ข่าว

ปธ.กสม.ซัดอย่าอ้างลดเกรดเซ็ตซีโร่ !!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วัส"โพสต์เฟซร่ายยาวย้ำกสม.ชุดปัจจุบันไม่ใช่ต้นเหตุถูกลดสถานะ หยุดอ้างเพื่อเซ็ตซีโร่ ชี้กสม.ร่วมกันแก้ไขปัญหาจนเกิดผลงานอย่างต่อเนื่อง

        13 มิ.ย.60 นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาระบุว่า เรื่องราวเกี่ยวกับกสม.ไทย 1.การได้มาของกสม.ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3 ) เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ถูกลดสถานะจาก เอ เป็น บี หรือไม่  เมื่อปลายปี 2557 กสม.ไทยถูกกำหนดให้แก้ไขปัญหาทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงภายใน 1  ปี ซึ่งครบกำหนดเมื่อปลายปี 2558  ในขณะที่ กสม.ชุดปัจจุบัน  เข้ารับหน้าที่เมื่อปลายปี 2558 ต่อมาปลายเดือนมกราคม 2559 กสม.ไทยถูกลดสถานะจาก เอ เป็น บี  การที่ กสม.ไทยถูกลดสถานะจึงไม่ได้มีผลมาจากการได้มาของกสม.ชุดปัจจุบันแต่อย่างใด ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า การได้มาของกสม.ชุดปัจจุบันเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ถูกลดสถานะจึงเป็นความเท็จ

           2. เหตุใดจึงต้องกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ( พ.ร.บ.) ว่าด้วยกสม.ให้กรรมการสรรหา กสม.มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 246 วรรคสี่ บัญญัติให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม. มีผู้แทนองค์กรเอกชนร่วมในการสรรหาด้วย เป็นเหตุให้ร่างดังกล่าวที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับวันที่ 7  มิถุนายน 2560  มาตรา 11  กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกสม.ให้มีผู้แทนองค์กรเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย ซึ่งการกำหนดให้กรรมการสรรหากสม.มีความหลากหลายมากขึ้น จึงไม่ได้เกิดจากความต้องการของผู้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม.แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คงมีปัญหาว่ามีการร่างองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาที่มีเหตุผลถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

          นายวัส ระบุต่ออีกว่า 3. ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม.ของกรธ.ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบน้อยลงหรือไม่ โดยร่างฉบับดังกล่าวของกรธ. ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน มาตรา 29  กำหนดให้กสม. แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือศึกษาเรื่องใดในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น ในปัญหาเรื่องนี้กสม. ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอความเห็นต่อกรธ.ให้แก้ไขจากข้อความว่า“ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”เป็น“ในกรณีที่มีความจำเป็น”

          ประธานกสม. ระบุอีกว่า 4. การทำงานของ กสม.ชุดปัจจุบันมาปีเศษ มีปัญหาอุปสรรคมาโดยตลอดหรือไม่ ทุกองค์ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงานแต่ละองค์กรย่อมต้องช่วยกันแก้ไข กสม.ชุดปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ในระยะแรกของการทำงานพบปัญหาและอุปสรรคแต่กสม.ก็ร่วมกันแก้ไขจนปรากฏผลงานทั้งภายในและระหว่างประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง

         5. บทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม.ระบุว่า กสม. ชุดปัจจุบันต้องรักษาการจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่ ถ้าดูองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาต้องมีทั้งประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้าน  ฉะนั้นกว่าจะได้กสม.ชุดใหม่ต้องมีเลือกตั้งแล้วหากร่างฉบับนี้ผ่านต้องรอประเทศไทยเลือกตั้งและมีประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้ครบองค์ประกอบ จะได้ไม่ถูกตั้งคำถามอีก

           นายวัส กล่าวว่า  บทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม. ของ กรธ. กำหนดให้ประธานกสม. และกสม. ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกสม. ใช้บังคับ (รีเซ็ตหรือเซ็ตซีโร่ทั้งชุด) แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (ร่างมาตรา  60 วรรคหนึ่ง) แต่คณะกรรมการสรรหาต้องดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกสม.ภายในเวลาที่กำหนดในร่างมาตรา 61  (ประมาณ 7 เดือน นับแต่วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ใช้บังคับ) ไม่ใช่รอผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มีประธานสภาผู้แทนราษฎร  มีรัฐบาล  และมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งอาจตกในราวปลายปี 2561  ตามที่มีผู้ให้ความเห็นดังกล่าว

 
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ