ข่าว

งัด ม.44 ให้ต่างชาติ "เปิดมหา'ลัย" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คสช.งัดม.44 ให้ต่างชาติเปิดมหา'ลัย ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังรองรับประชาคมอาเซียน เน้นสาขาขาดแคลน ที่มหา'ลัยไทยยังเปิดสอนไม่ได้ พัฒนาวิทย์-เทคโนฯอาชีวะ

          16 พ.ค. 60 - พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

          "ที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในภาคเอกชนของไทย  ยังมีปัญหาที่บางสาขาไม่สามารถเปิดได้ จึงจะชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็ม ในสาขาที่เราขาดแคลน โดยสถาบันศึกษาฯที่จะเข้ามาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และตามที่เราพิจารณาว่าเหมาะสม" 

         พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่จะมีการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 คือ การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะ ในส่วนนี้เราจะมีมาตรการที่เข้มกว่าระดับอุดมศึกษาข้างต้น เพื่อจะได้ไม่เป็นคู่แข่งขันของสถาบันการศึกษาของเราเองในประเทศ

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะมีนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ครม. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีการหารือร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีความเห็นตรงกันว่า จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนหรือเออีซี โดยให้เปิดได้เฉพาะสาขาวิชาที่ขาดแคลน ที่มหาวิทยาลัยไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้และมีบุคลากรไม่เพียงพอ

          นพ.ธีรเกียรติ  กล่าวไว้ว่า ความคิดในการเชิญชวนต่างชาติให้มาเปิดสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาจากหลายฝ่ายทั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพราะสาขาวิชาที่รองรับไทยแลนด์ 4.0 หลายเรื่องยังไม่มีบุคลากรรองรับ และมหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนอยู่ขณะนี้ก็ผลิตไม่เพียงพอ และบางสาขาวิชาที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงมาก ๆ บางสาขาก็ยังไม่มีการผลิต เช่น รถไฟฟ้า โลโบติก (Robotic) ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับสูง ที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระดับสูง เป็นต้น

         ส่วนที่เสนอให้ใช้ ม.44 นั้น นพ.ธีระเกียรติ ให้เหตุผลไว้ว่า หากใช้หลักเกณฑ์ปกติตามที่ สกอ.กำหนด กว่าจะจดทะเบียนหาหุ้นส่วน ที่เป็นคนไทยก็จะไม่ทันการณ์ อย่างไรก็ตามแม้จะเชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาเปิดสถาบันการศึกษา แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะมาหรือไม่ อีกทั้งไม่ใช่ว่าเมื่อเปิดกว้างแล้วทำอะไรก็ได้ ศธ.จะมีคณะกรรมการควบคุมว่าเป็นวิชาที่ขาดแคลนมีความจำเป็นต้องใช้ในอาเซียน และให้เริ่มตั้งสถาบันในเขตเศรษฐกิจพิเศษก่อน แต่จะเปิดช่องสำหรับขยายสถาบันการศึกษาในอนาคต

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ