "14 ตุลาฯ" ทรงห่วงสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ได้บรรทม 7 วัน 7 คืน

 

          เมื่อวันที่ 14 ต.ค.60 เวลา 10.45 น. ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง มีการจัดงานรำลึก 44 ปี 14 ตุลา โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ กล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2560 "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา" ว่า เหตุกาณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ถือเป็นวิกฤตของคนไทยในเวลานั้น บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ เป็นเพราะสหรัฐอเมริกาเป็นศัตรูกับโซเวียตและประเทศใหญ่ที่ปกครองระบอบดังกล่าว ตอนนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ทำท่าว่าจะขยายตัว สหรัฐฯก็กลัวเพลี่ยงพล้ำให้กับค่ายคอมมิวนิวต์จึงดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ดำเนินนโยบายปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์

           "เมื่อรัฐบาลเป็นเผด็จการ การปราบปรามจึงมีขึ้นบ่อยและรุนแรง นักการเมืองที่ถูกสงสัยถูกจับกุมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ก่อน 14 ตุลาฯ มีนิสิตนักศึกษาออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลที่ยึดอำนาจไม่ยอมคืนประชาธิปไตยและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลถนอมจึงจับกุมเป็นผู้ต้องหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ปฏิกิริยาต่างๆ ก็เริ่มชุมนุมกว้างขวางเป็นจำนวนแสน รัฐบาลรู้ว่าจะระงับไม่ได้ แต่ก็ใช้ไม้แข็งปราบ"

          พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต่อว่า ขณะนั้นตนดำรงเป็นตำรวจราชสำนักฯ เห็นการชุมนุมก็รู้ว่าจะบานปลาย ตนกับตำรวจและทหารในวังจึงออกไปดูเหตุการณ์โดยมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาพาออกไป ตอนนั้นเหตุการณ์ชุมนุมเป็นโดยสงบ จึงรู้สึกว่าไม่หนักหนาอะไร ไม่สบายใจก็เพียงแต่นักเรียนอาชีวะที่มีท่อนไม้ท่อนเหล็กเท่านั้น เมื่อกลับเข้ามายังสวนจิตรลดาตอนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาฯ ตนได้รับคำสั่งให้ไปรับผู้แทนนิสิตนักศึกษาเพื่อพาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทั่งบ่าย4โมง ตนจึงพาเข้าไปยังศาลาดุสิดาลัย ขาดเพียงคนเดียวคือนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล แกนนำนักศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเมื่อช่วงเย็นเวลา 5โมงครึ่ง แต่ตนไม่ได้เข้าไปอยู่ข้างนอก จนเวลาเกือบ 2 ทุ่ม เมื่อเข้าเฝ้าเสร็จ ตนก็ไปส่งนักศึกษากลับ แต่ตอนก่อนออกจากสวนจิตรลดา พวกเขาบอกว่าถูกหักหลัง ตนก็ถามถึงรู้ว่า เสกสรรค์ทำผิดข้อตกลงที่บอกว่าจะไม่เคลื่อนขบวนชุมนุมมาบริเวณพระราชวังดุสิต เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องผู้แทนนักศึกษาก็ไม่ยอมออกจากวัง ตนเลยรับหน้าที่พาตัวเสกสรรค์เข้ามา เสกสรรค์ตอนนั้นพูดเกือบไม่รู้เรื่อง เสียงไม่มี เมื่อพาตัวเข้ามา ถึงขั้นต้องขอให้หมอหลวงมาดูอาการ เสกสรรค์ก็เถียงกับธีรยุทธ บุญมี หนึ่งในตัวแทนนักศึกษา ตนซึ่งรู้เหตุการณ์ที่แท้จริงก็ช่วยอธิบาย 

          พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ตอนนั้นผู้แทนนักศึกษาข้างนอกบอกว่าผู้แทนนักศึกษาที่เข้าวังยอมหมดแล้ว ทำให้นักศึกษาที่ชุมนุมไม่ยอม เคลื่อนมาที่หน้าสวนจิตรฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมหน้าวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐบาลยอมปล่อยนักศึกษา 13 คนที่ถูกจับ และยังมีข้อตกลงว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ใน 20 เดือน แทนที่รัฐบาลระบุว่าใน 3 ปี แต่นักศึกษาข้างนอกไม่เชื่อ อยากให้คนในวังมายืนยัน ซึ่งเสกสรรค์เลือกตน ตนก็ยอมออกไปขึ้นเวทีปราศรัยของนักศึกษาพูดผ่านเครื่องขยายเสียง โดยรับกระแสพระราชดำรัสในหลวงไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง ว่าพระองค์รับสั่งเรื่องความสามัคคีปรองดองของคนไทย โดยอ่านสำเนาพระราชดำรัสที่ว่ารัฐบาลยอมปล่อยนักศึกษาและจะพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่

          "ผมได้พูดแถมท้ายอีกว่า เมื่อในหลวงรับสั่งแบบนี้ ก็สมควรที่จะยุติการชุมนุมกลับบ้านกันได้แล้ว ในหลวงไม่ได้บรรทมมา 7 วัน 7 คืน เพราะห่วงสถานการณ์บ้านเมือง ผมพูดเสร็จก็มีเสียงปรบมือ แล้วไม่รู้ใครเป็นต้นเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แลัวทั้งหมดก็หันหน้าไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผมคุกเข่าร่ำไห้ด้วยความปิติที่เหตุการ์ยุติลงได้ แต่อีกครู่เดียว ขณะที่ผมกำลังลงจากเวทีได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นทันที ปรากฎว่าเป็นเด็กอาชีวะที่พกระเบิดมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ ก็คิดว่าคงไม่มีอะไร แต่ต่อมาได้ยินเสียงระเบิดตามมาอีก เป็นเสียงแก๊สน้ำตาหลังเหตุการณ์ชุมนุมยุติ นักศึกษากำลังกลับจากหน้าวังสวนจิตรฯ ไปทางถ.ราชวิถี ผมทราบภายหลังว่า เหตุที่ปะทะเพราะตำรวจได้รับคำสั่งไม่ให้ผ่านเส้นทางดังกล่าว" 

          "เมื่อปะทะกันตีกันหน้าวัง ตำรวจใช้กระบองและแก๊สน้ำตา มีข่าวว่านักศึกษาถูกฆ่าหน้าวังแพร่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ นี่เป็นที่มาของความมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 ผมออกจากสวนจิตรฯ เพื่อมาขอร้องตำรวจที่คุมเหตุการณ์ให้ถอนกำลังแล้วแจ้งว่าเข้าใจผิด ตำรวจคนนั้นพยักหน้าเฉยๆ แต่ไม่เกิดอะไรขึ้น การปะทะรุนแรงจนนักศึกษาส่วนหนึ่งขอให้ทหารเปิดประตูวังแต่ทหารไม่เปิด จนในหลวงรับสั่งให้เปิด มีนักศึกษาเข้าไป 2 พันคน บางคนเข้ามาได้ก็ว่าผมหลอกให้ไปถูกตี และเมื่อพระองค์ก็ได้เสด็จลงพร้อมพระบรมราชินีนาถและทูลกระหม่อมหญิงเพื่อทรงเยี่ยมนักศึกษาที่เข้ามา แต่เหตุการณ์ข้างนอกปะทะจนกลายเป็นจลาจลถึงรุ่งเช้าอีกวัน เหตุการณ์จึงค่อยๆ ซาลง ในหลวงทรงพระราชทานพระราชดำรัสผ่านโทรทัศน์ ทรงชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้นให้ทราบว่ายุติแล้ว จะเห็นว่าพระพักต์เศร้าหมองอย่างที่ไม่เคยเห็น ผมเป็นตำรวจราชสำนักมา3ปี ไม่เคยเห็นมาก่อน ต่อมาเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ สงบลงในที่สุด เหลือเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งสุดท้ายเมื่อทุกคนได้ยินสิ่งที่ในหลวงทรงรับสั่งทุกอย่างจึงสงบ" อดีตนายตำรวจราชสำนัก กล่าว 

          พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวอีกว่าเหตุการณ์ที่เหลือเป็นเรื่องทางการเมือง ในหลวงทรงใช้พระราชอำนาจตั้งรัฐบาลใหม่ มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ มีการทำความเข้าใจกับนักศึกษาหลายประการ เช่น การอภัยโทษนักศึกษาที่ชุมนุม ค่าเสียหายแก่คนเจ็บคนตาย รัฐบาลรับข้อเสนอหมดจนนายสัญญาตั้งรัฐบาลเสร็จนักศึกษาก็พอใจ

          "บางตอนของข้อเขียนที่ผมเขียนไว้เมื่อ 44 ปีที่แล้วถึงตอนจบของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งความรู้สึกของผมตอนนี้ยังไม่เปลี่ยน สปิริตหรือวิญญาณอย่างที่นักศึกษาได้แสดงให้เห็นในเวลาวิกฤตคราวนั้น ผมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องธำรงรักษาเอาไว้ ถ้าหากว่านิสิตนักศึกษาปรารถนาจะมีส่วนในการสร้างสรรค์ประเทศชาติ และหากนิสิตนักศึกษาตั้งใจที่จะใช้พลังแรงทั้งร่างกาย และความคิดเข้าร่วมกับประสบการณ์ของคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาพระราชทาน เมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2516 และนอกจากระหว่างนิสิตนักศึกษาด้วยกันเองแล้ว ผมยังเห็นว่านิสิตนักศึกษายังมีความรับผิดชอบต่อมหาชนคนทั้งประเทศ อาจมีข้อแย้งว่า นิสิตนักศึกษาสำนึกอยู่แล้วในความรับผิดชอบนั้น และพยายามปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบดังกล่าว หลายคนไปแนะนำประชาธิปไตยกับประชาชนในต่างจังหวัด ดังนั้น หวังว่าการจัดกิจกรรมรำลึก14 ตุลาฯ วันนี้ จะสามารถปลุกกระแสความรู้สึกที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษา จะสังเกตเห็นว่าเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นตามหลังมา บทบาทของนักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่มีเลย พูดจากประสบการณ์เพราะว่าตอนชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีจำนวนน้อยมาก" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ