ข่าว

เปิดเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขมาตราไหนบ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขมาตรา 5 กรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับด้วย

 

             6 เม.ย. 60 - สำหรับเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนที่มีการแก้ไขตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน มีการแก้ไขจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติดังนี้

             1.ในหมวดทั่วไป มาตรา 5 ตัดวรรค 3-6 ออก

             ทั้งนี้เนื้อหาในมาตรา 5 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มีทั้งหมด 6 วรรค คือ

             มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้

             เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

             เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

             ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

             การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

             คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

             ดังนั้นมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเหลือ 2 วรรค คือ

             มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้

             เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข”

             ทั้งนี้เดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการกำหนดข้อความในวรรค 3-6 ของมาตรา 5 ว่าเพื่อเป็นทางออกในกรณีที่เกิดวิกฤติ เมื่อมีการแก้ไขโดยตัดออกไป จึงทำให้เนื้อหาของมาตรา 5 เหมือนกับเนื้อหาเดิมในมาตรา 6 และมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2550

             2.ในหมวดพระมหากษัตริย์ มีการแก้ไขดังนี้

             มาตรา 12 เรื่ององคมนตรี แก้ไขเพิ่มเติมให้ “ข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี” เป็นได้

             มาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดํารงตําแหน่ง

ทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการเว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ”

             มาตรา 16 เรื่องตั้ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

             มาตรา 16 ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

             มาตรา 17 เรื่องผู้สำเร็จราชการ กรณีไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการ แก้ไขเพิ่มเติมให้ องคมนตรีเสนอชื่อบุคคล หรือคณะตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ โดยให้แจ้งประธานรัฐสภา จากเดิมขอความเห็นชอบ

             มาตรา 17 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๖ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น แต่ต่อมาคณะองคมนตรีพิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นสมควรแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์และไม่อาจกราบบังคมทูลให้ทรงแต่งตั้งได้ทันการ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะ ตามลําดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกําหนดไว้ก่อนแล้วให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์

             3.ในหมวดคณะรัฐมนตรี แก้ไขมาตรา 182 โดยตัดวรรคสองออก เหลือเพียงวรรคเดียวคือ

             มาตรา 182 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

             สำหรับข้อความวรรค 2 ที่ตัดออกคือ “ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ”

               >> อ่านเนื้อหารัฐธรรมนูญทั้งหมด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ