ข่าว

ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะฯ แค่ขั้น 2.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สนช.-สปท.” จัดเสวนา “ร่างพ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะฯ” หวังตอบโจทย์ปฏิรูปภาครัฐ-ไทยแลนด์ 4.0



          22 ก.พ.60 - คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มีพล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ เป็นประธานการจัดเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ Thailand 4.0” โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า หลักการของร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบการบริหารงานภาครัฐและทุจริตคอร์รัปชั่น โดยให้อำนาจกับประชาชนมากขึ้น แต่ก็ต้องแยกระหว่างข้อมูลข่าวสารที่เป็นสาธารณะ กับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อาจมีการเปิดเผยมากขึ้นในยุคนี้ การนำไปใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ให้มีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่จะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ตามกฎหมาย พร้อมกับต้องไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปบิดเบือนสู่สาธารณะเช่นกัน  
          จากนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทำไมต้องปฏิรูป” ว่า แนวคิดการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ขณะที่กฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะบังคับใช้ครั้งแรกปี 2550 เป็นระบบที่สร้างเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลของทางราชการและของประชาชน ซึ่งเหมาะกับยุคไทยแลนด์ 1.0 ที่ประชาชนต้องยื่นกระดาษคำขอเพื่อขอข้อมูลต่อราชการ จนกระทั่งมาสู่การแก้ไขของสนช.เพื่อให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 แต่เท่าที่ตนดูยังเป็นแค่ยุคไทยแลนด์ 2.0 เท่านั้น เพราะหากสังเกตในร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการกำหนดสิทธิหน้าที่แก่ประชาชนมากขึ้นต่อการเข้าถึงการรับรู้และมีส่วนร่วมดูแลบ้านเมือง จากแต่เดิมทุกคนคิดว่า งานของบ้านเมืองควรอยู่ในมือข้าราชการ แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นช่วงหนึ่งที่ราษฎรมีปากเสียงว่าตัวเองทุกข์ยากอย่างไร 
          “ข้าราชการทำงานลำบากขึ้น หงุดหงิดกับการเรียกร้องของประชาชน ซึ่งปัญหาเกิดจากการที่ราชการไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด จนประชาชนรู้สึกกลัวต่อการกระทำของราชการ และนำไปสู่ความทุกข์ยากของประชาชน เพราะการออกกฎหมายไม่เคยไปถามความเห็นประชาชนว่า ต้องการอย่างไร เช่น สนช.ออกพ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย 2558 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้สอบถามความเห็นแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้ถามประชาชน และยังต้องมีการขยายเวลาบังคับใช้ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้มีการออกกฎกระทรวงซึ่งจะครบกำหนด 26 ก.พ.นี้ แต่การจัดทำกฎกระทรวงก็ยังไม่แล้วเสร็จเพราะไม่มีการรับฟังประชาชน ล่าสุด มาตรา 77 ตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การออกกฎหมายต้องรับฟังเสียงประชาชนแล้ววิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ก็มีเสียงบ่นจากฝั่งสนช.ว่า ทำให้การพิจารณากฎหมายลำบากผ่านยากขึ้น ซึ่งผมไม่อยากให้คิดว่าลำบาก ถ่วงเวลาไว้บ้างก็ดี เพราะผลงานกฎหมายสนช.มีมากกว่า 200 ฉบับ แปลว่า สิทธิประชาชนถูกริดรอน 200 กว่าครั้ง ที่ผ่านมากฎหมายเขียนว่า หากประชาชนไม่พึงกระทำตามจะมีความผิด แต่ถามว่า กฎหมายเคยเขียนไว้หรือไม่ว่า หากเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกให้ราษฎรและต้องมีโทษ ไม่เคยเขียนไว้ แต่ตอนนี้กำลังจะเขียน” ประธานกรธ.กล่าว  
          นายมีชัย กล่าวอีกว่า กฎหมายมีการลงโทษรุนแรงกับประชาชนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีการเก็บส่วยกับประชาชนมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายประมวลรัษฎากร ดังนั้น เห็นว่าการออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องระมัดระวังมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และการที่ต้องมาฟังเสียงประชาชน ก็อยากให้มองว่าคุ้มค่ากับประชาชนที่จะทำตามกฎหมายหรือไม่ อย่าไปมองเรื่องให้อำนาจรัฐอย่างเดียว และเท่าที่ดูพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับใหม่นี้จะถึงไทยแลนด์ 4.0 จริงหรือไม่นั้น หากยังให้แต่ละหน่วยราชการเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลกันเองตามช่องทางที่รัฐกำหนดไว้ ถ้ายังทำแบบเดิม ตนยืนยันว่ายังไม่ถึงขั้น 4.0 ฉะนั้นเราควรหาแนวทางที่มีคนที่คิดนอกกรอบ เช่น พร้อมเพย์ คิดเพื่อคิดเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อกระตุ้นประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น.



 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ