ข่าว

"วิษณุ"จำจนตาย"ในหลวง ร.9"ทรงสอนแม้เรื่องเล็กน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ"บรรยาย"ศาสตร์พระราชาด้านนิติศาสตร์" ย้ำองค์ความรู้"ในหลวง ร.9"มีอยู่จริง เพื่อให้ใช้ แก้-ป้องกันปัญหา พัฒนาประเทศ คือ ปณิธานสูงสุดของพระองค์

 

          27 เม.ย. 60 - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "ศาสตร์พระราชาด้านนิติศาสตร์" จัดโดยกรมพระธรรมนูญสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายทหารเหล่าพระธรรมนูญข้าราชการในสายงานด้านกฎหมายของกองทัพร่วมฟังการบรรยาย 

          นายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่ง ว่าองค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีจริง ซึ่งศาสตร์พระราชาคือองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาหรือหลักการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชทรงคิด ทรงทำ ทรงสอน และทรงพระราชทาน ซึ่งมีอยู่จริง เพื่อให้คนนำไปใช้แก้หรือป้องกันปัญหา หรือพัฒนาประเทศ สร้างความเป็นธรรมให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขซึ่งเป็นพระราชปณิธานสูงสุดของพระองค์ 

          "ร.9"ทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมาย หมื่นฉบับ ทรงทราบแม้กระทั่ง ส.ส. อภิปรายในสภา 

          การที่พระองค์มีศาสตร์พระราชานั้น มาจาก 1.การเสด็จฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้ทอดพระเนตรสิ่งต่างๆ ทั่วประเทศตลอด 70 ปีในการครองราชย์ นานพอจะทำอะไรได้หลายอย่าง 2.ได้รับฎีกาจากราษฎร ทั้งนักโทษขอพระราชทานอภัยโทษ หรือชาวบ้านร้องทุกข์ ขอความเป็นธรรม ปีปีหนึ่งท่านได้รับเยอะมาก 3.ได้รับรายงานจากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี 4.ท่านทรงทราบจากสื่อมวลชน และจากการเป็นนักวิทยุสมัครเล่น จึงทราบข่าวจากชาวบ้าน 

          ครั้งหนึ่งรัฐบาลในอดีตที่ตนมีส่วนร่วมนั้นได้ ทูลเกล้าฯ พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ท่านได้รับสั่งว่า กฎหมายนี้มีปัญหาในมาตรานั้นๆ ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดกฎหมายฉบับนั้นทอดพระเนตร พอขอพระราชทานกลับมาเปิดดูก็พบว่าจริงตามที่รับสั่ง เลยนำกลับไปให้สภาแก้ไข ซึ่งตนทราบภายหลังว่า เหตุที่ท่านทรงทราบว่ากฎหมายนั้นมีปัญหาเพราะท่านฟังวิทยุรัฐสภา จึงรู้ขนาดว่าเสียงของส.ส.ที่กำลังอภิปรายอยู่คือใคร 

          นายวิษณุ กล่าวว่า ตลอดการครองราชย์ 70 ปี พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยกฎหมายประมาณ 1 หมื่นฉบับ น้อยคนจะรู้ว่าก่อนจะลงพระปรมาภิไธย จะทรงมีคำถามเสมอ เช่น กฎหมายเขียนอย่างนี้แปลว่าอะไร ถูกต้องหรือไม่ เขียนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเรื่องด่วน นายกฯ จะต้องอธิบายต่อพระองค์เอง ถ้าไม่ด่วนจะอธิบายผ่านจดหมาย กราบทูลขึ้นไป เรื่องอย่างนี้มีประจำ แต่ไม่เคยเปิดเผยให้คนรู้ ทุกเรื่องที่ทรงถาม ทรงท้วง แสดงถึงศาสตร์พระราชา แสดงให้เห็นความละเอียด รอบคอบ แยบคายมีนัยยะแฝงไว้ และเมื่อพระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยจะใช้ปากกา Mont Blanc หมึกสีดำในการลง

          ทรงรับสั่ง อย่าเอาภาระเป็นตัวตั้ง แล้วไม่ทำอย่างอื่น

          นายวิษณุ กล่าวว่า พระองค์ทรงนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่นครั้งหนึ่งพระราชทานรับสั่งเมื่อรัฐบาลถวายข้อเสนอให้งดพระราชทานปริญญาบัตร เพราะมีมหาวิทยลัยจำนวนเป็นร้อยแห่ง เพื่อลดพระราชภาระ ท่านก็ทรงรับสั่งว่าการให้ปริญญาบัตรเป็นภาระจริงๆ แต่คนเราจะเอาภาระเป็นตัวตั้งแล้วไม่ทำอย่างอื่นไม่ได้ และการมอบปริญญาบัตรเป็นช่องทางเดียวที่จะได้ใกล้ชิดกับพสกนิกรซึ่งเป็นปัญญาชน และน้อยคนจะทราบว่า ระหว่างที่มอบท่านจะทรงทำสมาธิทุกครั้งอย่างแน่วแน่ตั้งใจ เพื่อส่งกระแสจิตความปราถนาดีไปถึงนิสิต ถ่ายทอดเจตนารมย์ความตั้งใจไปถึงเขา นี่คือน้ำพระทัย พระมหากรุณาธิคุณ

          "พระมหากรุณาธิคุณ" ในการอภัยโทษ มีเหตุผลเสมอ ขนาด ขอสึกลูกชาย ท่านทรงช่วยคลี่คลายมาแล้ว

          นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่พระองค์ได้รับฎีกาจากราษฎรนั้น พระองค์จะทรงอ่านเองทุกฉบับ ครั้งหนึ่ง ตนกับนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกฯ เมื่อได้ยินท่านรับสั่งถึงกับขนลุก ท่านรับสั่งว่า คนชอบพูดว่าฉันให้อภัยนักโทษ ฉันเป็นศาลที่4 แต่ความจริงไม่ใช่ ศาลฎีกาตัดสินถือว่าสิ้นสุด ฉันไม่ใช่ศาลดีแก ไม่ใช่ใช้อำนาจพิจารณาอภัยโทษแบบศาล แต่ฉันเป็นประมุข นั่นเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าอภัยโทษ ท่านจะเขียนแค่ว่า "ให้ปล่อยตัวผู้นั้นไปเสียเถิด"หรือ ถ้าฎีกาฟังไม่ขึ้น ท่านจะเขียนว่า "ยกฎีกา" โดยไม่ต้องแสดงเหตุผลหรือมาตราในการอภัยโทษ แต่ทุกครั้งพระองค์ทรงวิเคราะห์ สอบถามรัฐบาล จึงจะวินิจฉัย ทุกอย่างทรงมีเหตุมีผลทั้งนั้น เพียงแต่ไม่มีการออกมาพูดกัน และบางกรณีทรงใช้หลักนิติศาสตร์ หรือหลักรัฐศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ศาสตร์พระราชามารวมไว้ด้วยกัน เราจะเห็นทศพิธราชธรรมที่ชัดเจนเวลาพระราชทานอภัยโทษ

          " ครั้งหนึ่งท่านพระราชทานอภัยโทษนักโทษ ช่วงที่ผมเป็นเลขาฯครม.ใหม่ๆ ตอนนั้นตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และต่อเนื่องหยุดชดเชยในวันจันทร์ อยู่ๆตอนตี4 มีเจ้าหน้าที่สำนักเลขาฯครม. มากดกริ๊งหน้าบ้าน เจ้าหน้าที่แจ้งผมว่า มีฎีกาอภัยโทษนักโทษ มีรับสั่งว่าให้เอาไปให้เลขาฯครม.เซ็นเพื่อให้ดำเนินการปล่อยตัว ในเมื่อพระองค์สั่งปล่อยตัวตั้งแต่วันศุกร์ ถ้ามัวแต่ยึดเวลาราชการ รอถึงวันอังคาร เกิดเคราะห์ร้ายนักโทษเสียชีวิตไป จะกลายเป็นว่าตายในคุก ทั้งๆที่ในหลวงสั่งปล่อยตัวแล้ว แทนที่จะตายอย่างผู้มีอิสรภาพ อะไรที่เป็นเรื่องเมตตา กรุณา ช่วยเหลือ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรอ ให้ทำทันที มิฉะนั้นอาจสายเกินไป " นายวิษณุ ระบุ พร้อมยกตัวอย่างอีกเรื่องว่า 

          มีอยู่คราวหนึ่งเกิดก่อนผมเป็นเลขาฯครม. มีแม่คนหนึ่งฎีกาถึงพระองค์ ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม ว่า สามีตาย ลูกชายไปบวชหน้าไฟ 7 วัน ฐานะยากจน เวลานี้ล่วงเลยมา 30 วันแล้ว ลูกยังไม่สึก จึงขอถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณา ช่วยสึกลูกหม่อมฉันด้วย จะได้ออกมาเลี้ยงดูหม่อมฉัน พระองค์ให้เจ้าหน้าที่ไปแอบสืบว่าแม่ยากจน ลูกบวชอยู่จริงหรือไม่ ปรากฎว่าจริง เจ้าหน้าที่ไปถามลูกทำไมไม่สึก ลูกก็บอกว่า ดื่มด่ำในรสพระธรรม มีความสงบสุขตั้งใจบวชไปไม่สึก แม่จึงเดือดร้อน พระองค์จึงมีพระราชกระแสลงมาว่า แม่เดือดร้อนจริง ลูกมีความสุขแล้วจริง ถ้าสึกลูกมาก็จะเสียความตั้งใจ แม่ก็จะได้บาป แม่คงไม่ได้เดือดร้อนอยากให้ลูกสึก แต่เดือดร้อนเพราะไม่มีคนเลี้ยง ถ้าแม่ช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะไม่เดือดร้อน จึงให้กรมประชาสงเคราะห์ไปฝึกอาชีพที่พอทำได้ แล้วหาเครื่องมือพอประกอบอาชีพให้ เลยฝึกให้ทำผัดไท ก็ขายมีรายได้ดี แม่คนนี้เลยทำฎีกาฉบับที่สองถวายว่า บัดนี้เกล้ากระหม่อมฉันมีความสุขเป็นเพราะพระมหากรุณา ขอพระราชทานที่พึ่งอีกหนึ่งเรื่อง กรุณาช่วยแจ้งลูกหม่อมฉันด้วยว่าอย่าสึกเลย ถ้าสึกแล้วรายได้จากขายผัดไทหารสอง อยู่แล้วจะเป็นที่ลำบาก พระองค์ก็ทรงพระสรวล นี่คือศาสตร์พระราชาในการแก้ปัญหา

          "ในหลวง ร.9" รับสั่ง ประเทศไทย พระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีวันหยุดราชการ ปัญหา ประเทศไม่หยุดเสาร์-อาทิตย์

          นายวิษณุ ระบุต่ออีกว่า อีกเรื่องคือครั้งรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ในวันพฤหัส พอวันศุกร์ตอนเย็น ราชเลขาฯโทรศัพท์มาถึงผม ว่า มีพระราชกระแสให้สอบถามรัฐบาลว่า ตั้งครม.ไปแล้วเมื่อวานทำไมไม่ทำหนังสือขอเข้าเฝ้าถวายสัตยปฏิญาณ ถามนายกฯ ก็บอกว่าติดเสาร์-อาทิตย์ จันทร์ ก็หยุดราชการ ไม่อยากรบกวนพระเจ้าอยู่หัวในวันหยุด ราชเลขาฯ ก็นำไปกราบบังคมทูล จากนั้น1ชั่วโมง ท่านรับสั่งว่า ทีแรกนึกว่าที่ไม่รีบมาเข้าเฝ้าเพราะยังไม่พร้อม แต่ถ้าพร้อม ติดอยู่ที่ในหลวงให้รีบมาเลย พรุ่งนี้ให้มาเข้าเฝ้าถวายสัตยปฏิญาณได้ วันรุ่งขึ้นนายกฯ ก็นำครม.เข้าเฝ้า 

          เมื่อท่านพระราชทานพรเสร็จ  ก็ทรงพระดำเนินเดินมาใกล้นายกฯ แล้วรับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังว่า ในประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ ถ้ามีราชการก็ต้องทำ ถ้ามีอะไรอย่าได้เกรงใจ ให้รีบมา ฉันรู้ว่ารัฐบาลถ้ายังไม่ถวายสัตยปฏิญาณ จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ งานบ้านเมืองนั้นรออยู่เป็นอันมาก ถ้าไม่มาถวายสัตยฯ เสียเร็วๆ ประเทศชาติมีปัญหา รัฐบาลก็ลงไปแก้ไม่ได้ ปัญหาประเทศไม่ได้หยุดเสาร์ อาทิตย์ จันทร์ด้วย ศาสตร์พระราชาของพระองค์จึงใช้ทั้งเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ หลักวิชา และหลักที่ทำให้ไม่เสียหลักการ อาศัยความมีเหตุมีผล ซึ่งตัวอย่างเรื่องราวมีอีกเยอะ

          "ศาสตร์พระราชาที่ทรงแนะนำรัฐบาลเวลาเข้าเฝ้า หลายเรื่องเป็นที่รับรู้ ครั้งหนึ่งนายกฯ บรรหาร เข้าถวายรายชื่อครม. ผมก็ตามเข้าไปด้วย ท่านไม่ได้รับสั่งอะไร รับสั่งเพียงจะเอาไว้ดู แล้วค่อยลงพระปรมาภิไธย แล้วรับสั่งถามว่า นายกฯ หนักใจอะไรไหม ซึ่งทรงถามนายกฯ ทุกคน ไม่ได้โปรดหรือเมตตานายกฯคนใดเป็นพิเศษ ผมยืนยันว่าพระมหากรุณาธิคุณที่มีแก่นายกฯ ทุกคนเสมอกันหมด"

          พระองค์ไม่โปรด ลงพระปรมาภิไธย กม. ที่ถวายเกียรติยศ หรือเว้นไม่บังคับกับ กษัตริย์

          นายวิษณุ กล่าวว่า การถวายกฎหมายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยขอให้จำไว้เป็นบทเรียนและพึงระวังว่าไม่ทรงโปรดเรื่องถวายพระเกียรติยศหรือเรื่องที่เว้นไว้ไม่บังคับกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยยกตัวอย่างครั้งหนึ่งรัฐบาลขอพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติครบ 6 รอบซึ่งในท้ายข้อความมีคำว่า "มหาราช" จึงมีรับสั่งว่าการเขียนดังกล่าวเหมือนเป็นสถาปนาพระองค์เองจึงทรงพระราชทานเรื่องกลับมาให้ดำเนินการแก้ไข 

          "วิษณุ" จำจนตาย "ในหลวง ร.9" ทรงสอน แม้เรื่องเล็กน้อย

          ครั้งหนึ่งสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย มีการออกกฎหมายขึ้นเงินเดือนข้าราชการรวดเดียว 6 ฉบับ ก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไปช่วงเดือนพ.ย. ข้าราชการก็รอกฎหมายนี้ทั่วประเทศ ถวายไปแล้วก็เงียบไป กระทั่งวันหนึ่งมีพระราชทานเลี้ยงในวัน นายกฯ ชวน ก็ได้เข้าเฝ้า ผมก็กราบเรียนนายกฯ ไปว่า ถ้ามีโอกาสช่วยกราบบังคมทูลถามว่ากฎหมายเรื่องขึ้นเงินเดือน จนเวลานี้ล่วงเลยมาเดือนกว่าแล้ว ยังไม่โปรดเกล้าฯ ลงมา ถ้ามีอะไรจะได้แก้ไข ปรากฎว่านายกฯ ได้กราบบังคมทูลถาม พระองค์ทรงพระสรวลทันที รับสั่งว่า เข้าใจว่ายังคงไม่ถึงฉัน อาจจะตั้งอยู่บนศีรษะใครซักคนหนึ่ง นายกฯกลับมาเล่าให้ผมฟังก็ไม่เข้าใจแปลว่าอะไร อีกหลายวันต่อมามีเรื่องต้องเข้าเฝ้า ผมก็ตามนายกฯเข้าไปด้วย พระองค์ทรงพระดำเนินมาแล้วรับสั่งว่า กฎหมายเงินเดือนนั้น ที่บอกว่าคงตั้งอยู่บนศีรษะใคร เป็นการอุปมาไม่ใช่เรื่องจริง แต่ต้องการจะสอนว่าคำว่าทูลเกล้าฯ ย่อจากคำว่าทูลเกล้าทูลกระหม่อม แปลว่าวางบนหัว จะต้องเติมต่อด้วยคำว่าถวายทุกครั้ง เรื่องนี้ท่านต้องการสอนเลขาฯครม. เลยอุปมาเช่นนี้ แต่เมื่อคิดไม่ออก ท่านต้องมาเฉลย แต่เรื่องจริงๆ คือมีนัยะมากกว่านั้น ท่านรับสั่งว่า ฉันตั้งใจเก็บเอาไว้เองไม่เซ็น ตั้งใจเซ็นในวันสิ้นปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ข้าราชการทั่วประเทศ ถือเป็นศาสตร์ของพระราชาอย่างหนึ่ง สอนอะไรเยอะเลยนะเรื่องนี้ พระองค์ทรงรอบคอบมาก

          เรื่องการใช้คำที่ทูลเกล้าฯ ถวายขึ้นไป ครั้งหนึ่งต้องปรับครม.เพียงคนเดียว ผมร่างหนังสือให้นายกฯ ทูลเกล้าฯถวาย รายชื่อรัฐมนตรี เพื่อทรงพิจารณา พอพระองค์ได้อ่านก็ทรงถามกลับมา รับกี่คน นายกฯ บอกคนเดียว แล้วท่านรับสั่งว่า ถ้าปรับคนเดียว ควรเขียนว่าถวายชื่อ ถ้ารายชื่อแปลว่าหลายคน ผมในฐานะเลขาฯ ครม. กราบพระบาท ข้าพเจ้าได้รับความรู้ จำจนตาย เลยเรื่องนี้

          "ขอพระราชทานพระอาญาไม่พ้นเกล้า ที่ถือว่าระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระองค์ทรงพระสรวล แล้วรับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอกเรื่องระคายเคือง เกาก็หาย แต่ถ้าผิดก็ต้องสอน" 

          พระราชนิยมของ รัชกาลที่9 

          นายวิษณุ เปิดเผยถึงประสบการณ์ตรงอีกว่า เรื่องนี้สุดยอดจริงๆ เป็นหลักฐานแสดงถึงพระปรีชาสามารถ และศาสตร์พระราชาในความพิถีพิถัน แม้เรื่องเล็ก ละเอียดรอบคอบ และไม่ทรงลืมเลย มีโอกาสจะทรงสอนให้ความรู้ คือ 

          เวลาทูตไทยจะไปประจำต่างประเทศต้องมีพระราชสาส์นตราตั้ง ที่ทูตต้องถือนำไปให้ประมุขประเทศนั้นๆ ตอนนั้นผมเป็นเลขาฯครม. ก็คุมเจ้าหน้าที่อาลักษณ์ที่เขียนพระราชสาส์น พอเขียนเสร็จส่งมาให้ผม ผมก็ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการ ซึ่งมีข้อความว่า เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศ แต่งตั้งทูตไปประเทศต่างๆ จึงขอส่ง "พระราชสาสน์" เพื่อเชิญขึ้นถวาย ผมถามเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคำนี้เขียนแบบนี้มาตลอด เมื่อราชเลขาฯ ส่งกลับมา ข้อความระบุว่า ตามที่ท่านได้ส่ง "พระราชสาสน์" บัดนี้ ทรงลงพระปรมาภิไภยแล้ว จึงขอเชิญ "พระราชสาส์น" กลับคืนมา ก็ถามเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่า ที่ส่งไปแล้วกลับมาคือ ใบเดียวกันหรือเปล่า 

          คำตอบใบเดียวกัน เพราะผมสงสัยกลัวจะใช้คำผิด จะได้แก้ไข เลยถามราชบัณฑิต ก็ได้คำตอบว่าใช้คำว่า "พระราชสาสน์" แล้วบอกคำว่า "พระราชสาส์น" ไม่มีในระบบภาษาไทย 

          ผ่านไป 3 เดือน นายกฯชวนปรับครม. ก็เข้าเฝ้าถวายสัตยฯ พอเสร็จสิ้น พอทอดพระเนตรเห็นผม เลขาฯครม. ยืนอยู่หลังห้องสุด แล้วทรงพระดำเนินมา ท่านรับสั่งประโยคแรกว่า ดีแล้วที่เจอกันวันนี้ จะได้คุยกันเรื่องพระราชสาส์น เรื่องพระราชสาสน์ กับ พระราชสาส์น ที่ว่าเขียนอย่างไร 

          ผมกราบบังคมทูลว่า รัฐบาลยังคงใช้ว่า "พระราชสาสน์" อยู่ เพราะราชบัณฑิตยืนยันมา ต้องใช้ตามพจนานุกรม แต่ในวังยังใช้ "พระราชสาส์น" ท่านทรงพระสรวลแล้วรับสั่งถามทันทีว่า "แล้วราชบัณฑิต เขาให้เห็นผลว่าอย่างไร" 

          ผมก็ตอบว่าตัวการันต์อยู่บนตัวอะไรจะไม่ออกเสียงพยัญชนะตัวนั้น และจะต้องอยู่บนพยัญชนะตัวสุดท้ายเสมอ 

          พอกราบบังคมทูลเสร็จ ท่านรับสั่งถามทันทีว่า "ไปถามราชบัณฑิตสิว่า แล้วเขียนคำว่าฟิล์มยังไง แล้วทำไมการันต์ถึงไปอยู่บน ล ลิง"

          ผมก็เงียบไปซักพัก แล้วกราบบังคมทูลว่า เข้าใจว่าเป็นศัพท์ภาษาต่างประเทศ

          ท่านรับสั่งว่า "สาส์น" ก็ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นคำต่างประเทศ ฉันไปค้นดู รัชกาลที่ 4 ท่านก็เขียนว่า "สาส์น" ทุกครั้ง รัชกาลที่ 4 ท่านเป็นปราญช์โดยแท้ รัชกาลที่ 9 ถ้าจะเป็นปราญช์ ก็เป็นปราญช์สมัครเล่น แต่ฉันเชื่อรัชกาลที่ 4 

          ผมก็กราบบังคมทูลว่า ต่อไปนี้ รัฐบาลก็จะเปลี่ยนมาใช้ตามที่ทรงใช้

          ท่านก็รับสั่ง "ก็แล้วแต่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ก็ไม่เป็นไร ไปบอกราชบัณฑิตก็แล้วกันว่า เป็นพระราชนิยมรัชกาลที่ 9 จะเขียนอย่างนี้"

          พระองค์ เคยรับสั่ง นักกฎหมาย ควรหาวิธีอื่น นำไปสู่ความยุติธรรม นอกจากใช้กฎหมาย 

          นอกจากนั้น นายวิษณุ กล่าวอีกว่า พระองค์เคยทรงรับสั่งด้วยว่า ว่านักกฎหมายหรือผู้พิพากษาทำงานกับกฎหมายนานก็ชินกับกฎหมาย จนนึกว่ากฎหมายเป็นอันเดียวกับความยุติธรรม ที่จริงไม่ใช่ ความยุติธรรมเป็นจุดหมาย กฎหมายเป็นวิธีสู่จุดหมาย ขอให้รำลึกไว้ว่าการไปสู่จุดหมาย อาจมีหลายวิธี กฎหมายเป็นเพียงวิธีหนึ่ง ที่อาจดีที่สุด แต่วิธีนี้อาจไม่เป็นธรรม คนเดือดร้อนก็ควรคิดวิธีอื่นไว้บ้าง เพื่อบรรลุความยุติธรรมเดียวกัน ผมว่าทุกแห่งควรจารึกประโยคนี้บนแผ่นทองเหลืองติดไว้ 

          และอีกคราวที่เคยรับสั่ง ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว แต่ขอให้เข้าใจว่าความเป็นจริงยังมีคนไม่รู้กฎหมายอีกมาก กฎหมายออกแล้วมีผลบังคับใช้ แต่ยังไม่ถึงมือชาวบ้าน คนทำผิดไปแล้ว โดยไม่รู้กฎหมาย แล้วจะบอกว่าความไม่รู้กฎหมาย ห้ามแก้ตัวได้อย่างไร ขอให้นักกฎหมายเอาไปคิดด้วย ผมว่านักกฎหมายต้องคิดว่าในความเป็นจริงมีคนไม่รู้กฎหมายอีกมาก จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องไปดูว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประเทศ 

          นอกจากนี้ ตามที่มักพูดกันไว้ว่าขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าในชาติหน้าจะได้กลับมาเป็นข้ารองพระบาทหรือไม่ ดังนั้น นับตั้งแต่นี้ขอให้ทุกคนนำศาสตร์พระราชาด้านกฎหมายไปปฏิบัติ เท่านี้ก็ถือเป็นข้ารองพระบาทอย่างเหมาะสมและสง่างามที่สุดแล้ว นายวิษณุ กล่าวบรรยายทิ้งท้าย

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ