ข่าว

รฟม.ยันรวมสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไม่มีหมกเม็ด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รฟม. แจงรวมสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ไม่มีหมกเม็ด ระบุสิ้นสุดสัญญาปี 92 ผลตอบแทน 9.75 % รัฐไม่เสียเปรียบ หากผู้โดยสารน้อย เอกชนต้องรับความเสี่ยงเอง

 


         16 มิ.ย. 60 -  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ได้ชี้แจงกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดประเด็นความไม่โปร่งใสในการรวมสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายเฉลิมรัชมงคล โดยระบุว่า 1.การรวมสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เข้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2572 (ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ) ไปสิ้นสุดในปี 2592 แทนนั้น ส่งผลให้รายได้ของ รฟม. ที่จะได้รับหากมีการเดินรถด้วยตนเอง รวมถึงค่าโฆษณาสูญหายไปไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทนั้น 
          รฟม.ขอชี้แจงว่า เนื่องจากการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2562 โดยคงอัตราค่าโดยสารเดิมตามโครงสร้างค่าโดยสารสายเฉลิมรัชมงคล ทำให้ผลการดำเนินการของเอกชนได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าร้อยละ 9.75 จึงพิจารณาให้นำรายได้จากสายเฉลิมรัชมงคลมาชดเชย
          ส่วนที่นายวิลาศตั้งคำถามว่าสาเหตุใดจึงยินยอมทำสัญญากับบริษัทเอกชน ในรูปแบบที่เสียเปรียบและไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน โดยเปิดเผยข้อมูลว่าในสัญญาระบุว่า จะมีการแบ่งปันรายได้หรือผลตอบแทน ให้แก่ รฟม.ต่อเมื่อมีผลตอบแทนการลงทุนเกินร้อยละ 9.75 ซึ่งในเอกสารประเมินการลงทุนพบว่า การจะได้ผลตอบแทนดังกล่าวต้องรอจนถึงปี 2592 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัญญาแล้ว เท่ากับ รฟม.ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นนั้น รฟม.ขอชี้แจงว่า รัฐมิได้เสียเปรียบแต่อย่างใด การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวถือเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งเอกชนก็คาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นธรรมต่อการลงทุน และจากผลการเจรจาต่อรองกับเอกชนก็ได้ข้อสรุปว่าผลตอบแทนที่ระดับร้อยละ 9.75 มีความเป็นธรรมต่อเอกชนผู้รับสัมปทาน อย่างไรก็ตาม หากการเดินรถมีจำนวนผู้โดยสารน้อยกว่าที่ได้ประมาณการไว้ เอกชนก็ต้องรับความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานที่อาจจะขาดทุนได้
         ส่วนที่ระบุว่า รฟม.ปกปิดข้อมูลดังกล่าวไม่ให้สาธารณชนได้รับทราบนั้น รฟม.ขอชี้แจงว่า การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งได้ดำเนินการตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ทั้งยังมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง จึงไม่ถือว่าปิดบังข้อมูลแต่อย่างใด
          ส่วนที่โครงการดังกล่าวจัดให้มีการประกวดราคา ไม่ใช้วิธีเจรจาเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นั้น เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมีลักษณะเป็นวงกลม และเป็นโครงข่ายเดียวกัน การเดินรถแบบต่อเนื่องจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนรถที่สถานีหัวลำโพงและสถานีเตาปูน ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทาง โดยเฉพาะขณะเกิดอุบัติเหตุ เพราะเป็นระบบเดียวกันทั้งสาย ไม่เกิดปัญหาการแบ่งพื้นที่และหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ทำให้การเดินรถมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถปรับระยะทางและรูปแบบการให้บริการได้ตามความหนาแน่น และความต้องการของผู้โดยสารโดยไม่ติดขัดว่าแยกระบบหรือพื้นที่ให้บริการ ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพราะสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมือของสัญญาสัมปทานเดิมได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท และสามารถเปิดเดินรถได้บางช่วงก่อนในปี 2562 และเต็มสายในปี 2563
           อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองนั้น ไม่ใช่ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ซึ่งมีการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนรับสัมปทานการดำเนินโครงการไปเรียบร้อยแล้ว.


                    
          

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ