ข่าว

"เพื่อไทย" ค้าน กม.พิจารณาคดีนักการเมืองลับหลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เพื่อไทย" แถลงค้านกฎหมายดำเนินคดีนักการเมือง ชี้ขัดหลักสากล เตรียมยื่นองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมขอให้นายกฯ ส่งเรื่องให้ศาล รธน. ตีความด้วย

เมื่อเวลา 10.45น. ที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายนพดล ปัทมะ แกนนำและฝ่ายกฎหมายพรรค ร่วมแถลงข่าว เรื่อง ขอให้ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ…

           โดยนายชูศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ของพรรคว่า  พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า 1.การยกเว้นไม่นำหลักเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายสาระบัญญัติมาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะขัดต่อหลักการ  นอกจากนี้การที่กฎหมายที่มีการกำหนดอายุความในทางอาญาหรือแม้แต่ในทางแพ่งล้วนมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้นำคดีมาว่ากล่าวกันเมื่อใดก็ได้ เช่นอีก 30 ปี หรือ50 ปี ฯลฯ ข้างหน้าซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีจะสามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น พยานเอกสารอาจสูญหาย บุคคลอาจจะเสียชีวิตหรือไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนานๆได้อย่างถูกต้อง อันจะกระทบการต่อการอำนวยความยุติธรรมอย่างร้ายแรง การบัญญัติกฎหมายในลักษณะดังกล่าวยังทำให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้และเป็นการเลือกปฏิบัติ 
 
             2. การกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลหรืออยู่ในอำนาจศาล ซึ่งแตกต่างไปจากการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริต    และประพฤติมิชอบซึ่งใช้บังคับกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐด้วยที่กำหนดว่าการพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย แต่ตามร่างกฎหมายนี้ กลับยกเลิกหลักการดังกล่าวโดยกำหนดให้ศาลรับฟ้องโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาศาลและพิจารณาสืบพยานจนถึงการพิพากษาคดีไปได้ ทั้งที่หลักการพิจารณาและสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยนั้น เป็นหลักยุติธรรมสากล ที่มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิของจำเลยอันเป็นสาระสำคัญของหลักนิติธรรมและหลักการพื้นฐานในกระบวนการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ร่างกฎหมายนี้กลับยกเว้นหลักการดังกล่าว ทำให้การพิสูจน์ความจริงของศาลสามารถกระทำได้เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องฟังความจากฝ่ายจำเลยแต่ประการใด การกำหนดเช่นนี้ยังขัดต่อหลักความเสมอภาคอีกด้วย 
 
              3.การกำหนดให้ร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังทั้งๆ ที่ร่างเดิมของ กรธ. ไม่ได้กำหนด จึงเป็นการตรากฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคล ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องของวิธีพิจารณาแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะว่าเรื่องอายุความก็ดี การพิจารณาคดีที่ต้องทำต่อหน้าจำเลยก็ดี หากบัญญัติกฎหมายฉบับใหม่ย้อนหลังไปใช้บังคับอันมีลักษณะเป็นการจำกัดตัดสิทธิจำเลยเพื่อทำให้จำเลยเสียเปรียบในคดีอาญา ย่อมถือว่าเป็นการตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษทั้งสิ้น 
 
    พรรคเพื่อไทยตระหนักว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นเป็นภัยอันร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบแต่จะต้องกระทำโดยยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัดตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรงและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ซึ่งพรรคจะได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย
   
       เมื่อถามว่าสนช.ระบุว่าหลักการกฎหมายนี้ส่วนหนึ่งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้จำเลยได้สู้คดีอย่างเต็มที่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า หลักสากลกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง หลักความเสมอภาค สิ่งที่สนช.พูดไป ขัดกับหลักการ เพราะว่าหลักทั่วไป บุคคลควรพึงได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย โดยมีเหตุผลรองรับว่าทำไมต้องพิจารณาคดีต่อหน้า สิ่งที่สนช.พูด มันขัดหลักกัน โดยอ้างข้อยกเว้นมาพูด
 
          นายโภคิน กล่าวว่า แม้กฎหมายรื้อฟื้นคดี พ.ศ.2524 กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นหลักทั่วไป ที่จะดำเนินคดีกับนักการเมืองกับบุคคลทั่วไปได้ เพราะทุกคนเสมอภาคกัน ถ้ามาเลือกว่าบุคคลนี้เป็นอย่าง กลุ่มนี้เป็นอีกอย่าง แม้จะทุตริตด้วยกัน แต่ข้าราชการจะเปิดเผย แล้วนักการเมืองลับหลัง แบบนี้เป็นการลักลั่น เลือกปฏิบัติ

    ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการอ้างว่าการออกกฎหมายลักษณะนี้เพื่อปราบทุจริต นายโภคินกล่าวว่า กฎหมายมี2ลักษณะ กำหนดความผิด กำหนดโทษและบัญญัติวิธีพิจารณา ประเด็นสำคัญคือ เมื่อกฎหมายระบุอายุการพิจารณาจะถือว่า อายุความเป็นวิธีพิจารณาของทั้งโลก จะมีการจำกัดอายุความไว้ กฎหมายทั้งโลกมีวิธีพิจารณาที่ต่างกัน บริบทของฝรั่งเศสมีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ของไทยมีความเสมอภาคมาตั้งแต่ต้น จะพิจารณาลับหลังไม่ได้ อายุความเป็นสิ่งสำคัญ ไปแก้ในรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้เราไม่เคยทำ แต่ถ้ามาทำในครั้งนี้ มองว่าปัญหาทุจริตร้ายแรง ก็ต้องใช้กับเรื่องนี้ การทุจริตเกิดจากฝ่ายเดียวหรือหลายฝ่าย เรื่องนี้ไม่ได้มองเพราะหลายท่านเป็นนักการเมือง แต่มองถึงตัวบทกฎหมาย มีการวิพากษ์วิจารณ์มาก ขัดต่อหลักสากล กฎหมายของฝรั่งเศสถือว่ากฎหมายของประเทศมาก่อน ที่เรามาสร้างอย่างนี้ นึกถึงบริบทของเราหรือเปล่า ไม่ใช่อ้างของเขา แบบนี้ใครก็ทำได้ ถ้าอ้างแบบนี้ต่อไปจะยุ่งไปหมด

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ถามว่า ที่สนช.อ้างแบบนี้ เพราะคดีของนักการเมืองที่ได้หลบหนีไป ถ้าไม่มีคดีตรงนั้น สนช.คงไม่พิจารณาแบบนี้ นายโภคินกล่าวว่า มีคดีที่ฆ่าคนตายแล้วหนีไป ถามว่ามีหรือไม่ ก็มี ระหว่างคดีฆ่าคนตายกับคดีทุจริต ถามว่าทุจริตร้ายแรงกว่าใช่หรือไม่ แต่โทษของการฆ่าคนตายคือประหารชีวิต ซึ่งก็มีคนโต้แย้งว่าขัดต่อหลักการรื้อฟื้นคดี ถ้าให้รื้อฟื้นคดี นักโทษที่ถูกขัง จำเลยที่ถูกจำคุกอยู่ เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกประหารชีวิตแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อ เราสร้างอะไรก็ตามแต่ไปขัดกับหลักใหญ่ แต่ต้องตอบโจทย์ได้ทุกโจทย์ ไม่เช่นนั้นผู้ที่ฆ่าคนตายก็แปลว่ายังอยู่ในอายุความ แต่การทุจริตไม่อยู่ในอายุความ เราต้องการเห็นการปราบทุจริตอย่างจริงจัง แต่ต้องไปดูว่ารากฐานอยู่ตรงนั้นใช่หรือไม่ ถ้าบอกว่าการทำเช่นนี้จะทำให้แก้ทุจริตได้ แก้ตั้งแต่อำนาจปปช. มาถึงศาลต้องฟังหลักฐาน พยานเอกสารของปปช.เป็นหลัก แก้แม้กระทั่งให้คดีเป็นการไต่สวน แม้ทำสำนวนชุ่ยแค่ไหนก็ตาม ถ้าศาลไต่สวนมาฟังได้ เราก็รับฟัง การดำเนินคดีให้เป็นระบบไต่สวน ขณะที่คดีอาญาโดยทั่วไปต้องไต่สวน อัยการต้องพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าทำผิด แต่ถ้าสงสัย ศาลก็จะยกประโยชน์ให้ หลักเดียวกันแต่บุคคลปฏิบัติคนละอย่าง ทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่
 
         เมื่อถามว่าสนช.ตอนพิจารณาได้นึกถึงหน้าใครหรือเปล่า นายโภคิน กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นตน นักกฎหมายเขาเรียน อ่านหนังสือมา เราดูทั่วโลกว่าทำอย่างไร เราก็อยากทำให้เป็นสากล
  
        เมื่อถามว่าสนช.ระบุว่าเหตุที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะต้องสร้างมาตรฐานนักการเมืองให้สูง เนื่องจากเป็นผู้มีอิทธิพลที่อาจส่งผลต่อรูปคดีและหลักฐานต่างๆ นายโภคินกล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้บ้าง ในบางกรณี แต่กรณีที่ไม่มีเขาต้องรับผลไปด้วยใช่หรือไม่ ตนเข้าใจว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นมาจาก พ่อค้า ข้าราชการ และนักการเมือง ไม่ว่าจะมาจากระบบเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ดังนั้นเราจึงต้องไปดู ส่วนคนอื่นๆต้องไปดูว่าจะป้องกันอย่างไร ถามว่าที่ปรับปรุงแก้ไขทุกวันนี้ ดีขึ้นหรือเลวลง และตอบโจทย์ถูกต้องหรือไม่ ถ้าตอบโจทย์ไม่ถูกต้องจะเป็นการสะสมปัญหา ไปกันใหญ่ คิดว่าจะทำอย่างไรให้มันถูกต้อง เราพยายามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น เช่นกรณี แรงงานต่างด้าวที่ตอนแรกเอาโทษหนักเป็นหลัก แต่ต่อมาก็ออกเป็นพรก.ละเว้นการลงโทษไว้6เดือน แต่ยังไม่บังคับใช้ ก็เป็นการขัดกันไปขัดกันมา จะสร้างระบบอะไรต้องสร้างอย่างรอบครอบ ยั่งยืน ทุกคนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน ตนมองว่าการใช้กฎหมายธรรมดาใช้กฎหมายจริงจัง เคร่งครัด คิดว่าพอเพียง แต่เราใช้แบบพิเศษ โดยไม่ได้มองถึงปัญหาอะไรที่ตามมา
   
     เมื่อถามถึงกรณีที่ สนช.บอกว่าแม้พิจารณาคดีลับหลังแต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ์จำเลย ยังแต่งตั้งทนายมาสู้คดีได้ แต่จำเลยที่หนีออกนอกประเทศก็หมายความว่าไม่พร้อมเข้าสู่ระบบ นายโภคินกล่าวว่า คนที่ไม่ได้นั่งในคณะพิจารณาคดี ก็ตัดสินคดีไม่ได้ ศาลในการตัดสินคดีที่จะยุติธรรมที่สุด ผู้พิพากษาทุกคนได้มีโอกาสเห็นหน้าจำเลย ได้ฟังโจทก์ ฟังพยานหลักฐานต่างๆ ได้ดูสำนวนด้วยตัวเองทั้งหมด จะทำให้คนที่ตัดสินคดี สามารถมีวิจารณญาณที่ถูกต้องมากกว่า แต่ถ้าคนมาตัดสินคดีไม่เห็นจำเลยเลย หรือไม่ใช่คนเดิมที่นั่งพิจารณาตลอด เปลี่ยองค์คณะ เปลี่ยนสำนวนไปสู่อีกแบบหนึ่ง ถามว่าอย่างนี้จะเป็นปัญหากับกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เราจะตัดสินใครมาถูกหรือผิด โดยเฉพาะคดีอาญา เราต้องให้มั่นใจว่าถูก ถ้ายังยึดหลักนี้อยู่ ตามรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ กฎหมายที่เกี่ยวกับอาญาก็รับรองไว้ แต่ถ้าเราจะยกเว้นเรื่องนี้เพราะมองว่าร้ายแรง มองว่าจะทำได้จริงอย่างนั้นหรือไม่
 
       เมื่อถามว่าเราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้นักโทษหนีคดี นายโภคินกล่าวว่า จะเห็นว่าทุกวันนี้ ศาลไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ 1.ศาลไม่ให้ประกันตัว 2.ให้ประกันตัวแต่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนพฤติกรรมส่วนตัว จะไปทำนอกเหนือจากนั้น ก็เกิดได้ทุกกรณี เกิดได้กับทุกคนไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม
 
    เมื่อถามว่ามีข้อเสนอแนะอะไร เพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาการหลบหนีคดี นายนพดล กล่าวว่า การพิจารณาคดีลับหลัง เป็นการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นคิดว่าร่างแรกที่เสนอไป ไม่ได้มีเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ คิดว่าส่วนใหญ่กลไกลก็พอเพียงแล้ว แต่ในหลักการต้องให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
 
        นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องที่แถลง ได้ยึดหลักการกฎหมาย หลักที่จะคำนึงถึงสิทธิต่างๆของจำเลย และผู้ถูกกล่าวหา ที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่วิธีการพิจารณาเมื่อถูกกล่าวหาแล้วนั้น ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยไปแล้ว ไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้พูดหรือทำความเข้าใจ สิ่งที่เราจะบอกว่า หลักนี้ไปขัดกับหลักสากล กฎหมายที่ทั่วโลกเขาถือ เพราะเราคำนึงถึงว่า ถ้าเราตัดสินอะไรที่ผิดไปแล้ว นำผู้บริสุทธิ์ไปเข้าคุก เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ต้องคำนึงถึงสิทธิของจำเลย สิ่งต่างๆมากระทบกับความเชื่อมั่นของเรา เพราะสิ่งที่เราทำทั้งหมด ไปขึ้นกับดุลพินิจหรือข้อยกเว้นต่างๆ ถ้ามาใช้กลับหลักทั่วไปจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ
  
       นายโภคินกล่าวว่า ตามที่ได้ถามว่าผู้ที่หลบหนีคดีจะแก้ไขอย่างไรนั้นในทั่วโลก เรามีกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเรามีพันธะกับบางประเทศ และเราก็เคยมีการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ก็ต้องไปดูว่าทำไมเขาไม่ส่งให้ เพราะกฎหมายเราถูกต้องหรือไม่ ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเหมือนกัน เราต้องวางหลักกฎหมายที่อารยะประเทศที่รับรอง คนหลบหนีไม่รู้จะไปห้ามอย่างไร แต่ถึงไม่ว่าจะหลบหนีอย่างไร เราก็ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ประเด็นถ้าเราวางกฎหมายไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นไปได้ว่า เขาไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้
 
        เมื่อถามว่าหลังยังมีอีก4-5คดีที่เกี่ยวกับนายทักษิณที่จำหน่ายคดีไปแล้ว ทำให้สนช.ต้องมาพิจารณาคดีแบบนี้ว่าให้มีผลย้อนหลัง นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล แต่เราพูดว่าสังคมไทยจะอยู่ร่วมกับสังคมโลกอย่างไร จะมีระบบกฎหมาย ความยุติธรรมทั้งหมด ให้ทั่วโลกเขายอมรับได้อย่างไร เพราะปัญหาของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น ถ้าไม่คำนึงถึงหลักนี้ แล้วไปเที่ยววางตัวบุคคลหรือพิจารณาถึงตัวบุคคล ไปไล่ล่ากัน ปัญหาของประเทศไม่ว่าจะเรื่องของความปรองดองหรือความเชื่อมั่นต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น เราไม่พูดถึงตัวบุคคลแต่พูดถึงหลักการ
 
    ถามว่าที่ผ่านมาก็เคยมีการร้องขอไปยังต่างประเทศ ให้ส่งตัวนายทักษิณกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมองว่ามาจากเรื่องใด นายภูมิธรรม  ก็ต้องมาทบทวนดูว่า เรื่องที่กล่าวหาเขา อยู่ในกฎหมายใด และต่างประเทศมองว่าการกระทำการหรือการดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆ มันเป็นการกระทำผิดกฎหมายข้อใด หรือเขามองว่าเป็นคดีทางการเมือง ก็ต้องไปพิจารณาดู
---------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ