ข่าว

"กกต.จังหวัด-ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ตอบโจทย์” : คณิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มือกฎหมายพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของ กรธ.

 

           นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการที่จะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับเบื้องต้นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ถ้ามองในแง่อำนาจหน้าที่ของกกต. ตามหลักสากล ที่มุ่งให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจ มีความสะดวกปลอดภัยและมีความอิสระในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ถือว่าทั้ง กกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้งล้วนไม่ตอบโจทย์ทั้งสิ้น เหตุเพราะทั้ง กกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้งล้วนถูกวางตัวให้มุ่งแต่การจับผิดเรื่องทุจริตเลือกตั้งเป็นสำคัญ จนทำให้เป้าหมายอย่างอื่นที่สำคัญกว่าเป็นต้นว่าการเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนความเป็นอิสระและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และอื่นๆ ถูกมองข้ามไป

           นายคณิน กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้ต้องการ ให้มีกกต.จังหวัด แต่เป็นเพราะกกต.กลาง อยากมีอาณาจักรหรือบริวารของตนเองเหมือนเป็นกระทรวงๆ หนึ่ง กกต.จังหวัด ก็เลยกลายเป็นผู้มีอิทธิพลขึ้นมาทันทีที่มีการเลือกตั้ง ยิ่งตอนหลังตั้งข้าราชการประจําเป็น กกต.จังหวัดได้ ก็เลยวิ่งเต้นกันใหญ่ เพราะจะได้มีอำนาจต่อรองเหนือนักการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ปัญหาก็คือ ถ้าในพื้นที่มีหลักฐานการทุจริตและ กกต.จังหวัด ไม่ส่งหลักฐานอะไรมาที่ กกต.ส่วนกลางเลย แล้วกกต.กลาง จะรู้ได้อย่างไรว่ามีทุจริต หรือไม่ทุจริต เพราะในความเป็นจริงถึงแม้จะมีการทุจริตแต่ในพื้นที่ได้จัดการ ฮั้ว กันเรียบร้อยแล้ว

          ทั้งนี้กกต.ส่วนกลางจะรู้หรือไม่ว่าปัญหาเช่นนี้ถึงแม้ กรธ. จะเปลี่ยนจากกกต.จังหวัด มาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดก็แก้ไขไม่ได้เพราะตีโจทย์ผิดตั้งแต่ต้น ยิ่งไปเพิ่มจำนวน กกต.กลาง เป็น 7 คน ก็ยิ่งพากัน เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ในบางประเทศเขามี กกต.เพียงคนเดียว ดูแลจากการเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งนับสิบนับร้อยล้านคน เขาถึงทำได้เรียบร้อยและผลก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ที่เขาทำอย่างนั้นได้ก็เพราะเขาไม่ได้คิดว่า กกต. เป็นศาล เป็นตำรวจ แล้วมองว่านักการเมืองเป็นอาชญากร และประชาชนเป็นคนโง่เห็นแก่เงินเหมือนอย่างบ้านเรา 

            นอกจากนี้กกต.ประเทศเขาก็ไม่ได้มีข้าราชการประจำเป็นพันคนเหมือนบ้านเราพอถึงเวลาเลือกตั้งเขาก็สั่งให้ข้าราชการทั้งประเทศนั่นแหละช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาแทน กกต. และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ กกต.จังหวัดหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลย มันก็เลยกลายเป็นมหกรรมการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่มีแต่ กกต.ส่วนกลาง และกกตจังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เหมือนอย่างที่ กรธ.ออกแบบแต่อย่างใด

            นายคณิน กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดย กรธ. ชุดเดียวกันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปลี่ยนถ้อยคำจากคำว่า อำนาจหน้าที่ ซึ่งใช้กันมาตลอดทั้งในรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายและในระบบราชการไทย มาเป็น หน้าที่และอำนาจ ก็ไม่ทราบว่ามีเจตนาหรือมีความหมายอย่างไร แต่ที่แน่คือเมื่อได้ตรวจสอบหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นได้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะมี อำนาจ ล้นเหลือและมากกว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 เช่น อำนาจออกคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1ปี ซึ่งเป็นโทษที่แรงกว่าการให้ใบเหลือง เป็นต้น     

              อย่างไรก็ตามในขณะที่เมื่อดูในส่วนของ หน้าที่ จะเห็นว่า กกต. เกือบจะไม่ต้องทำหรือรับผิดชอบอะไรเลย ในกรณีที่จะต้องเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นมีแต่ท่องคาถาว่า อย่าซื้อสิทธิขายเสียง และจ้องจับผิดประชาชนแค่อย่างเดียว หรืออย่างในกรณีที่จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถูกต้องและพร้อมสำหรับการตรวจสอบและแก้ไขได้ตลอดเวลาก็เกิดปัญหาความยุ่งยากสับสนเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกครั้ง 

            "กรณีที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งนอกภูมิลำเนาในวันเดียวกันทั่วประเทศ ก็ไม่เคยทำได้ แต่กลับไปใช้วิธีให้เลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งยิ่งสร้างปัญหายุ่งยากสับสนและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งและโกงคะแนนเสียงกันมากยิ่งขึ้น" นายคณิน กล่าว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ