ข่าว

“จาตุรนต์” เผย พท. เตรียมหารือกรอบปรองดอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แกนนำเพื่อไทย เตรียมหารือกรอบปรองดอง ยินดี ผบ.ทบ. มีท่าทีรับฟัง เหน็บรบ.-คสช.เปิดฟังความเห็นปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ ช้าไป  แนะ เปิดรับฟังความเห็นต่าง

 

           19 ก.พ.60 -- นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังพรรคเพื่อไทย ได้รับหนังสือเชิญให้ร่วมหารือในคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป)ว่า ใน 10 ประเด็นกรอบหารือ พรรคเพื่อไทย จะเน้นเรื่องการสร้างความปรองดองเป็นหลัก อาจจะพูดกว้างขวาง 10 ข้อนี้ โดยเร็วๆนี้ พรรคจะได้เตรียมเนื้อหาสาระที่ชัดเจนต่อไป แต่ใน 10 ข้อมีคำถามที่เกี่ยวกับการปฏิรูปอยู่ด้วย ทำให้เห็นว่า มีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่าเป็นห่วง ที่น่ายินดีคือการที่พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ได้แสดงท่าทีพร้อมรับฟัง ให้พูดได้ไม่จำกัด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ถือเป็นเรื่องดี ถ้าไม่ปล่อยให้การแสดงความคิดเห็นครั้งนี้พูดกันไปแล้วก็จบไปเฉยๆ แต่ให้มีกระบวนการต่อเนื่อง ก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง 

                                                     

            นายจาตุรนต์  กล่าวว่า แต่ที่น่าห่วงคือ เรื่องของคำถามปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งแตกต่างในเรื่อง ทรัพยากร พลังงาน หรือแนวความคิดการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ มันแสดงว่า มีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องเหล่านี้ช้าเกินไป จริงๆแล้วกระบวนการปฏิรูป ถ้าจะให้ได้ดีต้องรับฟังความเห็นทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และฝ่ายต่างๆอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ต้น คือควรทำแต่เกือบ 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว พอมาพูดตอนนี้อาจช้าไปมาก และในขณะที่ความพยายามการปฏิรูปที่ทำไปแล้วของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และการพยายามที่จะเขียนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ได้ทำไปมากแล้วในกระบวนการที่ไม่เปิดกว้าง และไม่มีทิศทางที่ชัดเจน  

                                      

              “ปัญหาท่ีน่าเป็นห่วงคือ มันจะเกิดการทำอะไรหลายๆอย่างที่ไม่ใช่การปฏิรูป แต่จะมีผลต่อระบบโครงสร้างและกฎหมายต่างๆ จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยขาดความคล่องตัวที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งจะมีผลเสียต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเมื่อรวมกับการที่มีร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เป็นประชาธิปไตย และถ้าหากการปรองดองไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ได้หาทางแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ดี ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุน ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมาก กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจซึมไปยาว และปรับตัวไม่ได้ด้วย”นายจาตุรนต์ กล่าว 

                                        

             ดังนั้น เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ ถ้าจะให้พ้นจากสภาพนี้ต้องเปิดให้มีกระบวนการที่รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆอย่างจริงจัง ไม่ทำอะไรที่มันผูกมัด ทำให้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยากเกินไปในอนาคต ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเสียโอกาสไปถึง 1-2 ทศวรรษกันเลย เนื่องจากขณะนี้ แนวโน้มของแม่น้ำ 5 สายจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมันเห็นแนวโน้มได้ชัดว่า มีแนวความคิดหลักๆในทางอนุรักษ์และล้าหลัง รวมทั้งไม่มีขีดความสามารถในการประมวลเอาความเห็นที่แตกต่าง หรือประนีประนอมความเห็นที่แตกต่างให้ลงตัวได้ เห็นจากคำถามมีเรื่องที่ค้างคาทั้งเรื่องพลังงาน ทรัพยากร และล่าสุดที่เสนอกันเป็นเรื่องซ้ำเดิมย้อนหลังไป 3 ปี 5 ปี คือเรื่องปฏิรูปตำรวจ 

                                        

             นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่เดินดุ่มๆไปเรื่อย คือเรื่องระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเตอร์เน็ตดิจิทัลอีโคโนมี ก็กำลังจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องดิจิทัลอีโคโนมีได้เลย เพราะฉะนั้นเวลานี้ นอกจากรับฟังความเห็นจากหลายๆฝ่ายแล้ว ที่สำคัญยังต้อเปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างมากๆ และคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่เห็นต่างจากแม่น้ำ 5 สายนี้ ได้มีโอกาสพูดแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่อย่างนั้น ส่ิงที่ทำไปจะผูกมัดร้อยรัดกันจนแน่นหนา เนื่องจากเป็นเรื่องของระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะการออกเป็นพ.ร.บ.หรือการใช้มาตรา 44 มันมีผลต่อระบบกฎหมาย และบางอย่างมีผลเวลาจะแก้มันจะยาก เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า อะไรที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการปฏิรูป การแก้กฎหมายเหล่านี้จะยากกว่าปกติมาก ถ้าทำไปโดยไม่ฟังความเห็นที่แตกต่าง กลายเป็นการแช่แข็งประเทศไทยในรูปแบบล้าหลังและไม่ทันโลก 

                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ