ข่าว

“ยิ่งลักษณ์” ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งต่อศาลฯคดีจำนำข้าว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ยิ่งลักษณ์” เผย ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองคดีจำนำข้าวแล้ว ยํ้า หนุน ปรองดอง แต่ต้องเป็นกลาง-เป็นธรรมด้วย แนะ เชิญนักวิชาการร่วม

 

          20 ม.ค.60 - เมื่อเวลา 08.45 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนายความ เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อสืบพยานฝ่ายจำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าว โดยมีอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.พาณิชย์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ  และนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย

          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นศาลถึงการยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งต่อศาลปกครองกรณีชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า ได้ยื่นไปแล้ว ส่วนรายละเอียดจะชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยื่น  
          น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ด้วยว่า เรื่องปรองดองส่วนตัวพร้อมให้การสนับสนุนทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ที่สำคัญคือ หลักของการปรองดองต้องยึดหลักของความเป็นกลาง เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย หรือหลักนิติธรรมที่เป็นสากล ต้องทำทุกอย่างให้เป็นธรรมกับทุกคนแล้วทุกอย่างจะสงบสุขและก้าวต่อไปได้ ส่วนคณะที่ตั้งขึ้นมามีแต่ทหารนั้น หวังว่าภาครัฐหรือฝ่ายทหารจะทำตัวเป็นผู้ประสานงาน ไม่เป็นคู่ขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ อยากให้เชิญผู้ที่มีความเป็นกลางโดยเฉพาะนักวิชาการหรือผู้ที่สังคมให้การยอมรับเข้ามาแลกเปลี่ยนให้ความรู้เพื่อให้เกิดการยอมรับด้วย  
          ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในการสร้างความปรองดองหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่ามองที่ปลายทาง อยากให้มองตั้งแต่ต้นทางก่อนว่า คำว่าปรองดองต้องเป็นนิยามที่ทุกคนยอมรับ และเป็นนิยามที่ทุกคนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม เป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติกับทุกฝ่าย ซึ่งเมื่อได้นิยามตรงนี้แล้วค่อยไปดูว่าขั้นตอนต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนมองอย่างไรหากการปรองดองทำให้โรดแมปต้องขยับออกไปนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คงเร็วไปที่จะพูดคำนี้ เพราะว่าจริงๆ แล้วหลายอย่างก็ทำควบคู่กันไปได้ แต่อย่างน้อยขอให้มีจุดเริ่มต้นที่ดี

          ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การร่วมมือสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันอำนวยให้เกิดขึ้น เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากอุปสรรคที่เป็นตัวถ่วงประเทศของเรามายาวนาน แต่การที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ประสบความสำเร็จ และปัญหาความปรองดองจะคลี่คลายลง คงไม่ใช่แค่ให้พรรคการเมืองมาพบกันและจัดทำเอ็มโอยูตามที่บางท่านต้องการ ปัญหาความไม่ปรองดอง ไม่ใช่เกิดจากเฉพาะพรรคการเมืองเพียงฝ่ายเดียว แต่เกี่ยวพันกับคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย หลายองค์กร เกี่ยวพันกับปัญหาประเทศเชิงโครงสร้างในหลายๆ ส่วน รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น

          “หัวใจสำคัญของการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นนั้น จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหา ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง ฝ่ายกลุ่มการเมืองต่างๆ ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน รวมถึงฝ่ายและองค์อื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น จึงจำเป็นต้องร่วมกันหารือ ช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ปัญหาดังกล่าวจึงจะสามารถแก้ไขคลี่คลายลงไปได้” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุ

          นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ ควรคำนึงถึงความเข้าใจในความหมายของการปรองดอง ที่เป็นหลักการที่โลกยึดถือ และบทเรียนที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายแห่งในโลกนั้น ความหมายที่แต่ละฝ่ายยึดถือและเข้าใจในเรื่องความปรองดองนั้นตรงกัน จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาได้

          สำหรับพรรคเพื่อไทย เข้าใจว่าการปรองดองหมายถึง “การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรม บนพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังนั้นการจะสร้างความปรองดองได้ คือ การอำนวยให้เกิดความยุติธรรม และการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างที่แต่ละฝ่ายมี ขณะที่ควรจะต้องให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ที่ชัดเจน ถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง ในส่วนนี้ คอป. และสถาบันพระปกเกล้า ได้เคยศึกษาไว้อย่างละเอียดครอบคลุมแล้ว สมควรที่จะหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กันไป การแก้ไขปัญหาจึงจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควรจะต้องทราบว่ามีผู้ใด องค์กรใด หรือหน่วยงานใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และแสวงหาความร่วมมือจากส่วนต่างๆ เหล่านี้ให้เข้ามาหาทางแก้ไขปัญหา ออกจากความขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของสังคมไทย มิฉะนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด และเป็นการลงแรงที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะอาจวิเคราะห์ปัญหาคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้  

          นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องการปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรม และสังคมให้การยอมรับ จึงขอนำเสนอหลักยึดที่พรรคเพื่อไทย ถือเป็นแนวในการแก้ไขเรื่องการปรองดองในอดีตที่ผ่านมา เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา การคิดแก้ไขปัญหาความปรองดอง จึงจะเกิดเป็นจริงได้อย่างที่เราทุกคนคาดหวัง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้หารือร่วมกันอยากเห็นความสงบสันติ และการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย โดยมอบหมาย นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นผู้ดำเนินการติดตามเรื่องนี้ และรายงานให้ที่ประชุมรับทราบต่อไป.

  

 

 



 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ