ข่าว

“วิษณุ”ครวญงานปฏิรูป..  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วิษณุ”ครวญงานปฏิรูปเป็นของหนัก เหตุต้องสู้กับความเคยชิน แย้มกลไกปฏิรูปต้องออกกฎหมายเพื่อวางรากฐานไปสู่เป้าหมาย พร้อมมั่นใจ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้ตามกรอบเวลา

 

          7 ก.พ. 60 - เมื่อเวลา 19.20 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” ในงานครบรอบ 14 ปี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ตอนหนึ่งว่าเวทีโลกตอนนี้พูดถึงการร่วมมือกันทางภูมิภาคเท่ากับการถอยเรื่องอำนาจอธิปไตยหรือเขตแดนที่ต้องรักษาไว้เหมือนช่วง 20- 30 ปี เช่น การเปิดประชาคมอาเซียน เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศและการข้ามพรมแดน กรณีที่ระบุถึงการพัฒนาไปถึงขั้น 4.0 นั้น ไกลกว่าคำว่าโลกาภิวัฒน์ เพราะเวทีโลกนั้นได้ให้ความสำคัญถึงเรื่องต่างๆ อาทิ ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาเคยมีคติสมัยเก่าที่มีผู้กล่าวไว้ว่า เราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะถูกผู้อื่นเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การปฏิรูป เพราะคือการเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนวิธีคิด และชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตามตามเป้าหมายที่ตั้งโจทย์ไว้ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายโดยพร้อมกัน ที่ผ่านมามีคำสอนของนักวิชาการ ว่าหากจะเรียกว่าปฏิรูปต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ ต้องมีวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยน, ต้องมีผู้ขับเคลื่อนการปฏิรูป และกระบวนการปฏิรูป ที่เรียงตามลำดับหากไม่มีองค์ประกอบครบจะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนเท่านั้น

          “ในประเทศไทยต้องการการปฏิรูป โดย 3 ปีที่ผ่านมามีผู้เรียกร้องปฏิรูปเต็มถนน​ และถูกเรียกร้องโดยทั่วไป เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเพื่อตอบโจทย์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่ยุ่งยากและซ้ำซ้อนนั้นใช้เวลาและต่อสู้กับความไม่เคยชินของคนอื่น ดังนั้นการปฏิรูปจึงเป็นเรื่องหนักมาก สถานการณ์ปัจจุบันเราต้องการปฏิรูปหลายอย่าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ศึกษา ตำรวจ การสาธารณสุข หรือ การปฏิรูปสื่อมวลชน หนีไม่พ้นต้องเร่ิมที่การปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบราชการ กระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นบันไดขั้นแรกของการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อให้การปฏิรูปมีความชัดเจนและมีขั้นตอน เพื่อให้เป็นรากฐานของการปฏิรูปทั้งหมด” นายวิษณุ กล่าว

          นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยบนเวทีโลกที่ต้องปฏิรูป คือ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2.ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการต่างๆ 3.ปัญหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากการทุจริต 4.ปัญหาของระบบราชการ ขั้นตอนการอนุญาต 5.ปัญหาที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามพันธะ สัญญาที่ลงนาม หรือตกลงร่วมกันกับต่างประเทศ ทั้งนี้ต้องปฏิรูปเพื่อให้ทันในเวทีโลก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำกว่า 2 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาของการการออกกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันออกกฎหมายไปแล้วแล้วจำนวน 213 ฉบับ ขณะที่ระยะ7ปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลออกกฎหมายได้เพียง 120 ฉบับเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย​ การปฏิรูปที่ต้องยึดเป็นสำคัญคือการขับเคลื่อนกฎหมายต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาของสังคม

          รองนายกฯ กล่าวตอนท้ายด้วยว่าตนเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ โดยช่วงเวลานี้คืออยู่ระหว่างที่นายกฯ ขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมาและปรับแก้ไข โดยระยะเวลาที่กำหนดคือต้องทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขภายในวันที่ 18 ก.พ. นี้ ซึ่งตนยืนยันว่าทันตามกรอบเวลาแน่ หลังจากนั้นจะมีระยะเวลาที่พระมหากษัตริย์พิจารณาตามกรอบเวลา 90 วัน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อใดอยู่ที่พระบรมราชวินิจฉัย แต่หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งต้องทำตั้งแต่วินาทีแรกที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ คือ สิ่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 ว่าด้วยการออกกฎหมายที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกขั้นตอน หมายถึงตั้งแต่การออกกฎหมายในชั้นของรัฐบาล และ ชั้นของสภานิติบัญญัติ ทั้งนี้ในการออกกฎหมายแบบเร่งด่วน อาจใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งคสช. ออกไปก่อน แต่หลังจากนั้นต้องทำร่างกฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีความยั่งยืน เนื่องจากกังวลว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่มาทำงานอาจยกเลิกคำสั่งก็ได้

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ