ข่าว

"เพื่อไทย" ส่งหนังสือขอให้ทบทวน ร่างกฎหมายพรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เพื่อไทย" ส่งหนังสือถึง สนช. กรธ. กกต. ขอให้ทบทวนกฎหมายพรรคการเมือง แจงมีปัญหาในทางปฏิบัติ

27 มิ.ย. 2560 -  พรรคเพื่อไทย ได้ทำหนังสือ ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยระบุว่า  ร่างที่ผ่าน สนช. มีบางส่วนที่ต่างจากร่างของ กรธ.  โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง  การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้นำระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น (Primary Vote)  ซึ่งหลายพรรคการเมืองได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติอันจะส่งผลต่อการจัดส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง  พรรคเพื่อไทยเห็นว่า หลักการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับพรรคซึ่งรวมถึงการคัดเลือกผู้สมัครนั้น เป็นสิ่งที่ดีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองแต่ยังมีปัญหาที่ควรต้องพิจารณาดังนี้  1. การบริหารพรรคการเมืองผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารและต่อสมาชิกพรรคคือคณะกรรมการบริหารพรรค หากเกิดความผิดพลาดขึ้น กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษอย่างหนัก   การคัดเลือกผู้สมัครโดยปกติพรรคต้องพิจารณาจากผู้มีความประพฤติที่ดี มีความรู้ความสามารถในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเดิมพรรคก็มีกระบวนการสรรหาโดยผ่านคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครและคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมกัน โดยมีการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว หากพรรคส่งบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ผู้นั้นก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่การให้สิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเพียง 100 คน กรณีของสาขา และ 50 คน กรณีตัวแทนประจำจังหวัดนั้น อาจเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงทำให้เกิดกรณีที่สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครจัดตั้งสมาชิกซึ่งสนับสนุนตนเองเพื่อมาลงคะแนนเลือกตนได้ง่าย วิธีการคัดเลือกผู้สมัครตามร่างเดิมของ กรธ.นั้นมีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ 

    2. การคัดเลือกขั้นต้น (Primary Vote) นั้นมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง เพราะผู้สมัครต้องดำเนินการโดยสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดทุกแห่ง อาจทำให้เกิดปัญหาที่พรรคสรรหาผู้สมัครได้ไม่ทันกำหนดเวลารับสมัครของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และอาจมีกรณีร้องเรียนว่าผู้สมัครไม่ได้รับการสรรหาที่ถูกต้อง ซึ่ง

    3. บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสาขาพรรคการเมืองในบางมาตรา อาจมีปัญหาเรื่องความทับซ้อนของพรรคการเมืองกับเขตเลือกตั้ง   ส่วนพรรคเล็กก็อาจต้องหาสมาชิกเป็นจำนวนมากหากประสงคจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครับ 

    "พรรคเพื่อไทยหวังว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและไม่มีปัญหาอุปสรรคต่อการส่งผู้สมัครและการจัดการเลือกตั้ง มีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมต่อไป"  ลงนามโดย พล.ต.ท. วิโรจน์  เปาอินทร์
รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
 
    ขณะที่  นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย เผยว่า วันนี้พรรคได้ทำหนังสือถึงประธาน กรธ. ประธาน สนช. และประธาน กกต. เพื่อแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วย กับระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น (Primary Vote) ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ มีการแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการของ สนช. และได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 60 โดยให้เหตุผลว่า การคัดเลือกผู้สมัครของพรรคนั้น ทุกครั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่อยู่แล้วว่ามีความนิยมในตัวผู้สมัครท่านใด เหมือนการหยั่งเสียงเบื้องต้น การคัดเลือกก็มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครร่วมกับคณะกรรมการบริหารพรรคโดยคณะกรรมการคัดเลือกก็แต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่พรรค อันประกอบด้วยกรรมการบริหารสาขาพรรค และสมาชิกพรรค การคัดเลือกจึงมีความรอบคอบและได้ผู้สมัครที่มีความเหมาะสมในการลงสมัครซึ่งสอดคล้องกับร่างฉบับของ กรธ. แต่การคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้นตามร่างกฎหมายพรรคการเมืองดังกล่าว กลับให้เป็นสิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สมาชิกในพื้นที่ของสาขาและพื้นที่ของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งสมาชิกเพียง 100 คน กรณีของสาขา และ 50 คน กรณีของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็มีสิทธิคัดเลือกผู้สมัครได้ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาหลายประการทั้งการบล็อกโหวต การรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึง เป็นภาระค่าใช้จ่ายของพรรคที่สูงทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกในพรรค ทำให้เกิดปัญหากับพรรคขนาดกลางและเล็กได้ และปัญหาเรื่องระยะเวลาการส่งผู้สมัครของพรรคที่อาจดำเนินการไม่ทันตามระยะเวลาการรับสมัครของ กกต. อีกทั้งหากมีการร้องเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกไม่ถูกต้อง อาจทำให้พรรคต้องเสียโอกาสในการส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นได้ นอกจากนี้ตัวบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเองยังมีความไม่ชัดเจนที่อาจตีความได้หลายนัยที่สมควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งพรรคได้เสนอไปพร้อมกันแล้ว
----------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ