ข่าว

เปิดรายงานสอบสวน "สินบนโรลส์-รอยซ์" !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดรายงาน"เอสเอฟโอ" สอบ “สินบนโรลส์-รอยซ์” ปี34-48 ชี้ชัดจ่ายเจ้าหน้าที่บินไทยโยงการเมือง

    สำนักงานปราบปรามการทุจริตขั้นร้ายแรงแห่งอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยอมความในคดีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนใน 3 ประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจรวมถึงไทย ซึ่งในกรณีของไทยนั้น ได้ตรวจพบการให้สินบนใน 3 ช่วงเวลาด้วยกัน

    เอสเอฟโอ ตรวจพบว่า โรลส์-รอยซ์ ติดสินบนในไทย เริ่มขึ้นในช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.2534-30 มิ.ย.2535 ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค.2535-31 มี.ค.2540 และช่วงที่ 3 เกิดขึ้นระหว่าง วันที่ 1 เม.ย.2547-28 ก.พ.2548 ซึ่งทั้ง 3 ครั้งเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนต์ 800 ของการบินไทย

    ครั้งแรก โรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินราว 18.8 ล้านดอลลาร์ ให้ “นายหน้าในภูมิภาค” และ นายหน้าอีก 1 คน ซึ่งในรายงานเรียกว่าเป็น “นายหน้า 3” เพื่อให้นำไปจัดสรรให้บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของไทยและพนักงานของการบินไทย โดยคาดว่าบุคคลเหล่านี้จะช่วยให้การบินไทยตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องยนต์ ที800 ของโรลส์-รอยซ์ เพื่อนำไปใช้กับเครื่องบินโบอิง 777 ที่การบินไทยจะสั่งซื้อเป็นจำนวน 8 ลำ

    โรลส์-รอยซ์ ได้ตั้งงบค่านายหน้าไว้ที่ 1 ล้านดอลลาร์ สำหรับเครื่องบิน 1 ลำ ซึ่งบริษัทได้ทำหนังสือขยายความตามสัญญาหลายครั้ง เพื่อการจ่ายเงินที่เพิ่มมากขึ้น

    บันทึกภายในของบริษัท เมื่อเดือน ก.ค.2534 ระบุไว้ว่า มีการเรียกร้องเงินเพิ่มรวม 8 ล้านดอลลาร์จากนายหน้าในภูมิภาค สำหรับ “ความต้องการ” ที่เพิ่มขึ้น โดยโรลส์-รอยซ์ ก็ได้เพิ่มเงินเป็น 1.33 ล้านดอลลาร์ต่อเครื่องบิน 1 ลำ และพนักงานที่จัดทำร่างบันทึกนี้ ได้ให้คำแนะนำว่า “ควรเก็บสำเนาบันทึกไว้เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ที่เหลือควรทำลายให้หมด”

    นอกจากนี้ ยังจัดทำหนังสือขยายความตามสัญญา เป็นข้อตกลงฉบับแก้ไขระหว่างโรลส์-รอยซ์กับนายหน้า 3 โดยกล่าวถึงการจ่ายเงินจำนวน 1.33 ล้านดอลลาร์ ต่อเครื่องบิน 1 ลำ ว่าเป็น “ค่าธรรมเนียมความสำเร็จ” และไม่มีการเอ่ยถึงว่าจ่ายเงินให้บุคคลที่ 3 แต่อย่างใด

    นอกจากเงินจำนวนที่ระบุชัดเจน สำหรับจ่ายให้นายหน้า 3 แล้ว นายหน้ารายนี้ยังจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่านายหน้าอีกต่างหาก ซึ่งโครงสร้างการจ่ายเงินค่านายหน้า ที่มีพนักงานโรลส์-รอยซ์ เป็นผู้อนุมัติ แบ่งออกเป็น นายหน้า 3 ได้รับเงิน 50% ของเงินค่านายหน้าที่จ่ายเป็นงวดแรก แทนที่จะได้ไป 25% ตามที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก สำหรับ “การรักษาความกระตือรือร้นในท้องถิ่นไว้ เพื่อการทำธุรกิจสืบต่อไป”

    เมื่อโรลส์-รอยซ์ คว้าสัญญาสั่งซื้อเครื่องยนต์มาได้ และรัฐบาลไทยอนุมัติ ให้การบินไทยซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 8 ลำนั้น บันทึกภายในที่ส่งถึงพนักงานระดับสูงของโรลส์-รอยซ์ ในเดือนเดียวกันนี้ ระบุว่า บริษัทยังต้องจ่ายเงินอีก 4.75 ล้านดอลลาร์ ให้นายหน้า 3 และขอให้พนักงานระดับสูงอนุมัติการชำระเงินนี้ 

    บันทึกภายใน ยังระบุว่า “ขอให้มีการจ่ายเงินในทันทีที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากการให้คำมั่นถึงการจ่ายเงิน น่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงของไทย”

เปิดรายงานสอบสวน "สินบนโรลส์-รอยซ์" !!

    การตรวจสอบยังพบว่า ระหว่างวันที่ 22 มิ.ย.2535-26 มิ.ย.2535 นายหน้าระดับภูมิภาค ได้ขอร้องให้จ่ายเงินเพิ่มให้ผู้ติดต่อของเขา ในเรื่องของการขายอะไหล่เครื่องยนต์ ที่ขายให้การบินไทย พร้อมกับเครื่องยนต์ที่ติดตั้งไปกับเครื่องบิน

    “นายหน้าระดับภูมิภาค รู้สึกร้อนใจ เนื่องจากนายทหารระดับสูงในกองทัพอากาศไทย ขู่ที่จะลาออกจากตำแหน่ง และโรลส์-รอยซ์ก็จะย่ำแย่ลงหากสูญเสียการสนับสนุนของเขาในไทย”

    โรลส์-รอยซ์ รับมือกับเรื่องนี้ด้วยการทำหนังสือขยายความตามสัญญา โดยย้ำว่า “เมื่อพิจารณาจากความพยายามเป็นพิเศษต่อการขายเครื่องยนต์เทรนต์ของโรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 8 ลำ และอะไหล่เครื่องยนต์ให้การบินไทย เราพร้อมที่จะจ่ายค่านายหน้าเพิ่มเติม”

    ส่วนการติดสินบนอีก 2 ครั้ง นั้น เอสเอฟโอ พบว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินไป 10.38 ล้านดอลลาร์ และ 7.2 ล้านดอลลาร์ ให้บรรดานายหน้าของตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่จะให้นำไปจัดสรรให้เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานต่างๆ พนักงานการบินไทย และบุคคลอื่นๆ ที่จะช่วยให้การบินไทยตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์เครื่องบิน ที800 ของบริษัทอีกทั้ง 2 ครั้ง

    ในเดือน มี.ค.2535 เมื่อโรลส์-รอยซ์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับคำสั่งซื้อครั้งที่ 2 ของการบินไทย พนักงานของโรลส์-รอยซ์ ตกลงให้ “ค่าธรรมเนียมความสำเร็จ” แก่นายหน้า 3 จำนวน 135 ล้านบาท (ราว 5.29 ล้านดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) เพื่อให้การบินไทยสั่งซื้อเครื่องบินโบอิง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ ที800 เพิ่ม และตกลงอย่างเป็นทางการ ผ่านหนังสือขยายความตามสัญญา ในข้อตกลงที่ทำกับนายหน้า 3

เปิดรายงานสอบสวน "สินบนโรลส์-รอยซ์" !!

   ในครั้งนี้ พนักงานระดับสูงของโรลส์-รอยซ์ ได้มีจดหมายถึงนายหน้า 3 เน้นว่า “เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ที่เราได้รู้ว่าเงินทุนเหล่านี้ถูกนำไปที่ใดบ้าง แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่สุดที่จะจัดการเรื่องนี้กันทางวาจาเท่านั้น”

    ในวันที่ 30 ต.ค.2538 บันทึกภายในได้ขอคำตัดสินใจว่า ควรจะจ่ายเงินที่กำหนดไว้ตายตัวที่ 1 ล้านดอลลาร์ ต่อเครื่องบิน 1 ลำ ภายใน 7 วัน หลังจากการบินไทยสั่งซื้อเครื่องบิน แทนที่จะเป็น 30 วันตามที่เคยตกลงกันไว้หรือไม่ โดยบอกว่า

    “เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย” กำลังรอที่จะอนุมัติคำสั่ง “ซื้อ” เครื่องบินโบอิง แต่ก่อนที่จะมีการอนุมัติออกมา ต้องการพยานหลักฐานจากโรลส์-รอยซ์ ว่าเขากำลังจะได้รับเงิน ผ่านทางนายหน้า 3 ภายในเวลา 7 วัน"

    รายงานยังกล่าวถึงบันทึกภายในของโรลส์-รอยซ์ ที่ระบุถึง พนักงานการบินไทย “คนเดิม” ได้ขอให้พนักงานระดับสูงของโรลส์-รอยซ์ “ปล่อยเงิน” จำนวน 1 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ และว่า ควรต้องชำระในทันที

    “เพื่อที่การบินไทย จะได้นำเงินจำนวนนี้ไปในบริหารจัดการกระบวนการทางการเมือง”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ