ข่าว

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุก 4 ปี มือบึ้มรพ.พระมงกุฎฯ   ด้าน ‘ปู’ รอด ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลข้อหาจัดการน้ำพลาดทำท่วมใหญ่ปี 54 ราชกิจจานุเบกษาแพร่ พ.ร.ป.กกต.ฉบับใหม่ เพิ่ม7 คน เซตซีโร่ชุดเดิม 

      เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ห้องเวรชี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย 2 คดี กรณีเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา หรือตุ่ม ภุมเรศ อายุ 62 ปี อดีตวิศวกรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นจำเลย รวม 2 คดี ในความผิดฐาน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทำให้เกิดระเบิด ทำให้เสียทรัพย์ พกพาอาวุธระเบิดไปในที่สาธารณะ และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ร.บ.สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ และข้อหาอื่นๆ โดยอัยการโจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2560 จำเลยได้ประกอบระเบิดแสวงเครื่องชนิดจุดปะทุด้วยไฟฟ้า เป็นระเบิดแรงต่ำชนิดดินดำ ประกอบไว้ในท่อพลาสติกพีวีซี สีฟ้า หรือเรียกว่า “ไปป์บอมบ์” โดยมีตะปูเข็มเป็นสะเก็ดระเบิด ใส่ไว้ในแจกันดอกไม้พลาสติก 1 ลูก ก่อนไปติดไว้ที่บนผนังห้องวงษ์สุวรรณ แล้วเปิดสวิตช์ทำให้วงจรระเบิดทำงาน จนมีผู้เสียหายทั้งทหารและพลเรือนรวม 21 คน บาดเจ็บ นอกจากนี้ยังทำให้กล้องวงจรปิด อุปกรณ์อื่นของ รพ.พระมงกุฎเกล้าได้รับความเสียหายรวม 1,201,000 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของจำเลยย่าน จ.นนทบุรี พร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิด ประกอบด้วย แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนตัวเก็บประจุไฟฟ้า ชิ้นส่วนท่อพีวีซี สวิตช์ ตะปู ขออะลูมิเนียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิด จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย 

 

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

จำคุก8ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎฯ

     ส่วนอีกคดีนั้น พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้องนายวัฒนา ในความผิดฐานประกอบ ทำ และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ไว้ในครอบครองได้ มียุทธภัณฑ์(วัตถุระเบิดชนิดดินดำ)ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 จำเลยได้กระทำผิดโดยประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่องชนิดไปป์บอมบ์ 4 ลูกขึ้นเอง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้า มีตัวตั้งเวลา และระเบิดดินดำ ในท่อพลาสติกพีวีซีสีฟ้า โดยใส่ไว้ในกระถางสีน้ำตาลเมื่อเกิดระเบิดจะก่อให้เกิดอันตรายรัศมีฉกรรจ์ 5-10 เมตร นอกจากนี้ยังพบดินดำ 3 กระปุก กระสุนลูกกรดขนาด .22 จำนวน 39 นัด ภายในบ้านพักจำเลยย่านบางเขน กทม. เจ้าหน้าที่จึงยึดไว้เป็นของกลางดำเนินคดี โดยวันนี้ศาลเบิกตัวนายวัฒนา จำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาสอบคำให้การ โดยนายวัฒนาไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนถ่ายภาพแต่อย่างใด ศาลประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2868/60 และคดีหมายเลขดำ อ.2869/60 ตามลำดับ โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายวัฒนา จำเลยฟังทั้ง 2 คดี พร้อมสอบคำให้การ ปรากฏว่า นายวัฒนาแถลงให้การรับสารภาพโดยตลอดข้อกล่าวหาไม่ต่อสู้คดี

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

    ศาลจึงพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2869/60 ฐานประกอบ ทำ และมีวัตถุระเบิดฯ จำคุก 4 ปี ฐานมีเครื่องยุทธภัณฑ์ (ระเบิดดินดำ) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกอีก 4 ปี รวม 8 ปี และฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองฯ ปรับ 1,950 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี ปรับ 975 บาท ริบของกลาง ส่วนคดีหมายเลขดำ อ.2868/60 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ นั้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพจำเลยในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เวลา 09.00 น.

‘ปู’รอดจัดการพลาดทำน้ำท่วมปี54 

      วันเดียวกัน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีบริหารจัดการน้ำโดยมิชอบเมื่อปี 2554 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการน้ำเมื่อปี 2554 จนทำให้เกิดอุทกภัยและความเสียหายกว่า 3.5 แสนล้านบาท โดยเห็นว่า การดำเนินการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำตามขั้นตอนของการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงไม่เข้าข่ายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ส่วนรายละเอียดต้องรอให้โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้แถลง

     เมื่อถามว่า มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีนี้เป็นอย่างไร พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอถึงขั้นต้องชี้มูลความผิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ บกพร่องต่อหน้าที่ หรือเกิดจากความบกพร่องของใคร เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ และพายุก็มาหลายลูกมาก ป.ป.ช.ไม่คิดว่าต้องหาคนมารับผิดชอบเรื่องนี้ และที่ผ่านมาดูตามพยานหลักฐาน หรือข้อมูลไม่คิดว่าบกพร่อง

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดีดังกล่าวเช่นกัน แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ไม่ได้ระบุรายละเอียดของกรณีนายอภิสิทธิ์ อย่างไรก็ตามในส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจโดยมิชอบในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า อยู่ระหว่างการไต่สวน องค์คณะไต่สวน (ประกอบด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย) พิจารณา จะมีการประชุมอีกครั้งเร็วๆ นี้ คาดว่าจะมีความคืบหน้าอีกหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดได้ภายในเดือนกันยายน 2560 และเตรียมแถลงต่อประชาชนต่อไป

โปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.กกต.ฉบับใหม่ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานวา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.กกต.) โดยมีทั้งหมด 78 มาตรา มีเนื้อหาสรุปดังนี้ ให้ กกต.ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคําแนะนําของวุฒิสภา และมีวาระการดํารงตําแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว ขณะเดียวกันในบทเฉพาะกาล มาตรา  70 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ 

 

    อย่างไรก็ตาม ให้กกต.ชุดปัจจุบันมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.ดังกล่าวใช้บังคับ และให้มีสิทธิได้รับบําเหน็จตอบแทน โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตําแหน่งเพราะลาออก โดยให้คํานวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการกกต.ตามพ.ร.ป.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ.ร.ป.ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

    ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายลูกฉบับแรกในกฎหมายลูก 4 ฉบับที่ประกาศใช้ ขณะนี้ยังเหลือกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับที่ยังไม่ประกาศใช้ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“พรเพชร”แจงกรอบสรรหา

      ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงภายหลังร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ตามขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 14 กันยายนนี้ แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่ ส่วนการสรรหากกต.ชุดใหม่ จำนวน 7 คน มีที่มาจาก 2 ทางคือ 2 คนมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้คัดเลือก และอีก 5 คนมาจากคณะกรรมการสรรหา หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้คัดเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาภายใน 20 วัน ซึ่งคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกกต.ให้เสร็จภายใน 90 วัน หรือวันที่ 12 ธันวาคม จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะส่งรายชื่อกกต.ชุดใหม่ให้ประธานสนช.บรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสนช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน นับจากวันบรรจุวาระการประชุม โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล หากไม่เห็นชอบบุคคลใด ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่เป็นรายบุคคล

     นายพรเพชรกล่าวต่อว่า  ระยะเวลานับตั้งแต่กรธ.ส่งร่างพ.ร.ป.กกต. ให้สนช.พิจารณา จนถึงวันที่กฎหมายประกาศบังคับใช้ รวมเวลาทั้งหมด 149 วัน นับจากวันที่ 18 เมษายน 2560 ซึ่งในส่วนสนช.สามารถพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนระยะเวลาที่เหลือเป็นกระบวนการส่งเรื่องให้กรธ.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่า เห็นด้วยกับร่างของสนช.หรือไม่ และการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายทบทวนร่างกฎหมาย และส่งมาให้สนช.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังนั้นกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งต้องพิจารณาเงื่อนเวลาเหล่านี้ด้วย จึงไม่รู้ว่ากฎหมายลูกอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะใช้เวลาอีกนานเท่าไร ส่วนจะกระทบกับโรดแม็พเลือกตั้งที่วางไว้ปลายปี 2561 หรือไม่ คงตอบไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขที่ได้อธิบายไปแล้ว ต้องไปคิดกันเอาเอง 

กกต.ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้ง 

       ที่โรงแรมคลาสสิคคามิโอ จ.พระนครศรีอยุธยา กกต.จัดกิจกรรม กกต.พบสื่อมวลชน โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ 3 ปี 9 เดือน ของ กกต.ชุดปัจจุบัน ได้มีการทุ่มเท มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่มาโดยตลอด ทั้งภารกิจการจัดเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น การออกเสียงประชามติ การสืบสวนไต่สวน สั่งเลือกตั้งใหม่ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเราจะมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้เราได้เตรียมส่งต่องานให้ กกต.ชุดใหม่แล้ว โดยแต่ละด้านกิจการก็มีการดำเนินการไปแล้ว อาทิ ด้านบริหารเลือกตั้งก็ได้มีการจัดเตรียมออกระเบียบคำสั่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ กกต.ชุดใหม่ได้เตรียมการศึกษา ส่วนด้านกิจการการมีส่วนร่วม ได้เผยแพร่ ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย การร่วมมือกับภาคีต่างๆ ส่วนด้านกิจการพรรคการเมืองก็จะมีการจัดตั้งสถาบันพรรคการเมือง ซึ่งก็ต้องทำหลายอย่างเตรียมไว้ เพราะการเลือกตั้งครั้งใหม่อาจจะยุ่งยากซับซ้อนสำหรับ กกต.ใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศเรามีโจทย์หลายเรื่องที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะโจทย์ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคน กกต. และคนไทยทุกคน โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะได้เห็นการพัฒนาของ กกต. ทั้งการพัฒนาคน พัฒนางาน โดยเฉพาะการป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการจัดการเลือกตั้ง

       “ยืนยันว่าข่าวที่ว่า กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 นั้นไม่เป็นความจริง เพียงแต่เจ้าหน้าที่กำหนดตารางการทำงานเท่านั้น เพราะวันเลือกตั้งจะกำหนดได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.ป. 4 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ นับจากนั้นอีก 150 วัน กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ดังนั้น ตราบใดที่ พ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จ กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้ แต่การเลือกตั้งเป็นงานใหญ่ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมการไว้ก่อน ส่วนการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน จะรวมการประกาศผลเลือกตั้งหรือไม่นั้น กกต.ยังไม่ได้คุยกัน จะต้องรอหารือกันภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ว่าจะเอาอย่างไร แม้ที่ผ่านมากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะบอกว่า 150 วัน ไม่รวมกับการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ก็อาจจะมีนักเลงมือดีบอกว่า 150 วันจะต้องรวมประกาศผลด้วย อาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง กกต.ก็จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง” นายศุภชัยกล่าว 

 

เรืองไกรแจงปม9รมต.ถือหุ้น

      ที่สำนักงาน กกต. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายัง กกต.ภายหลังได้รับหนังสือจาก กกต.เชิญไปให้ถ้อยคำ จากกรณีที่ได้ยื่นคำร้องให้สอบรัฐมนตรีจำนวน 9 ราย มีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเข้าข่ายเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 หรือไม่ เพื่อให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 170 วรรคสาม  จากนั้นกล่าวว่า ทาง กกต.ได้เชิญมาเพื่อให้เข้ามายืนยันหนังสือคำร้องและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลของรัฐมนตรีทั้ง 9 ราย ซึ่งมูลเหตุเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับหุ้นสัมปทาน ส่วนเรื่องการเป็นกรรมการในสถาบันการศึกษาของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็มีแนวคำวินิจฉัยประกอบ ส่วนด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ก็มีความคืบหน้าในส่วนหนึ่ง เพราะทั้ง 2 ราย ได้มีการชี้แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งก็ได้เอาข้อเท็จจริงของป.ป.ช.มาประกอบการให้ข้อเท็จจริงแก่คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้ดูและพิจารณาว่าเข้าลักษณะอย่างไรบ้าง โดยได้ให้สอบถามเพิ่มเติมเฉพาะเรื่องหุ้นสัมปทาน ก็ขอให้ กกต.สอบถามไปที่นายทะเบียนหุ้นส่วนของบริษัทและตลาดหลักทรัพย์ ว่าข้อมูลปัจจุบันรัฐมนตรีทั้ง 9 ราย มีการถือหุ้นขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งให้มีการยืนยันถึงการถือครองและความเคลื่อนไหว ซึ่งต้องนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้  และขอให้ตรวจสอบไปยังบุตรและคู่สมรสด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตลาดหลักทรัพย์ก็คงต้องแจ้งมายัง กกต.ทันที  

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

     “เรื่องดังกล่าวคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่รัฐมนตรีทั้ง 9 ราย ในการชี้แจงด้วย เพราะขณะที่เราใช้พยานหลักฐานมาร้องต่อกกต.นั้น ทางกกต.เองก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลของรัฐมนตรีบางรายนั้นเป็นข้อมูลก่อนการเข้ารับตำแหน่งกับข้อมูลในปัจจุบันเป็นอย่างไร ซึ่งขอให้อำนาจหน้าที่นี้เป็นของ กกต.ในการสอบถาม ผมเป็นผู้ร้องไม่มีสิทธิหรืออำนาจหน้าที่ใดในการไปดูข้อมูลของทั้ง 9 รายด้วยตนเอง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ยินดีจะปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” นายเรืองไกร กล่าว

ปปง.เผยกล่าวโทษ ‘โอ๊ค’แล้ว

     ที่โรงแรมดุสิตธานี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงการดำเนินคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ว่า ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ปปง.ไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่อดีเอสไอแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวก และได้มอบข้อมูลพยานหลักฐาน การตรวจสอบเส้นทางการเงินที่่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ในการดำเนินการตามขั้นตอน

     พล.ต.อ.ชัยยะ ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการยึดอายัดทรัพย์ในคดีทุจริตรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐว่า ที่ผ่านมาปปง.ยึด อายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จำนวนกว่า 13,000 ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นว่ามีทรัพย์ของผู้เกี่ยวข้องในคดีไปปรากฏที่ใดสามารถแจ้งมายังปปง.ได้ ซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความถึง 10 ปี ปปง.ก็จะทยอยยึดอายัดไป

เชื่อใกล้ได้ข้อสรุปเส้นทางหนี”ปู” 

     ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนีออกไปทางพื้นที่กองกำลังบูรพาพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 ว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทราบ รวมถึง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ระบุไว้ ส่วนที่สันนิษฐานว่า อาจมีการเปลี่ยนรถในการหลบหนี ทำให้ไม่มีภาพที่ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในรถยนต์ต้องสงสัยตามภาพของกล้องวงจรปิดที่นำมาเผยแพร่นั้น ขอให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้บังคับบัญชาชี้แจงจะดีกว่า

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

     เมื่อถามว่า กองทัพภาคที่ 1 ต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ พล.ท.อภิรัชต์ กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหมดทุกอย่างแล้ว ไม่ว่ากรณีระเบิดตู้เอทีเอ็มที่ถนนกรุงเทพกรีฑา 35 หรือกรณีการหลบหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีหน่วยข่าวรายงานข้อมูลเข้ามา จากนั้นจะต้องมาประเมินและประมวลภาพข่าวเหล่านั้น เพื่อดูถึงความเป็นไปได้ ไม่ใช่สรุปจากแค่หน่วยข่าวใดหน่วยข่าวหนึ่งบอกมา แล้วสื่อมวลชนนำไปตีความ ทั้งนี้การรวบรวมข่าวสาร ทั้งจากตำรวจ หน่วยข่าวกรองทางทหาร(ขกท.) และหน่วยงานด้านความมั่นคงหลายหน่วย จะต้องนำมาเพื่อปฏิบัติการด้านการข่าวกรองก่อน ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนตั้งแต่รายงานมาตอนแรก ดังนั้น จึงขอให้เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการทำงานเก็บหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจในการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น

     “บางครั้งไม่ใช่รีบจับใครมาแล้วบอกคนนั้นคนนี้เหมือนเมื่อก่อน จะเห็นว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรอบคอบในการติดตามเหตุการณ์มากขึ้น ก่อนจะสรุป ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็จะถูกตำหนิว่าจับแพะ จับแกะอีก ผมจึงขอให้ทุกคนใจเย็น ทั้งยังเชื่อว่าในไม่ช้าจากการประมวลข่าวเรียบร้อยแล้ว เราก็คงจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด” แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าว พร้อมปฏิเสธตอบคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีหรือไม่ 

วิษณุชี้ก.ม.ฟอกเงินจำเป็น

     ที่โรงแรมดุสิตธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การใช้มาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” ว่า การมีกฎหมายฟอกเงินเป็นประโยชน์ในการติดตามทรัพย์ และสามารถนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ในเรื่องอื่นได้อีก เพราะการต่อต้านการฟอกเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ากองทัพเดินด้วยท้อง การกระทำความผิด อาชญากรรมก็เดินด้วยเงินเป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงเหมือนกัน ถ้าเราสามารถตัดวงจร สกัดตัดตั้งแต่ตอนนี้ จะเดินต่อไปไม่ถูก เพราะเงินจ่ายไปไม่ถึง เงินจ่ายไปไม่ออก ไม่ช้าก็ต้องหยุดดำเนินการ เพราะไม่มีปัจจัยที่ใช้เป็นค่าจ้าง เงินทอนที่จะใช้ก่อการร้าย จัดหาอาวุธก็ไม่มี หากไม่สกัดกั้นการก่อการร้ายตั้งแต่ต้นจะระบาดไปทั่ว

     นายวิษณุกล่าวต่อว่า ดังนั้น ประเทศไทยจึงออกกฎหมายสกัดกั้นการอุดหนุนทางการเงิน คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการอุดหนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง ซึ่งเป็นกฎหมายคู่กับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ การต่อต้านและป้องกันการปราบปรามการฟอกเงิน จะเดินหน้าไปได้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยหน่วยงานที่ทำงานด้านการข่าว คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และหน่วยงานอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น

      คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

     “การต่อต้านการฟอกเงินจะอาศัยแต่การปราบไม่พอ โจรไม่มีวันหมด ที่สำคัญคือการป้องกันอย่าเปิดช่องโอกาส เมื่อใดมีช่องโอกาส คนดีๆ อาจจะกระทำผิดได้ ขณะเดียวกันหากให้อำนาจ ปปง.ต่อต้านการฟอกเงินเพียงนิดเดียวอาจไม่ได้ผล แต่ในทางกลับกันให้อำนาจมากเกินไปไม่มีการกำกับควบคุม ปปง.อาจจะเป็นโจรเสียเอง และในยุคนี้เราอยากให้เรื่องการต่อต้านการฟอกเงินเป็นไทยแลนด์ 4.0 คือ น่าเชื่อถือ ได้ผลในการกำราบ ระงับยับยั้งการกระทำความผิดหรืออาชญากรรมอื่นๆ ย้ำว่า คนที่บริสุทธิ์ สุจริตไม่ต้องห่วง ปปง.ไม่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายกับผู้สุจริต” นายวิษณุกล่าว

มท.1ลั่นไม่เคยได้รับเอกสารค้าน

      ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าภายหลังสั่งการให้รองอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ลงไปตรวจสอบการอนุมัติป่าชุมชนในพื้นที่โคกห้วยเม็ก ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จำนวน 31 ไร่ ให้แก่กลุ่มทุนเอกชนว่า กรมที่ดินได้ตรวจสอบเอกสารในระดับจังหวัดแล้ว ขณะนี้กำลังลงไปตรวจสอบที่ระดับอำเภอซึ่งหลักฐานที่อยากทราบคือในขั้นการดำเนินการ มีการมาร้องคัดค้านหรือไม่อย่างไร และหากมีคัดค้าน ทำไมเอกสารนี้ไม่เข้ามาสู่การพิจารณา ถ้ายังมีผู้คัดค้านก็ยังไม่สามารถเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ส่วนหนังสือคัดค้านของชาวบ้านไม่จำเป็นต้องนำมาให้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในระดับพื้นที่ ถ้ามีผู้มาร้องขอที่สาธารณะแล้วไปทำประชาคมหรือไปสอบถามประชาชนแล้วพบว่าประชาชนยังใช้ประโยชน์อยู่ก็จะทำเรื่องขึ้นมาไม่ได้

     “เรื่องการคัดค้าน ผมขอย้ำว่าไม่ได้ส่งมาที่ผม เขาพิจารณาจากระดับล่างแล้วก็จบเลย แต่ถ้าไม่จบยังมีการใช้ประโยชน์ในป่าชุมชนอยู่ ก็ส่งเรื่องขึ้นมาไม่ได้ ที่สื่อมวลชนลงข่าวไปในแนวทางว่าต้องส่งเรื่องขึ้นมาให้ผม มันไม่ใช่ ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ทำครบถ้วนตามระเบียบ เมื่อทำเสร็จ ผมมีอำนาจให้เห็นชอบ พอเห็นชอบเสร็จ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไปออกคำสั่ง ไม่ใช่ผมไปออกคำสั่ง ดังนั้นหากจะมีการเพิกถอน ก็ต้องเพิกถอนโดยผู้ว่าฯ อย่างที่บอกถ้ามีขั้นการทำประชาคมแล้วมีประชาชนมาคัดค้าน แต่ไม่มีการนำเรื่องคัดค้านมาพิจารณา ต้องมีคนรับผิดชอบ” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวและว่า เอกสารคัดค้านถ้ามี แล้วเสนอขึ้นมาก็ผิดแล้ว ถ้ามีคนมาคัดค้าน แต่ไม่มีใครนำมาพิจารณา ก็ต้องมาหาว่าใครผิด ไม่ต้องมาคัดค้านตน ไม่ต้องมาเรียนนายกรัฐมนตรี มันจบตั้งแต่ข้างล่างแล้ว แต่ประเด็นคือทำไมไม่มีการพิจารณาเรื่องการคัดค้าน ดังนั้น ผู้ดำเนินการข้างล่างทุกระดับจะต้องตอบให้ได้

คุก 4 ปีมือบึ้มรพ.พระมงกุฎ-"ปู"รอดบกพร่องทำน้ำท่วมปี54

พบหมกเม็ดปมห้วยเม็กเจอดีแน่

    ส่วนที่มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาเปิดเผยว่า ไม่เคยได้เข้าร่วมทำประชาคมในเรื่องนี้ แต่กลับมีรายชื่อเห็นชอบในประชาคมให้ใช้ป่าชุมชน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบว่ามีใครไปปลอมแปลงเอกสารหรือไม่ หากชาวบ้านรายนั้นไม่ได้ไปร่วมเห็นชอบจริง แล้วมีการเซ็นชื่อแทน มันทุจริต ใครทำก็ต้องว่ากัน ทางคณะตรวจสอบก็ต้องไปหามา แต่ขอถามกลับว่าตอนทำประชาคม ชาวบ้านรายนี้ได้ไปหรือไม่ เพราะมีการติดประกาศไว้แล้ว 30 วัน ได้แสดงตัวหรือไม่ ถ้าส่งเอกสารมาว่าคัดค้านก็คงได้ แต่เจ้าหน้าที่นำเข้ามาพิจารณาหรือไม่ ตนก็ไม่รู้ก็ให้ตรวจสอบอยู่ทั้งหมด หากทำมาโดยชอบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำมาโดยมิชอบ ก็ต้องหาผู้กระทำผิด ซึ่งตนได้สั่งการให้อธิบดีกรมที่ดินไปดูว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร มีการทุจริตหรือไม่

     ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ตรวจสอบแล้วพบว่ากลุ่มชาวบ้านเคยทำหนังสือมาร้องคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย เมื่อช่วงปลายปี 2558 และต้นปี 2559 พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเอกสารขึ้นมาแน่นอน แต่เห็นเอกสารเหมือนกัน เมื่อเรียกมาดูก็เห็นว่าทำตามขั้นตอน พอส่งเข้ามาเขาก็มีหนังสือออกไปให้หน่วยเกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วรายงานให้ทราบ แต่ไม่ได้หมายความว่านำเรื่องนี้ไปให้นายกฯ พิจารณาโดยตรง เข้าใจว่าเรื่องที่มาร้องเรียนมีเยอะมาก เขาก็ทำไปตามขั้นตอน คือส่งหน่วยพิจารณาตรวจสอบรายงานมาให้ทราบ

ปฏิรูปตร.กระจายอำนาจ 3 ด้าน

     เมื่อเวลา 11.45 น. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับหลักการในข้อเสนอว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจแบบบูรณาการ ที่คณะอนุกรรมการด้านหน้าที่อำนาจและภารกิจตำรวจ ที่มีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร เป็นประธานอนุกรรมการ แต่ขอให้ศึกษาแนวทางเพิ่มเติม อาทิ การกระจายอำนาจให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, กองบัญชาการภูมิภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ใน 3 ประเด็น คือ 1.การบริหารงานบุคคล รวมถึงแต่งตั้งโยกย้าย ที่ต้องยึดการโยกย้ายภายในกองบัญชาการเป็นสำคัญ เช่น การย้ายข้ามภาคไม่ควรมีหรือมีให้น้อยที่สุด หากจะย้ายต้องเข้าเงื่อนไขพิเศษ เป็นต้น 2.งบประมาณ ที่กองบัญชาการต้องบริหารจัดการเอง แต่รายละเอียดนั้นยังไม่ได้พิจารณา เบื้องต้นมองว่าหากจะปรับปรุงต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพิจารณางบประมาณของตำรวจก่อน เนื่องจากกองบัญชาการต่างๆ ไม่ใช่นิติบุคคลเหมือนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 3.การบริหารงานภายใน หรือการบริหารงานทั่วไป ส่วนการกระจายอำนาจตำรวจนั้นยืนยันว่าจะยังคงเป็นไปภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น และจะไม่โอนย้ายไปให้กระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ตามข้อเสนอของบางฝ่ายก่อนหน้านี้

จ่อโละ ก.ต.ช.-ลดอำนาจ นายกฯ 

     นายสมคิด กล่าวด้วยว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนอื่นๆ นั้น มีข้อเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และให้มีเพียงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เท่านั้น เพราะอำนาจการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดิมที่เคยให้ ก.ต.ช.ร่วมพิจารณานั้นถูกตัดออก จึงอาจไม่มีความจำเป็น อีกทั้งแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาโยกย้ายนายตำรวจเป็นเรื่องของตำรวจ ส่วนฝ่ายการเมืองหากจะเข้าร่วมพิจารณาต้องให้มีส่วนน้อยที่สุด เบื้องต้นมีแนวคิด 2 แนวทางคือ ให้ นายกฯ ยังเป็นกรรมการ หรือให้นายกฯ ทำหน้าที่อนุมัติชื่อเท่านั้น เพราะตามกระบวนการนายกฯ ต้องนำรายชื่อนายตำรวจยศระดับสูงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

     โฆษกกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวด้วยว่า ส่วนการรับฟังความเห็นของประชาชนนั้นยังมีโดยเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น จะเข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เพื่อขอความเห็น รวมถึงบุคคลอื่นๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, อดีตผบ.ตร. เป็นต้น ทั้งนี้รายชื่อผู้ที่จะขอความเห็นนั้น ไม่มีการเอ่ยถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ที่กำกับดูแลงานตำรวจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ