ข่าว

"มีชัย"ย้ำ"ตุลาการศาลรธน."​คือเสาหลักค้ำรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มีชัย"ย้ำ"ตุลาการศาลรธน."​คือเสาหลักค้ำรธน.  กำหนดลักษณะต้องกล้าหาญ , รับผิดชอบสูง , จริยธรรมดี ด้าน "จรัญ" เสนอเพิ่มอำนาจ "ตลก.รธน." ให้ทำคำแนะนำส่วนตัว

 

          26 เม.ย. 60 - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนต่อเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  ตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวถือว่าเป็นฉบับที่สำคัญที่สุดของบ้านเมืองและประชาชน เพราะศาลรัฐธรรมนูญคือเสาที่ค้ำยันกติกาและบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนด หากไม่มีศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้กติกานั้นบิดเบี้ยวได้ ซึ่งสิ่งที่เป็นหลักประกันคือคุณลักษณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง, กล้าหาญ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี นอกจากคุณสมบัติที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ

          นายมีชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญต้องมีแบบแผนและวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม กรธ.​มีข้อกังวลต่อการเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่แม้กำหนดให้ทำได้ง่าย แต่ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดภาระจนทำไม่ไหว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงศาลเดียวทั่วประเทศ มีตุลาการเพียง 9 คน หากมีเรื่องเข้ามาจำนวนมาก อาจทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนัก คือกลไกที่จะนำเรื่องมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ง่ายจนใครที่นึกสนุกก็นำเรื่องไปฟ้องได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ หน่วยงานของรัฐที่มีข้อสงสัยสามารถส่งเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายวิกฤตต่างๆ ให้หมดไป ซึ่งเป็นประเด็นที่เราคิดว่าเพื่อเป็นช่องทางที่นำไปสู่ทางออกของปัญหา ทั้งนี้ที่ผ่านมายอมรับว่ามีนักวิชาการโต้แย้งในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถทำได้ตราบใดที่ไม่ไปกล่าวหา ขณะที่ภาคประชาชนนั้นสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ กรณีที่ละเมิดต่อสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้

          "ส่วนการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีข้อกังขา เราจึงเขียนในรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไข และทำให้เกิดความเชื่อมั่น คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ต้องให้ตุลาการทุกคนต้องใช้สิทธิลงมติ" นายมีชัย กล่าว 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการรับฟังความเห็นดังกล่าวมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ, นักวิชาการสถาบันการศึกษา, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าร่วม ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าวตัวแทนของกรธ. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมให้ความเห็นต่อสาระสำคัญของเนื้อหา

          โดยนายจรัญ  ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาคือใช้วิธีการพิพากษาคดีด้วยระบบการไต่สวน แต่ปัญหาสำคัญคือคนยังเข้าใจในระบบไต่สวนไม่ตรงกัน ดังนั้นตนมองว่าควรกำหนดวิธีปฏิบัติ,​หลักเกณฑ์ วิธีการกำหนดไว้ให้ชัดเจน  ได้แก่ กำหนดความหมายของระบบไต่สวนที่ชัดเจน ส่วนตัวต้องการให้กำหนดความหมายไว้อย่างกว้างที่สุด ​ตั้งแต่การเขียนคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเลิกความคิดที่ต้องเขียนคำร้องที่ละเอียด แจ่มแจ้ง, การกำหนดประเด็นข้อพิพาท ที่ไม่มีสภาพเคร่งครัดนอกจากนั้นควรเพิ่มเติม คือ การกำหนดประเด็นวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิฉัย ไม่ให้เกิดความสับสนน ทั้งนี้ต้องไม่ยึด แต่ต้องไม่ยึดแบบเคร่งครัด ที่เมื่อรู้ว่าผิดแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น สามารถเปิดประชุมระหว่างศาลและคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายและศาลรับรู้ในข้อกรณีของสองฝ่าย หากใครจะโต้แย้ง คัดค้าน ต้องมีแนวทางให้ศาลสามารถหาข้อยุติในประเด็นต่างๆ รวมถึงการกำหนแพ้ ชนะ ต้องไม่ใช่มาจากประเด็นที่ใครโต้แย้งเก่งกว่าเท่านั้น

          นายจรัญ กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนต่อมา คือ การเก็บพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีที่สามารถปรับได้ตามสถานการณ์การใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ของศาล มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนปฏิบัติอย่างไร ซึ่งไม่ต้องเขียนในกฎหมายลูกแต่อยู่ในข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ โดยวิธีดังกล่าวนั้นเชื่อว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติได้ แต่ที่ผ่านมานั้นทำไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้มติเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีปัญหาเนื่องจากมาจากหลากหลายสาขา และแก้ไขโดยปล่อยให้คู่ความนำเสนอมาก่อน หากจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจะให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลายคดีมีข้อมูลนำเสนอที่อ่อนมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องมีวิธีการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่พบว่ามีการถ่ายคลิปวิดีโอระหว่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมเพื่อหาแนวทางหาข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติม เผยแพร่ต่อสาธารณะ ทำให้สังคมมองว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสบคบคิดเพื่อล้มคดี ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ ขั้นตอน เพื่อให้การใช้อำนาจและหน้าที่ไม่ถูกครหา และเป็นหลักประกันที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความน่าเชื่อถือ 

          นายจรัญ กล่าวต่อว่า สำหรับการยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 เปิดกว้างให้ประชาชนที่ถูกการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพยื่นเรื่องได้ ตนมองว่าเป็นข้อกำหนดที่กว้างขวางถึงประเด็นของการกระทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเข้าใจในความหวังดีของกรธ.​ว่าเพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาหลักของบ้านเมืองไม่เป็นหมัน  แต่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีเรื่องเข้ามาจนเกินกำลัง หรือ เรียกว่าน้ำท่วมศาล ดังนั้นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอวิธีการไว้ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 47 ให้สิทธิประชาชนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถใช้สิทธยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดินได้

          "ส่วนการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องร่วมลงมติทุกคน แต่กรณีที่บุคคลร้องคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 คน และทำให้ต้องมีองคณะเพียง 8 คน หากผลวินิจฉัยได้เสียงที่เท่ากันจะทำอย่างไรในประเด็นที่กระทบกับประเทศชาติ แ ดังนั้นผมจึงเสนอ​ให้ทำคำแนะนำร่วมกันนำเสนอต่อสังคม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ประกอบเหตุผล โดยคนที่ไม่ทำตามอาจมีบทลงโทษ ส่วนการทำคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผมมองว่าควรกำหนดให้มีความเห็นส่วนตน มาแทนคำวินิจฉัยส่วนตน เพราะคำวินิฉัยส่วนตนนั้นไม่สำคัญ เนื่องจากเป็นความดี ความชั่วเฉพาะตัว​ไม่มีสำคัญกับคำวินิจฉัยกลาง ดังนั้นวิธีนี้ผมมองว่าจะเป็นการคุ้มครองทั้งเสียงข้างน้อย" นายจรัญ กล่าว

          นายจรัญ เสนอความเห็นด้วยว่า กรณีทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญควรระบุด้วยว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิชี้แนวทางปฏิบัติได้ เพราะส่วนตัวมองว่าเพื่อให้เป็นประโยชน์และความผาสุกโดยรวมของประชาชน​

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ