ข่าว

“เลขา ป.ป.ท.”ชี้แก้คอรัปชั่นต้องยึดธรรมาภิบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เลขา ป.ป.ท.”ชี้แก้คอรัปชั่นต้องยึดธรรมาภิบาล หน่วยงานรัฐต้องมีกลไกกันโกง รับหลัง"รบ.ประยุทธ์"เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การทุจริตในทางที่ดี

 

          22 มี.ค. 60 - โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) และการใช้มาตรา 44 ต่อการทุจริตภาครัฐ” ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือว่าเป็นองค์กรที่สำคัญ ในการทำงาน ทุกคนมีหน้าที่ โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นผู้ใช้กฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมาย  เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยการปฏิบัติหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง และให้อยู่ในกรอบธรรมาภิบาล 6 ประการ คือ หลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้  มีส่วนร่วม รับผิดชอบ และคุ้มค่า หากอยู่ในกรอบนี้จะไม่มีทางจะทุจริตได้ ทั้งนี้หากผู้บังคับบัญชากำกับให้อยู่ในกรอบดังกล่าวได้ ปัญหาการทุจริตจะไม่บานปลาย แต่ปรากฏว่าก่อนปี 2557 มีปัญหาเรื่องกลไกที่ไม่สามารถทำงานได้ ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลดังกล่าว ทั้งการป้องกันและปราบปรามที่ไม่ได้ผล โครงสร้างของระบบราชการที่อ่อนแอ ตลอดจนวิธีการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสกัดคนที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในระบบได้  และปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ทั้งหมดจึงทำให้ระบบอ่อนแอ จนเกิดปัญหา เช่น กรณีจำนำข้าว การก่อสร้างสนามฟุตซอล ของกระทรวงศึกษาธิการ การทุจริตในอปท. การจัดซื้อนาฬิกาของสภา เป็นต้น

          นายประยงค์ กล่าวต่อไปว่า หลังรัฐบาลนี้เข้ามา ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสถานการณ์เรื่องการทุจริตไปในทางที่ดีขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งเป็นเส้นทางพิเศษเข้ามาแก้ไขได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้อยู่นาน ดังนั้นในระหว่างนี้จึงต้องสร้างกลไกที่เข้มแข็งให้กับหน่วยงาน โดย คตช. เข้ามากระตุ้นทำงานโดยเฉพาะกลไกป้องกันและตรวจสอบ เมื่อรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตเข้ามาจะมี ป.ป.ท. รับเรื่องมาตรวจสอบ และส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดไปดำเนินการต่อไป แต่ถ้ายังไม่ได้ผลจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบหรือส่งให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ และถ้ายังไม่ได้ผล ก็จะมียาแรงคือใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาดำเนินการ กับหัวหน้าส่วนราชการที่รับรู้แต่ยังไม่ดำเนินการ ถ้าตรวจสอบพบว่าผิดก็ต้องว่าไปตามขั้นตอน ถ้าไม่ผิดก็คืนความเป็นธรรมให้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย ที่นาย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 (สตง.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “หารทุจริต ความไม่โปร่งใส การตรวจสอบของ สตง. ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” แต่ปรากฏว่าได้ยกเลิกกะทันหัน เนื่องจากติดประชุมด่วน และได้มอบหมายให้นาง ชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 7 เป็นผู้บรรยายในหัวข้อดังกล่าวแทน

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ