ข่าว

"เพื่อไทย”อุบ“ปู-เจ๊หน่อย”ถกปรองดอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เพื่อไทย”ร่วมถกวงปรองดอง 8 มี.ค. อุบไต๋ “ปู-เจ๊หน่อย” เป็นตัวแทนพรรคหรือไม่ ดักคอ ข้อสรุปต้องมาจากความเห็นพ้อง ไม่ใช่คำสั่ง     

       21 ก.พ. --  นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงข้อหารือเบื้องต้นในการส่งคนเข้าร่วมเวทีปรองดอง โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยได้ประสานกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อเข้าร่วมพูดคุยและเสนอแนะแนวทางปรองดองในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 09.00 -12.00 น. ในส่วนของบุคคลที่จะเข้าร่วมนั้นประกอบด้วยคนที่พรรคแต่งตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องปรองดอง และส่วนที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ปรึกษา อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายชูศักดิ์ และตน ทั้งนี้ ในส่วนของวันและตัวบุคคลนั้นยังอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากบางส่วนอาจติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ ซึ่งหากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

          นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะไปพูดคุยกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น เราจะแสดงจุดยืนและเสนอทางออกจากวิกฤตของปัญหา โดยจะจัดทำเป็นเอกสารชี้แจงต่อสังคม อย่างไรก็ตาม การระดมทุกฝ่ายมาพูดคุยนั้นจะเป็นประโยชน์ในการหาทางออกวิกฤตให้ประเทศ หากจะให้ปัญหาคลี่คลายขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจและต้องชัดเจนว่าจะเข้าสู่บรรยากาศปรองดองและควรยอมรับความเห็นต่างในการหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เปิดเวทีปรองดองแต่สังคมกลับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ และจากนี้ไปจะหารือในหมู่ผู้บริหารพรรคเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะมีการเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนหารือในวงปรองดองด้วยหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขอหารือและจะประสานไปอีกครั้ง 

        นายชูศักดิ์ กล่าวถึงคำถาม 10 ข้อที่จะหารือในวงปรองดองว่า หลายคำถามเป็นคำถามปฏิรูป รวมถึงเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งตอบได้ยาก เพราะเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ยาวนานเกินไป แต่คำถามที่เกี่ยวกับการปรองดองมีเพียง 3 คำถามเท่านั้น ทั้งนี้ สิ่งที่จะนำไปแสดงความเห็นในเวทีปรองดองนั้น อาทิ 1.ต้องมีหลักความเป็นกลาง 2.มีความเป็นอิสระ คณะทำงานที่มาพูดคุยมีความเป็นอิสระในการแสดงความเห็นหรือไม่

          3.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดได้ต้องค้นหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ต้องหาความจริงของเหตุความขัดแย้งทั้งหมดและตีแผ่ให้สังคมรับทราบ 4.ความสามัคคีปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่มีการสร้างข้อจำกัดหรือตั้งเงื่อนไขในการพูดคุย หากมีข้อจำกัดแต่แรก เช่น ห้ามพูดเรื่องอดีต นิรโทษกรรม จะไม่ใช่หลักสำคัญของการสร้างความสามัคคีปรองดอง 5.ความสามัคคีจะสร้างได้ต้องไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นใหม่ และ6.ผลสรุปของแนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองควรเป็นความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย มิใช่เกิดจากการออกคำสั่งหรือตรากฎหมายขึ้นบังคับ ซึ่งความเห็นนี้คงจะนำเสนอในเวทีพูดคุยต่อไป

     

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ