ข่าว

ร่างประชาสังคมเสร็จมิ.ย.นี้ !!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกปรองดองคาดร่างประชาสังคมเสด็ดน้ำมิ.ย.นี้เตรียมจัดเวที ถกกลุ่มย่อยทั้งระดับกลางและภูมิภาค เม.ย. เพื่อได้ข้อคิดเห็นฉบับสมบูรณ์  วอนอย่าโยงการบังคับใช้กม.

        20 มี.ค -- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเชิญ 4 คณะอนุกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ประชุมสรุปผลคืบหน้าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยคณะอนุกรรมการประกอบด้วย 1.อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง  ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานอนุกรรมการ 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่งเป็นประธานอนุกรรมการ 3.คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก นั่วเป็นประธานอนุกรรมการ และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการ

         หลังจากนั้น พล.ต.คงชีพ แถลงข่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำกับ คณะกรรมการทั้ง 4 คณะ ว่ากระบวนการสร้างความปรองดองเป็นของประชาชน ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องได้รับประโยชน์ และทำให้ปัญหาความขัดแย้งหมดไปและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้งานปรองดองเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อสร้างความสามัคคีและวางรากฐานของประเทศในภาพรวม ขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ เนื่องจากการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและพิจารณาทุกประเด็นเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง กับทุกพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง รวมถึงทุกภาคส่วน

          พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า การดำเนินการในขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่าง ๆ และภาคประชาคม ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือเชิญพรรคการเมืองทั้งหมด 70 พรรคการเมืองกับ 2 กลุ่มการเมืองและอีก 60 องค์กรภาคประชาชน โดยมีพรรคการเมืองมาให้ข้อคิดเห็นแล้ว 53 พรรคการเมือง และ 2 กลุ่มการเมือง และมี 13 พรรคการเมืองติดต่อไม่ได้ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ประสานให้ นอกจากนี้มี 4 พรรคการเมืองยังไม่พร้อม และมี 7 พรรคการเมือง ส่งเอกสารกลับมา

       พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ส่วนการรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่มี กอ.รมน.ภาค เป็นเจ้าภาพ ร่วมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมและขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นซึ่งจะครบทั้ง 76 จังหวัดในวันที่ 23 มีนาคมนี้ โดยมีผู้มาให้ความคิดเห็นแล้วจำนวน 20,000 กว่าราย โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างของประเทศปัญหาความเหลื่อมล้ำรวมถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขเช่นการ บริการของภาครัฐ การเข้าถึงระบบสาธารณสุข

         ส่วนการรวบรวมบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าร่วมรับฟัง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเน้นในการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นให้เป็นมาตรฐานโดยเน้นข้อมูลที่เชื่อถือได้ในเชิงวิชาการเพื่อจัดทำความคิดเห็นร่วม เพื่อจัดทำสัญญาประชาคมความเห็นร่วมเพื่อสร้าง ความสามัคคีปรองดอง 

        พล.ต.คงชีพ กล่าว การรับฟังความคิดเห็นในส่วนกลางจะเสร็จสิ้นในวันที่ 5 เมษายนนี้ และการบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่รวบรวมได้อย่างเป็นระบบ โดยทำส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาสรุปประเด็นความเห็นร่วม เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองและหลังจากนั้น จะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อทำการปรับปรุง สรุปประเด็นความเห็นร่วมให้สมบูรณ์ที่สุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยการประชุมกลุ่มย่อยจะดำเนินการในช่วงเดือนเมษายนนี้ในส่วนกลางจะดำเนินการ 1 ครั้ง ในวันที่ 19 เมษายน ระดับพื้นที่ 4 ครั้ง คือวันที่ 20-30 เมษายน และในเดือนมิถุนายน จะดำเนินการให้เสร็จสิ้น และจะได้เห็นร่างสัญญาประชาคม 

         "ร่างสัญญาประชาคมนี้มาจากการจัดทำข้อพิจารณาข้อคิดเห็นร่วม และออกเผยแพร่เวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งสุดท้าย เพื่อปรับปรุงเป็นร่างสัญญาประชาคมที่มองถึงประโยชน์ ของประชาชนส่วนใหญ่เพื่อกำหนดอนาคตการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป" พล.ต.คงชีพ กล่าว

         พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า บรรยากาศการปรองดองเป็นเรื่องที่สำคัญมากซึ่งในที่ประชุมก็ได้กล่าวเน้นย้ำเช่นกันจึงอยากให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศความปรองดองเนื่องจากการปรองดองเป็นของประชาชน และประชาชนจะได้รับประโยชน์ต่อการปรองดองครั้งนี้ และอย่าไปเชื่อมโยงการบังคับใช้กฎหมายกับคนกลุ่มย่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดอง จะทำให้เสียบรรยากาศ ทั้งนี้ยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างทั่วถึงเป็นธรรมกับ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คนไทยอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ดังนั้นใครที่ทำผิดกฎหมายรัฐจะต้องเข้าไปดำเนินการกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน


  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ