ข่าว

บทความพิเศษ-แรงงานเด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข่าวแม่ชาวพม่าขายลูกให้แก่นายหน้าเพื่อนำไปขายต่อให้แก่ชาวมาเลเซียอีกทอดหนึ่งนั้น สร้างความงุนงง สงสัย ปนอนาถใจยิ่งนัก

 ไม่น่าเชื่อว่า “แม่” จะขาย “ลูก” ที่เพิ่งคลอดออกมาเพียงวันเดียวให้แก่คนอื่นได้ลงคอ

 แม่รายนี้สารภาพว่าต้องการเงิน ประกอบกับสามีไม่รับผิดชอบ จึงตัดสินใจขายลูก นั่นคือการค้ามนุษย์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเกิดขึ้นจากคนที่เป็น “แม่”

 ก่อนหน้านั้น เราอาจจะเห็นการใช้ประโยชน์จากเด็ก หรือการใช้แรงงานเด็ก เช่น ให้เด็กขายพวงมาลัย ขายของแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งลูกไปทำงานในโรงงานเล็กๆ ร้ายแรงกว่านั้นก็ขายลูกไปค้าบริการทางเพศ ทั้งที่เรื่องนี้มีข้อกฎหมายที่เอาผิดอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

 “ทุกวันนี้เรื่องการใช้แรงงานเด็กแทบจะหาไม่ได้แล้ว เพราะประเทศไทยมีกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อให้ใช้แรงงาน หรือทารุณกรรมกับเด็ก เช่น เด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือตามภาคบังคับ กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ห้ามจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี” อัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)

 ขณะนี้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย มีความเข้มข้นน้อยลงจากเมื่อก่อนมาก เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้สัตยาบัน อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการทันที เพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ตั้งแต่ปี 2544

 ซึ่งอนุสัญญาฉบับที่ 182 เป็นอนุสัญญาที่มุ่งขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 4 รูปแบบคือ

 1.การใช้แรงงานบังคับ 2.การใช้เด็กทำงานผิดกฎหมาย 3.การให้เด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ 4.การค้าประเวณีเด็ก

 การลงสัตยาบันอนุสัญญาต่างๆ ของไอแอลโอนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องมีแผนระดับชาติ และมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาด้วย

 หลังจากที่รับรองอนุสัญญาแล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ รวมทั้งการกำหนดนโยบายต่างๆ

 สำหรับนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเด็กนั้น มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า จะต้องให้ความคุ้มครองแรงงานเด็กอย่างเต็มที่

 นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัด กสร. ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้แรงงานเด็กทำงานอันตราย ทำงานในสถานที่ที่กฎหมายห้ามทำ หรือมีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินคดีโดยทันที ภายใน 3 วันทำการ เมื่อมีเรื่องร้องทุกข์

 นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการใช้แรงงานเด็ก หรือการละเมิดสิทธิแรงงานเด็ก สามารถโทรศัพท์แจ้งได้ที่ สายด่วน 1506 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องทุกข์ ตลอดจนจัดอบรม สัมมนาให้ความรู้เรื่องแรงงานเด็กให้แก่นายจ้าง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

 สำหรับปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาการให้ความคุ้มครองแรงงานเด็กได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ การใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งการขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะช่วยชะลอการเข้าสู่ตลาดแรงงานของเด็กออกไป

 และหากเด็กมีความจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก็มีกฎหมายคุ้มครอง เช่น การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างจะต้องแจ้งการจ้าง และการสิ้นสุดการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน

 โดยกฎหมายห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานที่เป็นอันตราย หากละเมิด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 “ในขณะที่เราควบคุมเรื่องการใช้แรงงานเด็กของไทยได้ แต่ปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่เกิดขึ้นคือ นายจ้างหันไปใช้แรงงานเด็กต่างด้าวกันมากขึ้น เพราะเพราะคนเหล่านี้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

 อาจเพราะการดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้ รายงานของไอแอลโอ เมื่อปี 2545 จึงระบุว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในการลดจำนวนแรงงานเด็กลงได้สำเร็จ โดยในปี 2533 ไทยมีแรงงานเด็กราว 5% ของแรงงานในระบบ แต่ลดลงเหลือเพียง 1% ใน 10 ปีต่อมา


สัมมาชีพ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ