ข่าว

“กรธ.”วาง 7 หลักการทำกม.กสม.เน้นสิทธิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“กรธ.”อนุมัติ7หลักการทำกม.กสม.เน้นยกมาตรฐานงานด้านสิทธิ ให้เป็นองค์กรอิสระ รับผิดชอบงานด้านสิทธิทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม เตรียมเปิดเวทีให้NGOแสดงความเห็น 25 ม.ค

       21 ม.ค. -- นายนรชิต สิงหเสนี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.... (พ.ร.ป. กสม.) เปิดเผยถึงผลการพิจารณาโดย กรธ. เพื่อวางหลักการสำคัญก่อนการจัดทำร่าง พ.ร.ป.กสม. ว่ามีหลักการสำคัญ 7 ประเด็น คือ 1.ให้กสม.เป็นองค์กรอิสระ,2.การสรรหากรรมการ กสม. ต้องมีความหลากหลาย และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการว่าการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักการปารีส) , 3.หน้าที่ของ กสม. ด้านการพิทักษ์สิทธิแบบองค์รวม และเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในทุกพื้นที่ ไม่เลือกทำเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น หรือ ทำหน้าที่ตรวจสอบเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง,4.การสร้างความเข้าใจและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น แบบกัลยาณมิตร ไม่ใช่การจับผิดการทำงาน, 5.การยกมาตรฐานการทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่สากล และ เครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศให้การยอมรับ, 6.สำนักงาน กสม. ต้องไม่ใช่หน่วยงานอิสระ เพราะต้องทำงานสนับสนุนกรรมการ กสม.ที่เป็นกรรมการอิสระ และ 7.สำนักงาน และเลขาธิการ กสม. ต้องรับผิดชอบต่อการทำงานทั้งคณะ ไม่เฉพาะประธาน กสม. เท่านั้น

         “สิ่งที่กรธ.ได้วางหลักการนั้น เป็นสิ่งที่อนุกรรมการฯ ต้องพิจารณารายละเอียดและข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบ แต่ไม่ใช่การนำกฎหมายฉบับที่เคยบังคับใช้มาคัดลอกหรือเลียนแบบแต่ต้องพิจารณาเนื้อหาที่ทันสมัยและสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้ ขณะที่กระบวนการสรรหานั้น ยอมรับว่ามีข้อเสนอจากกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ต้องเปิดกว้างและให้มีความหลากหลายซึ่งอนุกรรมการฯเตรียมพิจารณาเนื้อหาดังกล่าวอย่างสำคัญ” นายนรชิต กล่าว

          นายนรชิต กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 25ม.ค.นั้น จะมีเวทีเพื่อรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.กสม. ของเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยประเด็นสำคัญคือ 7 หลักการที่ กรธ. พิจารณาให้ความเห็น โดยขณะนี้ได้ออกหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมแล้ว ส่วนประเด็นของการดำรงตำแหน่งของกสม. ชุดปัจจุบันหลังมีกฎหมายลูกใหม่นั้น โดยหลักการ กรธ. จะยึดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นหลัก กล่าวคือ หากกรรมการกสม. คนใดที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป แต่กรรมการกสม. คนใดที่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นจากตำแหน่ง และดำเนินการสรรหาทดแทนยอมรับว่ามีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนให้ยกเลิก กสม. ชุดปัจจุบันทั้งคณะแต่อนุกรรมการฯและกรธ.ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

       

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ