ข่าว

 ต้องแก้ "ไพรมารี่โหวต" ขยายฐานสู่ปชช. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นักวิชาการรัฐศาสตร์" ชี้ เงื่อนไขไพรมารี่โหวต ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่สร้างการมีส่วนร่วมแท้จริง

          สมาคมนักข่าวฯ - 23 มิ.ย.​60 - "นักวิชาการรัฐศาสตร์" ชี้ เงื่อนไขไพรมารี่โหวต ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่สร้างการมีส่วนร่วมแท้จริง แนะให้ปรับ ขยายฐานสู่ปชช.ในพื้นที่, ใช้เงินกองทุนพรรคเพื่อให้มีประสิทธิภาพ

            น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทักท้วงต่อเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยระบบการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ระบบไพรมารี่โหวต เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากการเลือกของสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วในวาระสาม แม้ว่าตนจะเห็นด้วยกับระบบไพรมารี่โหวต แต่เนื้อหาที่เขียนไว้ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งหรือตัวแทนจังหวัด เพียง 100 คนสามารถลงคะแนนเลือกตัวแทนเพื่อให้พรรคพิจารณาส่งลงเลือกตั้งส.ส. และผู้ที่จะได้รับเลือก ต้องได้คะแนน 25 - 50 คะแนน แม้ผู้เขียนต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ด้วยจำนวนดังกล่าวไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริง และกลับทำให้เกิดการกระจุกตัวมากขึ้น 

          น.ส.สิริพรรณ กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อแก้ไข ด้วยว่า การใช้ระบบเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาตัวแทนส่งสมัคร ส.ส. ไม่จำเป็น หรือมีบทบังคับให้ทำพร้อมกันทั้ง 375  เขตเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีโอกาสตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อร้องเรียนของสมาชิกพรรคหรือตัวแทนพรรคต่อปัญหาของการใช้ระบบเลือกตั้งขั้นต้นดังกล่าว ขณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมไม่ควรจำกัดให้เฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตัวแทนส่งสมัคร ส.ส. เพื่อให้เกิดการขยายฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองที่แท้จริง ขณะเดียวกัน กกต.ควรจัดสรรเงินจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองทำการเลือกตั้งขั้นต้นดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ