ข่าว

"ชาวตรัง"อ้อน!! อยากให้"บิ๊กตู่"เป็นนายกฯไปนานๆๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช.ลุยเมืองตรังปชช.อ้อนอยากให้"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯต่อ“พีระศักดิ์”ยันยังไม่ยุบรวมอบต.ด้าน”กาญจนรัตน์”โวยุคสนช.คลอดกม.กว่า200ฉบับกางปฏิทินคาดเลือกตั้งไม่เกินพ.ย.61

          เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2560 ที่หอประชุมโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่2พร้อมด้วยสมาขิกสนช.จำนวน20คน อาทินายกล้าณรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง พล.อ.สกนธ์ สัจจนิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้นพร้อมด้วยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งหารือกับส่วนราชการต่างๆ ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง รับฟังปัญหาอุปสรรคด้านต่างๆเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภายใต้บทบาทหน้าที่ของสนช.ภายใต้เป้าหมาย”สะท้อนปัญหา นำพาแก้ไข ห่วงใยประชา” โดยได้มีการแบ่งคณะเล็กลงพื้นที่ต่างๆในจังหวัดตรัง เช่น ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาท่าเทียบเรือปากเมง ทำกิจกรรมเพื่อสังคม พบปะตัวแทนกลุ่มสตรี เป็นต้น

        นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งของสนช.ก็เป็นสะพานเชื่อมแม่น้ำ5สายในการรับฟังปัญหาของประชาชน ซึ่งก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาต่างๆที่แก้ไขไม่ได้สะสมมานาน ผ่านมา3ปี ปัญหาต่างๆก็ได้รับการแก้ไขได้ รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ค่อยๆขับเคลื่อนเติบโต ขณะที่ด้านความมั่นคงก็เดินหน้าไปสู่ความปรองดอง ส่วนการเลือกตั้งใหญ่นั้นเป็นนโยบายของคสช.อยู่แล้วแต่จะเลือกเร็วช้า ก่อนหรือหลังการเลือกตั้งท้องถิ่น ทางคสช.จะประเมินสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็ได้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ส่วนความเป็นห่วงเรื่องของการยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลยันยันเป็เพียงข้อเสนอของสปท.ขณะนี้ยังไม่มี

          ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สนช.และที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า สนช.มีหน้าที่หลักในการออกกฏหมาย โดยที่อยู่มายังไม่ถึง4ปี สนช.อออกฏหมายไปแล้ว239ฉบับ ซึ่งถือว่ามากกว่ายุคส.ส.และส.ว. ซึ่งกฎหมายที่ออกไปนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน บางฉบับในภาวะปกติกฏหมายบางฉบับก็ไม่สามารถออกได้ แต่ในยุคสนช.กฎหมายเหล่านี้ก็ออกมาบังคับใช้ได้ เช่น พ.ร.บ.การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่บังคับห้ามแบ่งขายบุหรี่กับเด็ก กำหนดโซนการสูบบุหรี่ กฎหมายการฟ้องร้องคดีเป็นกลุ่ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญม.77ได้มีการกำหนดเรื่องของการออกกฏหมายที่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน นำมาวิเคราะห์ผลกระทบผลดีผลเสียของกฏหมาย และต้องเปิดเผยผลวิเคราะห์ความเห็นให้ประชาชนรับทราบ อีกทั้งการออกกฏหมายจะออกเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและไม่สร้างภาระให้กับประชาชน ดังนั้นจากนี้ไปการออกกฏหมายทุกฉบับจะต้องทำตามม.77

           นางกาญจนา ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามโรดแม็ปเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหญ่ โดยสนช.จะต้องออกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่มีเวลาบังคับให้ออกภายใน240วัน คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน ก.พ.2561จากนั้นก็ต้องส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมีเวลา10วัน หากเห็นไม่ตรงกันก็มีเวลาแก้ไข10วัน ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ในเดือน มี.ค. เมื่อแก้ไขเสร็จเรียบร้อยก็นำร่างพ.ร.ป.นำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธยภายใน90วัน ก็น่าจะประมาณเดือน มิ.ย. และเมื่อประกาศใช้พ.ร.ป.แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะมีเวลา150วันในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.หากไม่มีเหตุใดเปลี่ยนแปลงหรืออาจเร็วกว่านั้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้เปิดให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาโดยปัญหาที่ประชาชนนำเสนอส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินปัญหาแหล่งน้ำปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาความต้องการในพื้นที่การเลือกตั้งท้องถิ่นและวาระการดำรงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านและเรียกร้องให้ช่วยในด้านการติดตามเงินช่วยเหลือจากภัยพิบัติน้ำท่วมจำนวน 3000 บาทเป็นต้น

          นอกจากนี้มีประชาชนคนหนึ่งได้กล่าวขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ที่ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย คนอื่นไม่รู้คิดยังไงตนไม่รู้แต่ชื่นชอบอยากให้พล.อ.ประยุทธิ์ นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อนานๆบ้านเมืองจะได้สงบซึ่งถ้าเรารีบให้มีการเลือกตั้งกล้าการันตีเลยว่าบ้านเมืองจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ