ข่าว

"บิ๊กตู่"การันตีญี่ปุ่นลงทุน"อีอีซี"-ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“บิ๊กตู่”ปลื้มนักธุรกิจญี่ปุ่นสนใจลงทุน"อีอีซี" การันตีพัฒนาต่อเนื่องใส่ในยุทธศาสตร์ชาติเป็นก.ม.ไว้ นายกฯปัดตอบ"รัฐบาลแห่งชาติ"ชี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาจะพูด

     เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้อนรับ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) พร้อมด้วยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและคณะนักลงทุนรายใหญ่กว่า 570 รายจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้ดำเนินมาสู่ปีที่ 130 โดยการพบกันครั้งนี้ยังได้ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และ Connected Industries ไปสู่นโยบาย Thailand 4.0 Towards Connected Industries เพื่อจับมือร่วมกันในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ตลอดจนการยกระดับพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไปสู่ EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation) ที่มีจุดเด่นในด้านนวัตกรรมและความทันสมัยตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม นอกจากนี้ได้กำหนดแผนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรุงเทพฯ-โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคทั่วประเทศเข้าด้วยกัน

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายในงานว่า ในบรรดาชาติพันธมิตรลำดับต้นๆ ของไทยนั้น ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นมิตรแท้ที่มีบทบาทและเป็นต้นแบบในหลายด้านที่สำคัญต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ การเมือง อุตสาหกรรม ตลอดจนการค้าและการลงทุน สำหรับในปี 2560 ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินมาถึงปีที่ 130 และยังถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งสองชาติ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็กำลังอยู่ในช่วงของภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวน่ายินดีที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตมากที่สุดในรอบ 2 ปี และเป็นผลต่อเนื่องให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน ตลอดจนการผลักดันนโยบายอาเบะโนมิกส์ และ Connected Industries ที่ทั้งสองนโยบายดังกล่าวจะเชื่อมโยงมาสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมกลุ่มประเทศ CLMVT การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะทำให้เกิดการร่วมมือและขับเคลื่อนทั้งสองประเทศไปสู่อนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

"บิ๊กตู่"การันตีญี่ปุ่นลงทุน"อีอีซี"-ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

    สำหรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 570 รายในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ความพยายามในการผลักดันมาตรการต่างๆ จากภาครัฐของไทย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีความชัดเจนและเห็นผลที่เป็นรูปธรรมหลายประการ

    “สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ชาวโลกได้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงทัศนคติและความเชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองของประเทศที่เห็นผลแล้วว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้มีความมั่นคงมากที่สุด ซึ่งยังมั่นใจว่าหลังจากนี้ภาคอื่นๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างของประเทศจะเกิดสัญญาณที่ดีขึ้นตามมาและเห็นผลเป็นรูปธรรมในไม่ช้าอีกแน่นอน” นายกฯ กล่าว

    ส่วนการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังคงยึดแม่เหล็กใหญ่คือนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสำคัญ โดยหลักการดังกล่าวนั้นสามารถเชื่อมโยงและร้อยเรียงกับนโยบาย Connected Industries ของประเทศญี่ปุ่นให้เกิดความสอดคล้องและเติมเต็มระหว่างกันและนำไปสู่ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 Towards Connected Industries ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้การเชื่อมต่อของทั้งสองนโยบายจะเริ่มต้นที่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเสรีการค้า การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศ โดยปัจจัยทั้งหมดนี้ยังจะช่วยยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ให้เป็นแลนด์มาร์คของแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

แผนพัฒนาโครงการคมนาคม

    นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในระยะ 5 ปี (2560–2564) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคตะวันออก รวมทั้งเชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศและเป็นประตูสู่เมียนมาร์ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ ได้แก่

    1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ในระยะ 5 ปีแรก จะเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 5 ล้านคนต่อปี และ 60 ล้านคนภายในปี 2575 2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง 3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในอนาคต 4.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 5.โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ 6.โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง 7.ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS: One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

"บิ๊กตู่"การันตีญี่ปุ่นลงทุน"อีอีซี"-ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

หยอดคำหวาน-ให้รีบลงทุน

    นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยี่ยมประเทศไทย พร้อมกับคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศญี่ปุ่นมากมาย นั่นหมายความว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในแนวหน้าแทบจะรวมอยู่ในไทยในตอนนี้ สำหรับไทยมีอุตสาหกรรมที่รวมตัวกันอยู่มากมาย ถือเป็นฮับการผลิตแห่งเดียวในอาเซียน บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีฐานการผลิตในไทยมานานถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมามีความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะมีการพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงต่อไป

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะพูดคุยกันวันนี้ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรีต่อกันและถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศติดตามการมาเยือนในครั้งนี้ และส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าจะมีนักลงทุนจะมามากขนาดนี้ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกันมา 130 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันในทุกระดับ ซึ่งจะสานความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปอีก 130 ปี ในส่วนการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่างๆ ร่วมกันนั้นในวันที่ 12 กันยายน มีกำหนดปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการทำบันทึกความเข้าใจร่วม 7 ฉบับ และกำหนดหัวข้อทางเศรษฐกิจต่างๆ ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวทีเหล่านี้

    “ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ไทยทำวันนี้จะยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่เพราะตัวเอง แต่เพราะเราได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทุกๆ 5 ปีจะมีการพิจารณาแผนเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกรัฐบาลที่มาจากนี้ก็ต้องทำต่อ เพราะเป็นกฎหมายวันนี้รัฐบาลนี้จะปฏิรูปทุกเรื่อง และเราได้ศึกษาไว้ทั้งหมดแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวและว่า การทำงานครั้งนี้ส่วนตัวคิดว่า หากร่วมมือกันช้าเกินไป จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้

    “ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดหรือเลือกตั้งเมื่อใด ก็ต้องสานต่อโครงการอีอีซีเพราะเป็นกฎหมายบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายนักลงทุนญี่ปุ่นได้ถามนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาในเรื่องการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง เรามีแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในช่วง 5 ปีแรก และในระยะต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ก็จะมี นอร์ทอีซี เซาท์อีซี เวสต์อีซี เชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออกและยึดโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

    นายกรัฐมนตรีกล่าวช่วงท้ายด้วยว่า ส่วนตัวชอบอาหารญี่ปุ่น เมื่อไรก็ตามที่เบื่ออาหารต่างๆ กินอะไรไม่ได้ ก็จะกินอาหารญี่ปุ่น เพราะกินง่าย ร้านอาหารในเมืองเต็มไปหมด ศูนย์การค้าก็เยอะแยะไปหมด ก็ห่วงว่าญี่ปุ่นจะไม่มีเนื้อรับประทานอีกต่อไป หลายประเทศกินเนื้อ มัตสึซากะหรือโกเบ ญี่ปุ่นก็ต้องรีบผลิตเดี๋ยวจะไม่มี และในวันข้างหน้าไทยฝากผลไม้ เนื้อหมูแช่แข็งไปญี่ปุ่นด้วย ก็เหมือนกับที่ได้หารือกันไปก่อนหน้า

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ต้อนรับคณะผู้เดินทางจากญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ อธิบดีกรมนโยบายการค้า ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JETRO) ประธานองค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ผู้บริหารบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น มิตซุย ซูมิโตโม่อินชัวรันส์ พร้อมหยิบยกประเด็นหารือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การร่วมมือในการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

    ทั้งนี้ในช่วงค่ำ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้นำคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่นร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับนักลงทุนไทย พร้อมรับประทานอาหารค่ำ และชมการแสดงวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต้อนรับ ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี

“เมติ”หนุนลงทุนอุตฯไฮเทคไทย

    นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มียอดขอส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นโดยแล้วคิดเป็นมูลค่า 65,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% ของยอดขอส่งเสริมทั้งหมดประมาณ 120,000 ล้านบาท โดยการเดินทางมาของนักลงทุนญี่ปุ่นในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและทำให้เกิดการตัดสินใจลงทุนที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว 60-70% และมีแผนขยายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ และสามารถต่อยอดได้ เชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอีกจำนวนมาก

    นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีเมติ กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นชั้นแนวหน้าได้มารวมตัวกันอยู่ในไทย และจะมีโอกาสได้ไปดูพื้นที่อีอีซี สำหรับไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ขณะที่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีฐานในไทย ดังนั้นไทยจึงเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกวันนี้มีบริษัทของญี่ปุ่นมาตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในไทย และบางบริษัทของญี่ปุ่นมีโรงงานในไทยที่ยิ่งใหญ่กว่าและมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงกว่าโรงงานของบริษัทแม่ในญี่ปุ่น จากนี้ไปจึงคาดหวังว่าจะได้ร่วมมือกันพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงต่อไป

"บิ๊กตู่"การันตีญี่ปุ่นลงทุน"อีอีซี"-ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

ยันให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน

    เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในงานเตรียมความพร้อมก่อนการประกาศวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี นายสุวพันธุ์ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม และเจ้าหน้าที่พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน

    นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชน ทั่วโลกให้ความสำคัญรวมทั้งประเทศไทยและตนก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตจะได้เกิดในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อยากพูดว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ที่จะให้คนระดับล่างและประชาชนเข้าใจว่าอะไรคือคำว่าสิทธิมนุษยชน ในหลายๆ ระดับทั้งกลุ่มเปราะบาง สิทธิมนุษยชนแต่ละบุคคล ชุมชน ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนา บางส่วนก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม การเข้าไม่ถึงไม่มีรูปธรรม อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่าในทุกภูมิภาคของโลกมีปัญหาเช่นกัน ประเทศไทยอาจจะต้องมีวิธีการของตัวเองในการที่จะทำให้เรื่องนี้และเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ไม่ใช่แค่คำพูดหรือเอกสารที่ดูสวยหรู แต่เป็นแค่นามธรรม แต่ทั้งหมดต้องมองภาพรวมไม่ใช่มองแค่สิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายเฉพาะเรื่องทุกอย่างก็จะยึดโยงไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว 

    “รัฐบาลนี้มีเจตนามุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังแท้จริง ที่ผ่านมามีการสรุปคดีในสำนวนต่างๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามการกล่าวอ้าง ร้องเรียน ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบทุกเดือนและให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องตรวจสอบและรายงานผลทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้ต้องแยกแยะให้ได้ว่าคำว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนคืออะไร การทำงานของเจ้าหน้าที่และคำกล่าวอ้างของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องดูว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ และการละเมิดกฎหมายก็ต้องมาดูว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การทำงานจึงต้องระมัดระวัง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

    นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ถ้าทุกคนไม่รู้จักหน้าที่ก็จะมองแต่เรื่องของสิทธิและเสรีภาพก็จะทำให้ทุกอย่างสับสนอลหม่านไปทั้งหมด  อย่างไรก็ตามยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งมาจากตัวบุคคล จากระเบียบกติกา กฎหมาย เป็นต้น พยายามแก้ไขปัญหาและทำงานทุกอย่างขอร้องว่าอย่าไปฟังคำพูดที่บิดเบือนมากนัก ทุกอย่างต้องดูให้รอบคอบว่ากฎหมายหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายส่วนจะผิดหรือถูกก็ไปว่ากันตามขั้นตอน ซึ่งไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวอะไรขอยืนยัน

เหน็บเผ่นหนีคดีทั้งที่ยังไม่ตัดสิน

    "วันนี้เราต้องทำให้บ้านเมืองเป็นปกติมีสันติสุข หลายคนบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร ผมจะทำได้อย่างไร จะไปสั่งให้คนเลิกทะเลาะกันได้หรือไม่ หรือจะสั่งให้ศาลยุติธรรมยกเลิกให้อภัยกันทั้งหมดทำได้หรือไม่ ผมถามสถานทูตเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศว่าทำได้หรือไม่ ก็ตอบว่าทำไม่ได้ หากเราจะยกเลิกเพื่อการปรองดองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคดีความหรือเรื่องอะไรต่างๆ ก็ตาม รวมไปถึงคดีอาญา คงต้องยกเลิกให้ผู้ต้องหาออกมาทั้งหมด มันทำได้ไหม ไม่มีประเทศไหนทำได้ สิ่งสำคัญในวันนี้ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนด้วยความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง

    ไม่ใช่มาบอกว่าคนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุก มันติดคุกคนแหละ อยู่ที่ว่าจะอยู่ให้ติดหรือจะหนีไป เรื่องจริงมันเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครคิดหรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญเราโดนมองแล้วว่าถ้าเราไปทำอะไรก่อนที่คดีความจะตัดสิน โดยที่เราไปเพ่งเล็งใคร ก็จะโดนกล่าวหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอีก นี่คือความขัดแย้งการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ ถ้าทำอะไรขณะที่ยังไม่มีเรื่องมีราว เพียงแค่นำเข้าสู่กระบวนการยังแตะอะไรกันไม่ได้เลย อันนั้นคือความยากง่ายของเจ้าหน้าที่ในการทำงาน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า กฎหมายไม่ได้มีไว้เล่นงานคนดี กฎหมายไม่ได้มีไว้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม แต่กฎหมายมีไว้คุ้มครองคนทุกคนให้มีโอกาสให้เข้าสู่ประโยชน์ของทรัพยากร กฎหมายไม่ได้มีไว้แกล้งใคร เพียงแต่ใครก็ตามที่ทำผิดกติกาเหล่านั้น ก็ต้องถูกพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่มีสาเหตุ ไม่มีเรื่อง ไม่มีหลักฐาน ไม่มีใครทำอะไรได้ เขาก็สู้คดีกันเยอะแยะไป บางครั้งอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมตัดสินไปแล้ว เพราะวันนี้เราตัดสินกันเองเยอะแยะ โดยตัดสินกันด้วยความรู้สึก ตัดสินกันด้วยระบบโซเชียล และตัดสินกันทางสื่อ จนเกิดความวุ่นวายไปหมด คนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุก เพราะคนจนหนีไปไหนไม่ค่อยได้ใช่ไหม ยอมรับตรงนี้สิ เราก็ต้องดูแลเขาว่าจะทำอย่างไร ถ้าเขาผิดก็ต้องติดคุก แต่เขาไม่หนีเพราะหนีไม่ได้ ไอ้บางคนผิดไม่ผิดยังไม่รู้ แต่ก็หนีแล้ว อย่างนี้คิดว่าไม่ใช่ อย่าไปสร้างความรู้ผิดๆ แบบนี้

    “นี่ผมไม่ได้พูดถึงใครเลยนะ เดี๋ยวจะหาว่าผมไปว่าใครอีก ผมพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่อย่ามายุ่งกับรัฐบาลและคสช.มากเกินไป ต้องนึกถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้น ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จบหน้าที่ผมแล้ว และเรื่องนี้ผมไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องเดิมที่นำเข้าสู่กระบวนการ เพื่อจะได้จบเสียที ปัญหาใหม่ก็ยังรออยู่อีก คนทำผิดวันหน้าก็มีอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า ขอให้กฎหมายได้ทำงาน ตนมีหน้าที่บริหารและรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างบรรยากาศในการปรองดอง เว้นบางคนที่ไม่อยากปรองดองก็ปล่อยเขาไป

แจงสาธิตน้ำ-ไฟพ้อถูกด่าตลอด

    นายกฯ ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ จ.สระแก้วว่า เรื่องที่จัดน้ำไฟให้แล้วพอนายกฯ กลับเขาก็เก็บกลับไปด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องระวัง วันนั้นที่ตนไปก็ขอดูว่าถ้าจัดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเป็นอย่างไร เขาก็จัดให้ตนดูมีน้ำมีไฟซึ่งเป็นจัดสาธิต แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจแล้วคิดว่าเดี๋ยววันพรุ่งนี้จะมีเลย แต่พอถึงเวลาเขาก็เก็บกลับกันหมดตนก็โดนด่าอีก

    “บางทีก็เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เราต้องเข้าใจกัน เพราะเราจัดที่ให้เขาแล้ว ทุกคนไม่เคยมีสิทธิที่ดิน แต่ได้ที่ไปแล้วคนละแปลงจบแล้วขั้นแรก นอกจากนั้นก็ไปดูเรื่องกฎหมายและการขอไฟ ขอน้ำ และขึ้นทะเบียน บางทีคนของเราก็อยากได้เร็วๆ และได้มากๆ มันไม่ใช่ เราต้องรู้ว่าขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างไร การกระจายสิทธิและการถือครอง หลายคนบอกว่าให้ไปยึดคืนมาเลย แล้วผมถามว่าเขาได้มาอย่างไร ถ้าได้มาอย่างถูกต้อง เขาซื้อมาท่านก็ต้องเยียวยาและเอาเงินไปให้เขาด้วยนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปยึดเขามา เห็นว่ามีเยอะเลยยึดมามันมากเกินไป เมื่อวานนี้ก็มีคนเสนอว่าให้ผมไปซื้อหุ้นปตท.กลับมา พอดูราคาและใช้เงินเท่าไรไม่มีใครเข้าใจหรอก จะให้ซื้อหุ้นกลับมา ผมถามว่าซื้ออย่างไรเขาบอกว่าให้ไปซื้อราคาทุนตอนแรก ถ้าแบบนี้ก็เลิกพูดกันดีกว่า คิดแบบนี้ไม่ได้” นายกฯ กล่าว

ปัดตอบรบ.แห่งชาติ-ไม่ใช่เวลา

    ภายหลังการกล่าวเปิดงาน พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอของนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ พร้อมโบกมือว่า “ไม่มีความเห็น ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดในช่วงนี้”

    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสั้นๆ ถึงแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า “ได้รับฟังเขาต่อมาเท่านั้น” 

    ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโรดแม็พเลือกตั้งว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดระยะวันเวลาไว้อยู่แล้ว นับได้ก็ราวๆ กลางปี 2561 แต่กลุ่มอำนาจนิยมทำเป็นเรื่องมากทั้งที่วันนี้การแก้ปัญหาปากท้องประชาชนยังย่ำแย่ทางที่ดีควรจัดการเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นคนตัดสินหรือหากจะดันทุรังอ้างโน่นนี่ก็สุดแท้แต่จะพากันแสดงธาตุแท้อะไรออกมา 

    “ส่วนที่มีอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมากล่าวว่าไม่ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยหากมีระบบทักษิณดำรงอยู่ อยากจะบอกว่าหากระบบทักษิณมีจริงก็เป็นนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์ และขอบอกว่าพรรคเพื่อไทยเดินตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่อิงแอบกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ ไม่เป็นรัฐบาลที่ไปตั้งในค่ายทหาร ไม่ต้องรับคำสั่งให้ป่วนในสภา ประเภทลากเก้าอี้ หรือปาแฟ้มใส่ประธานสภา สร้างรอยด่างในสภา ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับประชาชนที่รักความเป็นธรรมและเคารพต่อผลการเลือกตั้ง ไม่เป็นประเภทขี้แพ้แล้วพาล” นายสมคิด กล่าว

"บิ๊กตู่"การันตีญี่ปุ่นลงทุน"อีอีซี"-ใส่ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

“มาร์ค”ไม่เอายันยึดตามโรดแม็พ

    ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้จัดรัฐบาลแห่งชาติว่า ท่านได้มองเห็นปัญหาที่มีอยู่ในใจของคนจำนวนมากว่าหาทางออกไม่เจอเมื่อประเทศเดินต่อไปและจะไม่ให้เกิดความขัดแย้งจะทำอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับแม้เราจะเห็นด้วยหรือไม่แต่ความกังวลนี้อยู่ในใจคนจำนวนมาก นอกจากนี้ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของนายพิชัยจะมีรูปแบบใด เนื่องจากพูดเพียงว่านำพรรคการเมืองทุกพรรคมาและให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหลักในการจัดเรื่องนี้ แต่ก็พูดไม่ชัดว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และไม่ได้พูดเจาะจงว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หากเป็นก่อนเลือกตั้งในทางปฏิบัติคงไม่ง่าย เพราะพรรคการเมืองต่างๆ มีความลังเลเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าจะเข้าร่วมได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้ง และจะเลือกกี่พรรคในการเข้าไปร่วม ถามว่าความชอบธรรมอยู่ตรงไหน เพราะไม่มีส.ส.และหากจะจัดตั้งรัฐบาลก่อนเลือกตั้งจะต้องเปลี่ยนโรดแม็พหรือไม่ ซึ่งมองว่าหากจะพยายามเปลี่ยนโรดแม็พมีแต่จะทำให้ความเชื่อมั่นเชื่อถือในประเทศลดลงและไม่เป็นผลดีนัก ซึ่งหลายคนตั้งความหวังไว้สูงมากในการเลือกตั้ง จะเป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องได้

    “แต่หากจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังเลือกตั้ง ยืนยันตลอดว่าเราควรจะเคารพประชาชน เพราะเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วจะรู้ล่วงหน้าว่าทุกพรรคจะไปเป็นรัฐบาลจะเลือกตั้งทำไม เพราะเลือกมาแล้วก็ได้แบบนี้ ซึ่งไม่ใช่หลักของการใช้กลไกประชาธิปไตย ถึงได้ย้ำใน 2 ประเด็น คือ 1.รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องเป็นรัฐบาลรวบรวมจากเสียงส.ส.เกิน 250 คนเป็นหลัก และส.ว. 250 คน ไม่ควรไปฝืนการรวมตัวของส.ส.เกิน 250 คน และ 2.วันนี้ที่ทุกอย่างมองว่ามันคือทางตัน เพราะส่วนใหญ่เรากำลังมองบุคคลกับพวก แต่ไม่พูดถึงทิศทางประเทศและนโยบายในการแก้ปัญหา ถ้าเราหันกลับมามองปัญหาประเทศ ยึดประชาชนเป็นตัวตั้ง เราอาจจะเจอทางออกก็ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสิ่งที่นายพิชัยเสนอแปลได้ว่าเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก่อนเลือกตั้งเท่ากับคนที่มีอำนาจในปัจจุบันจะต้องเป็นคนดึงกลุ่มพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะได้ไม่มีปัญหาและยืดเวลาเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อาจมีบางคนที่เห็นด้วย แต่คิดว่าขณะนี้คนไม่ต้องการเห็นความไม่แน่นอนเพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่จะอยู่นานเท่าไหร่ ที่สำคัญความอันตรายอย่างหนึ่งของรัฐบาลแห่งชาติ คือขาดการตรวจสอบ ในภาวะที่ไม่มีเลือกตั้งและในภาวะพิเศษก็จะมีปัญหา

    “ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะโจมตีนักการเมืองบ่อยมาก วันดีคืนดี คนที่เคยบอกว่าไม่ดี แล้วดีอย่างไรจึงต้องนำไปอยู่ในรัฐบาล การจะบอกว่าข้อเสนนี้เป็นความตั้งใจดีไม่ให้เกิดความขัดแย้งขอบอกว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองแต่ประชาชนต่างหากคือผู้ที่ให้คำตอบ ถ้าประชาชนไม่ยอมรับพรรคการเมืองว่าทำอย่างนี้ไม่ใช่แนวทางที่สนับสนุนก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจเคลื่อนไหวอยู่ดี ดังนั้นเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์จะต้องยืนยันในแนวทางและโรดแม็พที่วางไว้ และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในแง่ พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้ คือการทำความเข้าใจกับพรรคการเมือง มากกว่าหลังการเลือกตั้งถ้าบ้านเมืองจะกลับสู่ประชาธิปไตยอะไรบ้างที่พรรคการเมืองจะแสดงออกให้เห็นว่าจะไม่นำไปสู่ปัญหาเดิมๆ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ชี้ยังไม่ชัดสุเทพตั้งพรรคใหม่

    นายอภิสิทธิ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ทั้งที่ฐานเสียงเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายสุเทพอยู่ในระดับที่ใช้คำว่าไม่ปฏิเสธทางเลือกที่จะตั้งพรรค แต่ไม่ชัดเจนถึงกับบอกว่าจะตั้งพรรคการเมือง และในขณะนี้ไม่มีใครในพรรคที่แสดงความจำนงไม่ทำงานกับพรรคต่อ แม้กระทั่งหลายคนในแกนนำกปปส.ก็ยังยืนยันว่าจะทำงานกับประชาธิปัตย์ ถ้านายสุเทพตั้งพรรคเราต้องดูว่าแนวทางคืออะไร ซึ่งยังไม่ทราบว่าพรรคที่นายสุเทพจะตั้งขึ้นเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งอยู่ที่เจ้าตัวจะยินยอมหรือไม่ 

    ต่อข้อถามการที่นายสุเทพจะตั้งพรรคจะทำให้ประชาธิปัตย์ได้หรือเสีย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คนกังวลแน่ เพราะมีความรู้สึกว่าฐานเสียงคือฐานเดียวกัน ถ้านายสุเทพตั้งพรรค เราต้องฟังว่าตั้งด้วยวัตถุประสงค์อะไร ตอนนี้ได้ยินอย่างเดียวว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นคนที่จะตอบว่าได้หรือเสียคือประชาชน และหาก พล.อ.ประยุทธ์ยินยอมให้เสนอชื่อ ก็เท่ากับรู้เห็นให้นายสุเทพจัดตั้งพรรค เมื่อถามย้ำว่า การตั้งพรรคของนายสุเทพอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์แตก นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ยึดถือแนวทางการแก้ไขปัญหาประเทศ ถ้าพรรคไม่สามารถผลักดันแนวทางที่ต้องการจะทำได้เราก็ไม่สมควรที่จะทำ เราต้องเป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ไม่เช่นนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่อยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่วันนี้ตั้งใจว่าอยากเป็นรัฐบาลเพราะปัญหาของประเทศต้องการการแก้ไขและประเทศควรจะมีทางเลือกที่ดีกว่าเผด็จการและคอร์รัปชั่น

หน.ชพน.พร้อมให้ความร่วมมือ

    นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ให้สัมภาษณ์กรณีแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา สถานการณ์ของประเทศอยู่ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด ทำให้ขาดความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองในการส่งเสริมและรักษาระบอบประชาธิปไตยรวมทั้งมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะนี้ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนเปลี่ยนครั้งใหญ่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยและต้องได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการปฏิรูปในทุกๆ ด้านภายใต้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ภารกิจจะสำเร็จได้ยากหากขาดความร่วมมือจากพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นการเมืองภายหลังมีการเลือกตั้งจะต้องเป็นหลักให้แก่ประเทศ การเมืองจะต้องนิ่งและมีเสถียรภาพมั่นคง พวกเราได้เห็นบทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาแล้ว 

    “ทุกพรรคการเมืองจะต้องร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ลืมอดีตแห่งความขัดแย้งเพื่อร่วมกันสู่การแก้ไขปัญหาของชาติให้สำเร็จ ทำให้ประชาชนมีความสุข รูปแบบของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ นักลงทุนมีความมั่นใจ รัฐบาลมีเสียงข้างมากกว่าทุกครั้งเพื่อให้เกิดเสถียรภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งต้องเป็นศูนย์กลางของความปรองดองได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองต้องปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกันได้ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ส่วนการจะไปสู่การเป็นรัฐบาลแห่งชาติขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต ทางพรรคชาติพัฒนายินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างทางออกให้แก่ประเทศ” นพ.วรรณรัตน์ กล่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ