ข่าว

เปิดร่างมาตรฐานจริยธรรม "องค์กรอิสระ-สมาชิกรัฐสภา- ครม."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.เตรียมถกร่างจริยธรรม คุมองค์กรอิสระ-สมาชิกรัฐสภา- ครม. 28 ก.ย.นี้ กำหนดลักษณะพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนจริยธรรม "รับ เรียกรับผลประโยชน์ ล่วงละเมิดทางเพศ"

 

                25 ก.ย.60 -  ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 28 ก.ย. มีวาระรายงานการพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ...  ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ ซึ่งร่างมาตรฐานดังกล่าวจัดทำตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 219 ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทั้งนี้บทเฉพาะกาลมาตรา 276 กำหนดให้ต้องทำภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ร่างมาตรฐานดังกล่าวต้องครอบคลุมการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และระบุให้ชัดแจ้งว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใด มีลักษณะร้ายแรงเพื่อให้องค์กรเหล่านี้ยึดปฏิบัติ และร่างมาตรฐานจริยธรรมนี้จะใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และ ครม.ด้วย 
                สำหรับร่างมาตรฐานทางจริยธรรมมีทั้งหมด 4 หมวดจำนวน 28 ข้อ ใช้บังคับกับบุคคลดังต่อไปนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้งสมาชิกรัฐสภา โดยได้มีการกำหนดลักษณะมาตรฐานทางจริยธรรมออกเป็น 3 หมวด คือ หมวด 1.มาตรฐานทางจริยธรรมที่เป็นอุดมการณ์ คือ จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด เป็นต้น หมวด 2.มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก คือ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ เป็นกลาง รักษาความลับในการประชุม ไม่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด พึงระวังไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฏหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย และไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ  เป็นต้น และหมวด 3.จริยธรรมทั่วไป เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจส่วนตัวฯ
              ทั้งนี้การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ได้กำหนดไว้ 2 ลักษณะ คือ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2และหมวด 3 ต้องพิจารณาว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ส่วนบทลงโทษนั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ