ข่าว

“ศาลปกครองฯ”พิพากษา“ให้ภาคปชช.ชนะคดีสร้างเขื่อนแม่วงก์

“ศาลปกครองฯ”พิพากษา“ให้ภาคปชช.ชนะคดีสร้างเขื่อนแม่วงก์

24 พ.ย. 2559

ศาลปกครองกลาง พิพากษา“สมาคมต้านโลกร้อน-ชาวบ้าน”ชนะคดีสร้างเขื่อนแม่วงก์ สั่งรัฐทำกระบวนประเมินสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ EHIA ให้ครบขั้นตอน รวมกระบวนฟังความเห็นปชช.ก่อน

 

          24 พ.ย. 59 - นางอังคณา เสาธงทองตุลาการศาลปกครอง เจ้าของสำนวนคดีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และองค์คณะ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ส.490/2555 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยานายกสมาคมฯ และชาวบ้าน รวม 151 คน ร่วมกันยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี , คณะรัฐมนตรี , อธิบดีกรมชลประทาน และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          โดยคำฟ้องของผู้ฟ้องทั้ง 151 คน ระบุว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1- 4 ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งนายกฯ และ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ได้ให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 โดยไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติในเรื่องของการที่จะต้องศึกษา หรือประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนการดำเนินโครงการ ผู้ฟ้องจึงขอให้ 1.ศาลเพิกถอนมติ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 เกี่ยวกับการเห็นชอบการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในส่วนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

          2.ให้ผู้ถูกฟ้องร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ โดยการจัดทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 165

          และ 3. ให้ผู้ถูกฟ้องปฏิบัติหรือดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 57 , 58 , 67 , 85 , 87 ในเรื่องการมีสิทธิส่วนร่วมกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ครบถ้วนเสียก่อนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานการก่อสร้างเขื่อน

          ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้ว เห็นว่า ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติเห็นชอบในหลักการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ แล้วนำเสนอ คณะกรรมการบริหารน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พิจารณาตามขั้นตอนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 โดยให้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมของโครงการคู่ขนานกันไป ดังนั้นมติดังกล่าวของ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง โดยการที่ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จะมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้ ก็ต่อเมื่อโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชนในชุมชน (EHIA) ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง

          โดยผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก). และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล) แล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันโครงการเขื่อนแม่วงก์ ยังอยู่ในขั้นตอนของ คชก. พิจารณารายงานการ EHIA ซึ่งยังไม่ปรากฏว่า คชก. จะเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ดังกล่าวหรือไม่ หรืออธิบดีกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องที่ 3 จะต้องปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมต่อ คชก. อีกหรือไม่ ประการใด ดังนั้นต้องถือว่า มติ ของ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 จึงเป็นเพียงขั้นตอนเตรียมการเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติให้เปิดดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์เท่านั้น

          อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ปัจจุบัน อธิบดีกรมชลประทาน ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ยังไม่ได้เสนอเรื่องขออนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ต่อ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังไม่มีกรณีที่จะต้องเพิกถอนมติดังกล่าว

          ส่วนประเด็นที่ นายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการโดยการจัดทำประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 หรือไม่นั้น

          ศาลเห็นว่า การจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้ถูกกำหนดอยู่ในหมวดที่ 7 ของรัฐธรรมนูญฯ อันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยรายละเอียดของการลงประชามติ ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วย การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 165 ก็ได้กำหนดให้ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ แต่ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ประกอบกับโครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นประเภทโครงการที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อนมีการดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาดและวิธีปฏิบัติ

          สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 67 วรรคสอง ดังนั้นย่อมเห็นได้ว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นประเภทโครงการที่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงไม่ใช่โครงการที่ต้องให้จัดทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 165 ตามที่ผู้ฟ้องมีคำขอท้ายคำฟ้อง ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่ นายกฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 จะต้องจัดทำประชามติโครงการเขื่อนแม่วงก์ตามรัฐธรรมนูญฯ

          สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4 ต้องปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 57 , 58 , 67 , 85 , 87 ต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ครบถ้วนเสียก่อนจะดำเนินโครงการเกี่ยวกับแผนงานการก่อสร้างเขื่อนหรือไม่

          ศาลเห็นว่า อธิบดีกรมชลประทาน และ รมว.เกษตรฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3-4 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองแล้ว แต่ขั้นตอนนั้นยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เนื่องจากหากรายงานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพEHIAผ่านความเห็นชอบของ คชก. และ กก.วล. แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์กรอิสระ พิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อน ที่จะเสนอ ครม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2 อนุมัติต่อไป

          แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง ของอธิบดีกรมชลประทานผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้ดำเนินการจัดส่งรายงานEHIAเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอต่อ คชก. และ กก.วล.แล้วก็ตาม แต่รายงาน EHIA ยังคงอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของ คชก. ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ ได้ว่ารายงานEHIAจะผ่านความเห็นชอบของ คชก. และ กก.วล. หรือไม่

          นอกจากนี้ ยังคงมีขั้นตอนที่ต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์การอิสระ พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอ ครม.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาอนุมัติต่อไปอีก กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4 ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67วรรคสอง ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

          ศาลปกครองกลาง จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 4 ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 67 วรรคสอง ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

     ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ก่อนสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า โดยให้ คำสั่งของศาลปกครองนั้นถือได้ว่าเป็นชัยชนะของประชาชน และเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ร่วมลงชื่อฟ้องร้องคดี ถือได้ว่าศาลปกครองมีคำสั่งชัดเจนว่า ทางคณะรัฐมนตรีอธิบดีกรมชลประทานและรมว.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้ดำเนินการตาม มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งแม้ว่าจะถูกยกเลิกใช้ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ในมาตรา 4 ยังคงยืนยันในสิทธิ์ของประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่ ดังนั้นทางผู้ดำเนินการ จะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ในการสร้างเขื่อน กล่าวคือต้องไปทำการศึกษา ข้อมูลโครงการที่ต้องจัดทำรายรายงานEHIAและจัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นชาวบ้านให้เรียบร้อยครบถ้วนเสียก่อน

          นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ทางเราจะรอดูต่อไปว่าทางผู้ถูกฟ้องคดีจะอุทธรณ์ต่อหรือไม่ซึ่งเขามีสิทธิ์นี้ภายใน30วันซึ่งเราก็พร้อมที่จะสู้ต่อไปเพราะเรามีทั้งข้อเท็จจริงและหลักฐานไม่กลัวและไม่หวั่นใจว่าคำพิพากษาจะเปลี่ยนไปจากเดิมเพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้วอีกทั้งเมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาต่างๆที่ยึดถือกันมาก็หนีไปไม่พ้นจากคำพิพากษานี้อยู่แล้วเมื่อถามว่ามั่นใจใช่หรือว่าว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สำเร็จนายศรีสุวรรณกล่าวว่าตนมั่นใจเช่นนั้นและตนเชื่อว่าชาวบ้านและเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์จะไม่ยอมให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้อย่างแน่นอนและถือว่ากรณีเขื่อนแม่วงก์จะเป็นโมเดลและสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้ของชาวบ้านต่อโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อพวกเขา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลปกครองกลางนี้ยังไม่ถือเป็นสุด โดยคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์โต้แย้งต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

          ทั้งนี้ สำหรับ บทบัญญัติ รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง ระบุว่าการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว