ข่าว

"กมธ."ร่วม3ฝ่ายลงมติ6ปมกม.กกต. ไม่ขัดแย้ง"รธน."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กมธ.ร่วม3ฝ่ายลงมติ 6 ปมกม.กกต. ไม่ขัดหรือแย้งรธน.  ด้านปธ.กกต.ขอสงวนความเห็น เตรียมชงเข้าสนช. สัปดาห์หน้า "สมชาย" ยันไม่มีคว่ำแน่

           4 ก.ค. 60 ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุมที่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ กกต. ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1 การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้เป็นกรรมการสรรหา กกต. 2. การกำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3. กกต. คนเดียวหากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้งการเลือกตั้ง ในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้ 4.กกต.มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.กกต. มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวนได้ และ6. กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง หรือการเซตซีโร  

           "มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ทั้ง 6 ประเด็น ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีเพียงนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่ไม่เห็นด้วยและขอสงวนความเห็นไว้ ทั้งนี้ในวันที่ 7 ก.ค. กมธ.ร่วม จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อตรวจรายละเอียดอีกครั้งก่อนนำเสนอประธาน สนช. เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ซึ่งคาดว่า เข้าที่ประชุมได้ในวันที่ 13 ก.ค.หรือ วันที่ 14 ก.ค. ถือว่า อยู่ในการระยะเวลา 15 วัน" นายสมชาย กล่าว

           นายสมชาย กล่าวต่อว่า เชื่อว่า สมาชิก สนช. จะโหวตผ่านร่างฯ โดยจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก สนช. หรือหากจะคว่ำร่าง ก็ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก สนช. แต่เห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่จะคว่ำร่างฯ เพราะ สนช. เป็นผู้เห็นชอบร่างฯมาเอง และ กมธ. ร่วมฯ ไม่มีการแก้ไขอะไรเลย หากจะคว่ำก็ต้องตอบกับสังคมให้ได้ เพราะอะไร แต่ไม่คิดว่า จะเกิดขึ้น สมมติว่า เกิดมีการคว่ำร่างขึ้นมา ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเป็นผู้ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ คงใช้เวลาไม่นาน เพราะใช้ร่างเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่า เป็นการยื้อการโรดแมปเลือกตั้ง

           เมื่อถามว่า หากมีการตั้งกรรมาธิการร่วมในกฎหมายลูกทุกฉบับที่กำลังพิจารณาจะกระทบต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปที่คาดกันว่า อยู่ในช่วงปลายปี 2561 หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เท่าที่ทราบจะมีการ กมธ. รวมฯพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับก็เชื่อว่า การพิจารณายังอยู่ในกรอบเวลา 8 เดือนที่กำหนดไว้.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ