ข่าว

แนะ "บิ๊กตู่" สื่อสารปชช.เข้าใจ ต้องพูดซ้ำหลายเวที

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อภิสิทธิ์" ระบุ การสื่อสารทางการเมือง ไม่เหมือนโฆษณา หวังให้ปชช.เข้าใจง่ายๆ จึงยาก แนะ "บิ๊กตู่" ต้องพูดซ้ำๆ หลายเวที

 

 

          27 ก.ย. 60 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “นัวตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่า เวลาเราพูดถึงปัญหาของประเทศ ก็มักจะมีการพูดเสมอว่าถ้าเราให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ตนฟังดูมันเหมือนง่าย แต่ความจริงแล้วนี่เป็นเรื่องยาก เวลาเราพูดถึงการสื่อสาร โดยเฉพาะมองในมุมของผู้ที่ให้ข้อมูลมันก็ง่าย แต่เราลืมมองในมุมของคนที่รับข้อมูลว่าจะรับไปอย่างไร เพราะเรามองแค่มุมของคนที่อยากจะให้ข้อมูล ทุกวันนี้ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็คงจะหงุดหงิดว่าทำไมคนที่รับข้อมูลจากนายกรัฐมนตรีทำไมถึงยังไม่เข้าใจเสียที แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะมีช่องทางการสื่อสารมากมาย แต่ความเป็นจริงแล้วปัญหานั้นมันอยู่ที่เรื่องคนที่พูด คนที่มีคนชื่นชอบมากมายเวลาพูดอะไรนั้นคนเขาก็อยากจะฟัง แต่ว่าคนที่ไม่มีคนชอบเขาจะพูดอะไร จะอธิบายอะไรให้คนเข้าใจ คนเขาก็ปิดทีวีหนี ไม่ได้ฟังด้วยซ้ำ

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นี่คือการเมือง ดังนั้นในเรื่องการสื่อสารทางการเมืองจึงไม่เหมือนกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพราะการควบคุมสภาวะการสื่อสารเป็นไปได้ยากมาก ที่ผ่านมาตอนตนเข้ามาอยุ่ในวงการการเมือง นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเตือนตนแล้วว่าถ้าเข้ามาสู่วงการการเมืองเราก็เลวไปแล้วครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเวลาจะพูดอะไร การควบคุมสภาวะให้คนมารับฟังก็คงเป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เรายังมีเวทีที่จะให้สื่อสารแสดงความเห็นกันเช่นเวทีที่รัฐสภา ทีประเทศอังกฤษนั้นการสื่อสารทางการเมืองที่เขาจะให้ความสำคัญมากก็คือเวทีที่รัฐสภา เพราะถือเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อย้อนมาดูที่ประเทศไทย พบว่าเวทีรัฐสภาที่ประเทศไทย ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญขนาดนั้น และดูท่าว่าจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อครั้งที่เป็น ส.ส.ในสมัยแรก ตนอยากจะเข้าไปอภิปรายในรัฐสภา แต่พอเวลาผ่านไป 25 ปี อย่าว่าแต่จะให้ ส.ส.บางคนอภิปรายเลย แค่จะให้นั่งอยู่ในสภานั้นเขาก็ยังคิดหนักด้วยซ้ำว่าจะคุ้มหรือไม่ถ้าเทียบกับการไปลงพื้นที่ ไปงานศพของคนในท้องถิ่นอาจจะคุ้มกว่า

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการใช้สื่อเพื่อสื่อสารทางการเมือง ในยุคที่ตนเข้ามาหลังยุคพฤษภาทมิฬ 2535 ตอนนั้นถือว่าเป็นจุดสูงสุดของประเทศไทยในแง่ของความอิสระของสื่อมวลชน แต่หลังจากปี 2545 ตัวเลขนี้ก็ถดถอยมาเรื่อยๆ เพราะสื่อถูกแทรกแซง และสื่อพอเริ่มจะกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น ก็กลายเป็นนโยบายไปเลยว่าหลีกเลี่ยงการเมืองไปเลยดีที่สุด เพราะจะเสี่ยงกับการถูกถอนสปอนเซอร์ หรือไม่ก็ทำรายการเมืองแต่ว่าให้ผู้ที่มีอำนาจ ณ ขณะนั้น เป็นผู้ที่ได้มีโอกาสออกสื่อมากกว่า ในปัจจุบัน การสื่อสารก็เป็นเชิงดิจิทัลมากขึ้น คนมีสมาธิมาทำในเรื่องที่สลับซับซ้อนน้อยลง คนอ่านหนังสื่อพิมพ์ก็ไม่ได้อ่านรายละเอียดข้างในอีก อ่านแค่พาดหัวก็พอแล้ว ซึ่งเรื่องนี้พรรคตนประสบปัญหาเป็นอย่างมาก ถูกวิจารณ์ว่าทำไมไม่หาเสียง โดยพูดอะไร เสนอนโยบายอะไรให้เข้าใจง่ายๆบ้างเป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วมันทำแบบนั้นยาก เช่นกรณีนโยบายโครงการจำนำข้าว 15,000 บาท ก็ดูเป็นนโยบายที่เข้าใจง่ายดี ถ้าเทียบกับนโยบายประกันราคาข้าวแต่สุดท้ายแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นในขณะนี้

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในอนาคตตนเชื่อว่าการสื่อสารทางการเมืองจะเหลือน้อยลงไปมาก เพราะความกลัวว่าจะไม่มีคนฟัง กลัวว่าคนจะรำคาญ ดังนั้นการสื่อสารทางการเมืองที่ดี ตนเห็นว่าผู้สื่อสารจะต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะสื่อสารในสิ่งที่คนต้องการจะรู้ได้ และสำคัญก็คือต้องขยันพูดซ้ำ เพราะอย่างตนบางครั้งก็ต้องไปพูดในหลายๆเวทีเป็นต้น หากไปดูโพลจากสถาบันพระปกเกล้า จะพบว่านโยบายของคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ประสบความสำเร็จมากก็คือนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พอมีคนลงไปสำรวจและพูดถึงนายทักษิณทีไร คนก็จะพูดถึงนโยบาย 30 บาทโดยตลอด แต่ในทางกลับกัน พอพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ ชาวบ้านกลับไม่มีใครพูดถึงนโยบายเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จบ้างเลย ซึ่งนี่ก็คือความสำเร็จของทางฝ่ายนายทักษิณในด้านของการพูดซ้ำอยู่เรื่อยๆ.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ