ข่าว

จี้ "สนช." ส่งคืน ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ คืน ครม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาคปชช. แนะ "กมธ.สนช." คืนร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจ ให้ ครม. หั่น หมวดบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติออก หวั่น เปิดช่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับและดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ..... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ.  โดยเชิญตัวแทนภาคประชาชน อาทิ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, น.ส.รสนา โตสิตระกูล  อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายประกอบ ปริมล เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  เข้าให้ความเห็นและข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

               ภายหลังเข้าให้ความเห็นต่อกมธ.ฯ  นายธีระชัย ให้สัมภาษณ์ ว่า ผู้ทำกฎหมายและ ภาคประชาชนมีความเห็นแนวทางเดียวกัน คือ การปรับปรุง และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ แต่ภาคประชาชนยังกังวลต่อเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่อาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในที่สุด ดังนั้นจึงขอให้ กมธ.ฯ รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยในวันที่ 19 ก.ย. นี้ภาคประชาชนจะเปิดเวทีเพื่อเสนอความเห็นและขอเชิญ กมธ. ไปร่วมด้วย ขณะเดียวกันตามเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้น เสนอให้ปรับปรุงบทบัญญัติ อาทิ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี นายกฯ เป็นประธาน  รองนายกฯ เป็นรองประธานฯ  มีอำนาจทำแผน ให้คำแนะนำ กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมถึงเห็นชอบการโอนหุ้น เสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นหัวหน้าครม. อาจไม่ถูกกำกับหรือถ่วงดุลการทำงาน เป็นต้น

               ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า เสนอให้ กมธ. ตัดหมวด2 ว่าด้วยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ออกทั้งหมด และปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ และไม่ควรมีเนื้อหาที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยตัดมาตราว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ คนร. ประเด็นการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังหรือบรรษัทในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รวมถึงเนื้อหาว่าด้วยการพิจารณาส่งเงินไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเงินเข้ารัฐ ทั้งนี้การชี้แจงนั้น กมธ.ฯ รับฟังด้วยดี แต่ไม่ทราบว่าจะรับฟังมากน้อยเพียงไหน อย่างไรก็ดี ตนมีข้อเสนอให้กมธ. ส่งร่างกฎหมายคืนให้กับครม. เพื่อปรับปรุง หรือแก้ไขตามที่มีข้อกังวล และส่งมาให้ สนช. พิจารณาใหม่ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ